หนี้ “ธุรกิจ-ครัวเรือน” เสี่ยงดอกเบี้ยสูงนาน-ขึ้นขั้นต่ำจ่ายรูดปรื๊ด

หนี้ธุรกิจ-ครัวเรือน

ปีที่ผ่านมา ครัวเรือนและภาคธุรกิจต้องเผชิญกับภาวะอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่มองไปข้างหน้าในปี 2567 นี้ หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า อัตราดอกเบี้ยจะยังคงค้างอยู่ระดับสูงไปทั้งปี

ดอกเบี้ยสูงนานจับตาเบี้ยวหนี้พุ่ง

“ดร.อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า แม้ว่าทิศทางดอกเบี้ยจะหยุดขึ้นแล้ว แต่ในภาวะดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ในระดับสูงนาน เป็นความเสี่ยงต่อภาคธุรกิจและครัวเรือน

โดยเฉพาะเอสเอ็มอี และภาคบริการที่อิงกับภาคเกษตร ที่ยอดคำสั่งซื้อลดลง แต่ต้นทุนการเงินปรับขึ้นไปก่อนหน้า รวมถึงกลุ่มเปราะบาง มีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น

โดยเฉพาะกลุ่มกำลังซื้อระดับกลางและล่าง เริ่มมีปัญหา สะท้อนจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ตลอดจนกลุ่มที่มีการก่อหนี้สูง เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่จะเกิดขึ้นในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางมากกว่าขนาดใหญ่

“ดอกเบี้ยน่าจะหยุดขึ้นแล้ว แต่จากดอกเบี้ยที่ค้างในระดับสูงนาน ทำให้ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ได้ แม้ว่าธนาคารจะมีการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ แต่ยังคงมีกลุ่มเปราะบางที่เริ่มเห็นสัญญาณสินเชื่อที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) มากขึ้น และเริ่มเห็นกลุ่มกำลังซื้อระดับกลาง มีปัญหามากขึ้น

ดังนั้นมองว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 อาจจะต้องเหนื่อยและทนก่อน หวังว่าครึ่งปีหลังภาคส่งออกและท่องเที่ยวจะเข้ามาสนับสนุนการเติบโตได้ดีขึ้น”

ชี้ กนง.มีโอกาสหั่นดอกเบี้ย

“ดร.อมรเทพ” กล่าวว่า ตนมองว่า ในปี 2567 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง จากปัจจุบัน 2.50% มาอยู่ที่ 2.00% ต่อปี ภายในไตรมาสที่ 3 หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มปรับดอกเบี้ยลง และ ผ่อนคลายนโยบายการเงินของทั่วโลก และภายใต้สมมุติฐานว่าไม่มีนโยบายดิจิทัลวอลเลต

โดยปัจจัยสนับสนุนการปรับลดดอกเบี้ยมี 3 ปัจจัย คือ 1.เศรษฐกิจที่โตช้าและโตต่ำ โดยคาดว่าปีนี้ GDP จะโตที่ 3.1% (ไม่รวมดิจิทัลวอลเลต) แม้ว่าส่งออกและท่องเที่ยวสนับสนุน แต่กำลังซื้อระดับล่างมีปัญหา 2.อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและคาดว่าจะต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย 1-3%

โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีแรก และ 3.ตลาดการเงินยังมีปัญหาหนี้เสีย (NPL) และ SMยังปรับเพิ่มขึ้น สะท้อนความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ได้ทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน

ลูกหนี้ 70% แบกค่างวดเพิ่ม

“ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล” รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ปีนี้ คาดว่า กนง.จะไม่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อ และดอกเบี้ยอาจอยู่ในช่วงขาลง ดังนั้น สถาบันการเงินคงไม่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้แล้ว แต่อาจจะปรับขึ้นเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษ

อย่างไรก็ดี ดอกเบี้ยที่คงอยู่ในระดับ 2.50% ต่อปี ยอมรับว่าอาจจะมีผลต่อลูกหนี้บางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อที่อ้างอิงดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate)เช่น สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อที่อยู่อาศัยบางส่วนที่พ้นช่วงอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้นทุนดอกเบี้ยของภาคธุรกิจ จะคิดเป็นค่าเฉลี่ยประมาณ 5% ของต้นทุนทั้งหมด ถือว่ายังเป็นส่วนน้อย แต่ก็ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อที่มีการอ้างอิงดอกเบี้ยลอยตัว จะอยู่ที่ 60-70% ของยอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมด และที่เหลืออีก 20-30% จะเป็น Fixed Rate เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และนาโนไฟแนนซ์จะไม่กระทบ เนื่องจากมีเพดานดอกเบี้ยกำหนดไว้อยู่แล้ว

“ในส่วนสินเชื่อบ้าน แม้ว่าแบงก์จะมีการคำนวณดอกเบี้ย Buffer เผื่อไว้แล้ว แต่ที่ผ่านมา ดอกเบี้ยขึ้นเกินสัญญาเดิมไปแล้ว ทำให้ค่างวดปรับเพิ่มขึ้น กลุ่มนี้แบงก์น่าจะทยอยปรับไปแล้ว และลูกค้าที่ไม่ไหว น่าจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ ยืดอายุการชำระหนี้แล้ว ส่วนภาคธุรกิจก็ต้องมาดูผลกระทบเป็นรายอุตสาหกรรม แต่โดยเฉลี่ยต้นทุนดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 5% ของต้นทุนทั้งหมด ที่เหลือจะเป็นต้นทุนค่าแรง วัตถุดิบ และค่าเช่าสถานที่”

ปรับขึ้นขั้นต่ำจ่ายหนี้บัตร

ขณะที่ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศปรับมาตรการปรับชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต (Minimum Payment) จาก 5% เป็น 8% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป โดยที่ผ่านมา ธปท.ได้สื่อสารไปยังผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต 12 ราย เพื่อให้สื่อสารไปยังลูกค้า รวมถึงให้เตรียมมาตรการช่วยเหลือลูกค้าในการเปลี่ยนวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิตเป็นสินเชื่อแบบมีระยะเวลา (Term Loan) และคิดอัตราดอกเบี้ย 16% ต่อปี กรณีที่ลูกค้าไม่สามารถชำระได้

“อธิศ รุจิวัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการบัตรเซ็นทรัล เดอะวัน (GCS) และในฐานะประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต สมาคมธนาคารไทย ระบุว่า การปรับมาตรการน่าจะมีผลกระทบค่อนข้างมาก แต่ยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจน อาจจะต้องรอดูสถานการณ์ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า

ด้าน “ฐากร ปิยะพันธ์” ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) ระบุว่า คาดว่าจะมีลูกค้าได้รับผลกระทบประมาณ 5% ของฐานลูกค้าบัตรเครดิต 8 แสนใบ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ชำระขั้นต่ำ อาจจะมีบางส่วนที่ชำระไม่ไหว แต่ก็มีบางส่วนที่ยังสามารถชำระได้

อย่างไรก็ดี ธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าไว้รองรับอยู่แล้ว