
ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 1 ธ.ค. 2566 เวลา 10.35 น.
เปิดวิธีลงทะเบียนขอความช่วยเหลือแก้หนี้นอกระบบ กระทรวงมหาดไทย เริ่มแล้ววันนี้ (1 ธ.ค. 2566) ทำได้ผ่านช่องทางไหนบ้าง มีขั้นตอนอย่างไร
ปัญหาหนี้นอกระบบ หนึ่งในปัญหาที่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ต้องการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ต่อยอดจากนโยบายการจัดระเบียบสังคมและปราบปรามผู้มีอิทธิพลให้ครอบคลุมประเด็นปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมากยิ่งขึ้น
และล่าสุด นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และเปิดระบบรับลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือแก้หนี้นอกระบบ โดยวันนี้ (1 ธันวาคม 2566) เป็นวันแรกของการเปิดลงทะเบียน
“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมช่องทางการลงทะเบียนขอความช่วยเหลือหนี้นอกระบบ ของกระทรวงมหาดไทย ว่าทำได้ผ่านช่องทางไหนบ้าง
ลงทะเบียนออนไลน์
สำหรับการลงทะเบียนขอความช่วยเหลือเรื่องหนี้นอกระบบ สามารถลงทะเบียนได้ด้วยตนเองทางออนไลน์ ที่เว็บไซต์ https://debt.dopa.go.th
ขั้นตอนการลงทะเบียนออนไลน์
- ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ThaID ติดตั้งบนสมาร์ทโฟน ตามขั้นตอน
- ใช้แอปพลิเคชั่น ThaID สแกน QR Code เพื่อยืนยันตัวตนตามขั้นตอน
- เมื่อยืนยันตัวตนแล้วให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลตามแบบฟอร์มการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ
- กระทรวงมหาดไทยจะประสานงานท่านเพื่อดำเนินการไกล่เกลี่ยหนี้สินในลำดับถัดไป โดยสามารถตรวจสอบสถานะการลงทะเบียนได้ที่เมนู ตรวจสอบสถานะการลงทะเบียน
- กรณีไม่สามารถลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ให้ติดต่อที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการลงทะเบียนให้ได้
ขั้นตอนการยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนระบบแก้ไขปัญหาแก้หนี้นอกระบบ
- กดปุ่มเริ่มลงทะเบียน
- ยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการเพื่อทำการลงทะเบียน
- ใช้แอปพลิเคชั่น ThaID สแกน QR Code เพื่อยืนยันตัวตน
- กดปุ่มยินยอม
ลงทะเบียนที่อำเภอ-สำนักงานเขต
สำหรับกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้เองทางระบบออนไลน์ หรือสามารถเดินทางไปลงทะเบียนด้วยตนเอง สามารถลงทะเบียนขอความช่วยเหลือได้ผ่านช่องทางต่อไปนี้
- อยู่ในพื้นที่อำเภอให้ลงทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ
- อยู่ในกรุงเทพมหานคร ให้ลงทะเบียนที่สำนักงานเขตทุกแห่ง
- สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง
ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบได้ถึงวันไหน ?
การลงทะเบียนขอความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ สามารถทำได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567 โดยระบบลงทะเบียนออนไลน์จะเปิดให้บริการระหว่างเวลา 06.00-23.00 น. ของวันที่เปิดให้ลงทะเบียน
เตรียมมาตรการเฝ้าระวัง-ป้องกัน นายทุนเงินกู้นอกระบบ
นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยกำหนดมาตรการเฝ้าระวัง/ป้องกัน เกี่ยวกับนายทุนเงินกู้นอกระบบ ดังนี้
- โดยได้สั่งการให้อำเภอใช้กลไกการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งตามกฎหมายในการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ
- กำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) เฝ้าระวังสอดส่องบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์เป็นผู้กระทำความผิด เช่น นายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบ การทวงถามหนี้โดยการข่มขู่ ใช้ความรุนแรง แล้วรายงานศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้อง
- ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ในพื้นที่ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ได้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจ
- หากพบกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์เป็นนายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบ หรือการเรียกรับดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ให้ชุดปฏิบัติการพิเศษฝ่ายปกครองจังหวัดและชุดปฏิบัติการพิเศษฝ่ายปกครองอำเภอดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งประสานการปฏิบัติกับทุกหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการปราบปรามผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเป็นธรรม
แถลงใหญ่ สางหนี้นอกระบบ-ในระบบ
สำหรับการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบนั้น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะแถลงด้วยตนเองในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 โดยระบุว่าจะเป็นการแก้ไขหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการแก้ปัญหาหนี้ในระบบ ซึ่งนายเศรษฐาจะมีการแถลงข่าวการแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชนในวันที่ 12 ธันวาคม 2566 โดยจะแถลงครบทั้งแพ็กเกจในการแก้ไขหนี้ในระบบซึ่งถือเป็นหนี้ใหญ่