ลดดอกเบี้ยอุ้ม “SMEs – รายย่อย” กระทบหุ้นแบงก์แค่ไหน ?

ราคาหุ้นและกำไรธุรกิจธนาคารพาณิชย์จะโดนผลกระทบมากน้อยแค่ไหน และแบงก์ไหนจะโดนผลกระทบหนักสุด หลังจากปรับลดดอกเบี้ยช่วยเหลือลูกหนี้เฉพาะกลุ่ม ทั้งเอสเอ็มอีและรายย่อย

วันนี้ Prachachat Wealth เล่าเรื่องการลงทุน ได้เชิญคุณธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด มาวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ลดดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% ผลกระทบแบงก์ ?

เราต้องดูโครงสร้างตัวสินเชื่อลูกหนี้ในประเทศไทย จะพบว่าประมาณ 44% เป็นลูกหนี้บริษัทขนาดใหญ่ เอสเอ็มอีประมาณ 21% ที่เหลือประมาณ 35% เป็นลูกหนี้รายย่อย ฉะนั้นประเด็นนี้ ลูกหนี้รายใหญ่ไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะว่าสถานะการเงินเข้มแข็ง

กลุ่มลูกหนี้รายย่อย ถ้าเรามองว่าเป็นกลุ่มที่เป็นประเด็น อาจจะเป็นประเด็นเรื่องของกลุ่ม “สินเชื่อบ้าน” ซึ่งสินเชื่อบ้านคิดเป็น 15% ของสินเชื่อรวม

พวก Small SMEs ที่เปราะบางก็อาจจะจัดรวมอยู่ในพวกกลุ่มสินเชื่อรายย่อยด้วยก็ได้ ฉะนั้นจริง ๆ แล้ว impact (ผลกระทบ) อาจจะมีสัดส่วนประมาณ 15% ถึงประมาณไม่เกิน 30% ของสินเชื่อที่อาจจะต้องมีการดูแลช่วยเหลือ ก็เป็นแค่ประมาณไม่เกิน 1 ใน 3

Advertisment

ฉะนั้นผลกระทบก็อาจไม่เกิน 5 basis point ที่จะกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของธนาคารพาณิชย์ที่เกิดขึ้น แต่ว่าจะกระทบใคร ก็อยู่ที่ว่าถ้าใครมีพอร์ตสินเชื่อบ้านเยอะ ก็อาจจะกระทบมาก ถ้าใครสินเชื่อบ้านน้อยก็อาจจะกระทบน้อย

SCB-KTB-KBANK ผลกระทบมากสุด

กลุ่มที่ได้รับการปรับลดดอกเบี้ยเป็นกลุ่ม MRR (MRR Rate คือ สินเชื่อบ้าน) ถ้าสินเชื่อบ้าน ก็อาจจะมองว่า SCB จะมี Exposure ของตัวสินเชื่อบ้านสูงสุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ก็อาจจะมี impact มากกว่าเพื่อน ๆ อยู่บ้าง

รองลงมาอาจจะเป็น KTB และตามมาอาจจะเป็น KBANK จึงเป็น 3 แบงก์ที่อาจจะมีผลกระทบเยอะหน่อย แต่ถามว่าเยอะมากมายมั้ย ผมคิดว่าไม่ได้มากมายอะไร เพราะผมคิดว่า ประเด็นที่เรามอง เรามองว่าจำกัดเฉพาะกลุ่ม ฉะนั้นผลกระทบก็จะมีบ้าง และแบงก์เองมีวิธีในการจัดการได้ และก็ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง สมมุติว่าเรามองว่ามีการปรับลดดอกเบี้ยลง ในด้านบวก ก็อาจจะไปกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อก็ได้ในไตรมาสถัดไป

และก็อาจจะเป็นการทำให้มองเรื่องของ Credit Quality ดีขึ้น แบงก์อาจจะมีการปรับลดสำรองลงได้ตามเหตุและผล แต่แน่นอนผลที่เกิดขึ้นคงจะต้อง Overhang กลุ่มแบงก์ เพราะสังเกตว่า ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ก็มีการปรับฐานลงบ้างเล็กน้อย เพราะว่ากังวลว่าเป็นการเข้ามาแทรกแซง ตรงนี้ก็อาจจะ Overhang ได้

Advertisment

Q1 กำไร 11 แบงก์ 6.3 หมื่นล้าน

11 แบงก์ งบฯไตรมาส 1/2567 กำไรสุทธิออกมาประมาณ 6.3 หมื่นล้านบาท เติบโต 26% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) และเติบโต 5% จากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) ถ้า YOY เป็นผลมาจากตัวรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เติบโต เป็นผลจากสินเชื่อเติบโตประมาณ 1.5% และก็ตัวมาร์จิ้นก็ปรับเพิ่มขึ้นมาประมาณ 34 basis point ก็เป็นเรื่องหลักที่ทำให้กำไรเติบโต YOY

การเติบโต QOQ คือ 1. มาจากสำรองหนี้ปรับลดลงค่อนข้างมาก ประมาณ 18% เพราะว่าไตรมาส 4/2566 บางแบงก์มีการตั้งสำรองพิเศษเข้าไปในเคสกรณีของบริษัทรับเหมาก่อสร้างบริษัทหนึ่ง และก็เรื่องของ TTB มีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (Tax incentive) ก็เลยทำให้ในส่วนของตัวรายได้สูง ก็เลยไปตั้งสำรองพิเศษ

รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจาก ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น และก็มีกำไรจากเครื่องมือทางการเงินสูงขึ้น และก็ประเด็นที่สามเป็นประเด็นเรื่องของ Seasonality คือค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานจะสูงสุดในไตรมาส 4 พอเข้าสู่ไตรมาส 1 QOQ ดรอปลง ก็เลยทำให้กำไร QOQ ปรับตัวค่อนข้างดี แม้ว่าอาจจะเริ่มแล้วว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวลดลง

กำไรแบงก์ Q2 ทรงตัว

“เรา Factor-in ที่คิดว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงอยู่แล้ว ฉะนั้นก็เลยมองว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นจากกรณีท่านนายก กับ 4 แบงก์ ผลกระทบไม่ได้มีนัยสำคัญอะไร เชื่อว่าตัวเลขอาจจะลดลงมาบ้าง อยู่ประมาณ 61,000 ล้านบาท หรือ 63,000 ล้านบาท ถ้าดูแล้วก็ออกในโทนที่ค่อนข้างจะทรง ๆ เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปีนี้ และไตรมาส 2 ปีที่ผ่านมา”