เปิด 14 มาตรการกำกับตลาดหุ้น บอร์ด ตลท. เพิ่มเกณฑ์ Uptick-Auction

ตลาดหลักทรัพย์

เปิด 14 มาตรการกำกับตลาดหุ้น บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ เพิ่มเกณฑ์ Uptick ขายชอร์ตทุกหลักทรัพย์ เกณฑ์ Auction คุมหุ้นร้อนแรง

วันที่ 25 เมษายน 2567 นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ในฐานะโฆษก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท​.) เปิดเผยว่า ในช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ได้ดำเนินการจัดทำ Focus group และเปิดรับฟังความคิดเห็น (Public hearing) เกี่ยวกับการยกระดับมาตรการกำกับดูแลตลาดหุ้นเพื่อยกระดับความเชื่อมั่น

โดยทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์สมาชิก (บล.) สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ จนนำมาสู่ข้อสรุปของมาตรการกำกับดูแลในครั้งนี้ ที่ได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (บอร์ด) ไปเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567

ซึ่งบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ ได้เห็นชอบแนวทางในรายละเอียดและหลักการเพิ่มเติมของ 4 มาตรการสำคัญ ประกอบด้วย

ขายชอร์ตทุกหลักทรัพย์ ใช้ราคา Uptick

  1. ให้ขายชอร์ตในทุกหลักทรัพย์ได้ ที่ราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Uptick) จากปัจจุบันให้ขายชอร์ตได้ที่ราคาเท่ากับหรือสูงกว่า (Zero-plus Tick) โดยจะมีผลบังคับใช้ช่วงปลายไตรมาส 2/2567

ยกตัวอย่าง หุ้น AOT-CPALL (ตารางด้านล่าง)

กรณี 1 ราคาซื้อขายล่าสุด (Last Trading Price) อยู่ที่ Bid แรก (ตารางซ้ายมือ)

ตามภาพคือราคา 64 บาท จะเห็นว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้ายตรงกับราคา Bid ไม่ใช่ราคา Offer เพราะฉะนั้นถ้าเกิดจะมีการส่งคำสั่งขายชอร์ตในกรณีนี้ ต้องใช้ราคา Offer แรกคือ 64.25 บาท

กรณี 2 ราคาซื้อขายล่าสุด (Last Trading Price) อยู่ที่ Offer แรก (ตารางขวามือ)

ตามภาพคือราคา 57.25 บาท ถ้าเกิดจะมีการส่งคำสั่งขายชอร์ตในกรณีนี้ กำหนดต้องเสนอในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Uptick) หนึ่งเลเวล นั่นหมายความว่าจะต้องส่งคำสั่งที่ราคา 57.50 บาท เหตุผลของมาตรการนี้ คือ ทำให้การขายชอร์ตทำได้ยากขึ้น

เพิ่มมาตรการ Auction คุมหุ้นร้อน Q3

2. เพิ่มมาตรการให้ซื้อขายด้วย Auction สำหรับหลักทรัพย์ที่เข้ามาตรการกำกับการซื้อขาย เลเวล 2 เพื่อใช้ควบคุมการกำกับดูแลหุ้นที่มีความผันผวนหรือการเคลื่อนไหวของราคาที่ผิดปกติ โดยมาตรการนี้จะทำงานดังนี้ (ดูตาราง)

  • เปิดจับคู่ซื้อขายวันละ 3 รอบ (Pre-open 1, Pre-open 2 และ Pre-close ก่อนปิดตลาดช่วงเย็น) โดยสุ่มเวลาจับคู่เหมือนหุ้นปกติ
  • ช่วง No-matching 1 และ No-matching 2 ไม่เปิดให้ส่ง Order แต่สามารถ update order และ  cancel order ได้

“ตลาดหลักทรัพย์เชื่อว่ามาตรการ Auction จะสามารถลดการที่หุ้นจะถูกดึงราคาขึ้นหรือดึงราคาลง หรือการเข้ามาสร้างราคา เพราะจะเห็นว่าระบบมีการควบคุมการ Matching แค่วันละ 3 ครั้ง” นายรองรักษ์ กล่าว

จากนี้ตลาดหลักทรัพย์จะไปดำเนินการแก้เกณฑ์ โดยถ้าเกิดเกณฑ์นี้มีผลใช้บังคับ หมายความว่าต่อไปหลักทรัพย์ที่เข้ามาตรการกำกับการซื้อขาย เลเวล 2 จะเพิ่มมาตรการให้ซื้อขายด้วย Auction และหลักทรัพย์ที่เข้ามาตรการกำกับการซื้อขาย เลเวล 3 เมื่อหยุดพักการซื้อขายชั่วคราวเป็นเวลา 1 วันไปแล้ว หลักทรัพย์นั้นจะยังติดเกณฑ์ซื้อขายด้วย Auction ไม่ได้เป็นระบบ Auto Matching

กำหนดเวลาขั้นต่ำยกเลิกออเดอร์

3. กำหนดเวลาขั้นต่ำของ Order ก่อนที่จะสามารถแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่ง (Minimum Resting Time) ไว้ที่ 0.250 วินาที (250 milliseconds) เพื่อป้องกันพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม กรณีส่งคำสั่งซื้อและส่งคำสั่งขาย และถอนออกเร็ว ๆ และกำหนดคำสั่งที่มีการแก้ไขหรือยกเลิกก่อนเวลาดังกล่าวจะถูกปฏิเสธ (Reject)โดยระบบทันที คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ช่วงไตรมาส 4/2567

บล.-นักเทรด HFT ต้องลงทะเบียน

และ 4. กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์สมาชิกและลูกค้าที่ใช้โปรแกรมเทรดดิ้งรูปแบบการส่งคำสั่งซื้อขายด้วยความถี่สูง (High Frequency Trading: HFT) และใช้ SET Colocation (ติดตั้งเครื่องเซิฟเวอร์ที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเชื่อมต่อส่งคำสั่งซื้อขาย) จะถูกกำกับดูแล โดยกำหนดต้องยื่นคำขอและไฟลิ่งข้อมูล (Register) ที่เกี่ยวข้องให้สามารถเห็นข้อมูลผู้ลงทุนในระดับ Sub-Account ของ Omnibus Account ทั้งนี้จะมีข้อตกลงว่าถ้ามีพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสมจะมีการระงับการซื้อขายผ่านช่องทางนี้ก็ได้ เบื้องต้นคาดว่ามาตรการนี้จะเริ่มบังคับใช้ช่วงปลายไตรมาส 2/2567

“กลุ่มนักลงทุนที่ใช้ HFT ซึ่งอาจจะมองเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมการซื้อขายไม่เหมาะสม มีการส่งคำสั่งซื้อขายเข้าเร็วออกเร็ว ดังนั้นเราจะเข้าไปดูพฤติกรรรมกลุ่มนี้มากขึ้น ซึ่งต้องลงทะเบียนเพื่อให้รู้ตัวตนได้”

บอร์ดกำชับเร่งพัฒนา Data Exchange

นายรองรักษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ ยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการมีมาตรการแก้ปัญหาจากกรณี บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) เรื่องการใช้หลักประกันเดียวกันไปเพิ่มวเงินในหลายบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งต้องเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์จึงจะเร่งดำเนินการร่วมกับ ASCO และสำนักงาน ก.ล.ต. ในการออกกฎเกณฑ์มารองรับ โดยจะจัดให้มี Data Exchange Platform ให้สมาชิก บล. ใช้เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลลูกค้า เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา “ให้-เพิ่ม-ลด” วงเงินของลูกค้า

รวมไปถึงแนะนำให้ติดตามและจัดให้มีการประเมินผลการดำเนินการตามมาตรการทั้งหมดเป็นระยะ เพื่อที่จะใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงหรือเพิ่มเติมมาตรการอื่นตามความเหมาะสมต่อไป

อัพเดตความคืบหน้า 10 มาตรการ

นายรองรักษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนแนวทางการกำกับเรื่องอื่น ๆ อีก 10 มาตรการ ประกอบด้วย 1. การทบทวนหลักทรัพย์ที่ชอร์ตเซลได้ กรณี Non-SET 100 ต้องมีขนาดมาร์เก็ตแคปมากกว่า 7,500 ล้านบาท (จากเดิม 5,000 ล้านบาท) นอกจากนี้ต้องมี Turnover เฉลี่ย 12 เดือน ที่ 2% (จากเดิมไม่กำหนด) โดยจะมีผลบังคับใช้ช่วงปลายไตรมาส 2/2567

2. การเพิ่ม Daily Short Selling Limit เนื่องจากมาตรการกำหนดปริมาณสูงสุดของการขายชอร์ตและยังไม่ได้ซื้อคืน (10% ของ Total Listed Shares ของบริษัท) ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสูงสุดที่เคยเจออยู่ที่ประมาณ 3% และค่าเฉลี่ยน้อยกว่า 1% เท่านั้น ประกอบกับมาตรการอื่น ๆ ที่จะเริ่มใช้บังคับ จะสามารถควบคุมธุรกรรมขายชอร์ตได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ในขณะนี้เห็นว่าอาจจะยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการ Daily Short Selling Limit

3. จัดให้มี Central Platform ในการ Check หลักทรัพย์ก่อนขาย เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลกลางสำหรับบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกและตลาดหลักทรัพย์ ในการตรวจสอบ Availability ของหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนก่อนขาย ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาการขายหุ้นโดยไม่มีหลักทรัพย์ในครองครอง (Naked Short Selling) ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนหารือรายละเอียดเพิ่มเติมกับบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกในการส่งข้อมูลของทุกบริษัท และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ช่วงปลายไตรมาส 4/2567

4. การเพิ่ม Circuit Breaker รายหุ้น หรือ Dynamic Price Band โดยกำหนดกรอบการเคลื่อนไหวของราคา (ที่แคบกว่า Ceiling & Floor) เอาไว้ เพื่อไม่ให้ราคาผันผวนเร็วเกินไป ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ช่วงปลายไตรมาส 2/2567 หรืออย่างช้าช่วงต้นไตรมาส 3/2567

5. การเพิ่ม Auto halt รายหุ้น กรณีมีจำนวนหุ้นรวมในคำสั่งมากกว่าจำนวนที่กำหนด เพื่อป้องกันการจับคู่ของคำสั่งซื้อขายที่อาจผิดปกติ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ช่วงไตรมาส 4/2567 ทั้งนี้ประเด็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในทางปฏิบัติคือ เวลา halt คำสั่งที่อยู่ในระบบจะให้อยู่ในระบบต่อไปหรือจะยกเลิก ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ตลาดหลักทรัพย์กำลังพูดคุยกับสมาชิกเพื่อเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย

6. จัดให้มี Central Order Screening เพื่อเป็นระบบกลางในการคัดกรองคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสม เพื่อบริหารความเสี่ยงในการส่งคำสั่งซื้อขาย สำหรับการซื้อขายชอร์ตและการใช้โปรแกรมเทรดดิ้ง เบื้องต้นจะต้องมีการพูดคุยในรายละเอียดบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกและการพัฒนาระบบ จึงคาดว่าจะใช้เวลาอยู่พอสมควร มองว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ประมาณต้นปี 2568

7. การเปิดเผยข้อมูลผู้ลงทุนที่ส่งคำสั่งไม่เหมาะสมให้แก่บริษัทหลักทรัพย์สมาชิกรายอื่น ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ช่วงปลายไตรมาส 2/2567 ซึ่งระหว่างนี้จะมีการแก้เกณฑ์ให้ บล. ดำเนินการไปในแนวทางเดียวกัน และเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 ตลาดหลักทรัพย์ได้ส่งหนังสือเวียนถึงบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกและไม่ใช่สมาชิกทุกบริษัท เรื่อง “การเพิ่มตัวอย่างพฤติกรรมลักษณะการส่งคำสั่งซื้อหรือขายหลักทรัพย์ที่ไม่เหมาะสม พร้อมตัวอย่างและพฤติกรรม”

8. มาตรการรายงาน Outstanding Short Position ซึ่งได้เปิดเผยข้อมูลไปแล้วเป็นรายหลักทรัพย์และรายวันให้บุคคลทั่วไปทราบ

9. เพิ่มบทระวางโทษบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกให้สูงขึ้น 3 เท่า โดยเพิ่มโทษในกรณีที่ บล.ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขายชอร์ตและโปรแกรมเทรดดิ้งให้สูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 3 เท่า โดยคาดจะมีผลบังคับใช้ช่วงปลายไตรมาส 2/2567

และ 10. การเปิดเผยข้อมูลการถือครอง NVDR สูงสุด 10 รายแรก และผู้ถือตั้งแต่ 0.5% ให้บุคคลทั่วไปทราบ ลักษณะเดียวกับการเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ช่วงปลายไตรมาส 2/2567