“เศรษฐา” แถลงใหญ่ล้างหนี้ บี้เจ้าหนี้นอกระบบดอกเบี้ยโหด

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน

เปิดอิมแพ็ค เมืองทองธานี แถลงข่าวใหญ่ 8 ธ.ค. ล้างหนี้ทั่วประเทศ “เศรษฐา” กำกับเอง แก้หนี้ครัวเรือน-หนี้นอกระบบ สั่งตำรวจทุกจังหวัด สนธิกำลังนายอำเภอกวาดล้างถึงหมู่บ้าน จับเจ้าหนี้เงินกู้รีดดอกเบี้ยเกินเงินต้น เตรียมเรียกเจ้าหนี้รายใหญ่ถกล้างบัญชีทบต้น-ทบดอก วาง “กิตติรัตน์” ประธานที่ปรึกษานายกฯ สางหนี้ในระบบธุรกิจเอสเอ็มอี-หนี้ครู-นักศึกษา กยศ.-ข้าราชการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ รับโอนลูกหนี้โควิดจากออมสิน-กรุงไทย เผยตัวเลขหนี้ NPL ยุคโควิดพุ่งเฉียด 4 แสนล้านบาท

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ เนื่องจากเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นต้นตอของอาชญากรรมด้วย โดยจะเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ ซึ่งในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ จะแถลงข่าวใหญ่เรื่องนี้ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี

“มติชนทำโพลมาชัดเจนที่สุดแล้ว คือ เรื่องหนี้ เพราะเป็นปัญหา เป็นต้นตอของอาชญากรรม เป็นต้นตอของยาเสพติด ผมว่าอันนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องกำกับดูแลอย่างจริง ๆ จัง ๆ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เรียกเจ้าหนี้เคลียร์ดอกแพงสั่งจับ

สำหรับเรื่องแก้หนี้ในระบบ อย่างหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้มอบหมายให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการแก้ปัญหา ขณะที่หนี้นอกระบบ ก็เป็นปัญหาใหญ่ ดอกเบี้ยเดือนละ10-15% ซึ่งไม่ถึงปี ดอกเบี้ยก็ทบต้นไปแล้ว ดังนั้น ต้องใช้กลไกระดับอำเภอเข้าไปจัดการ คือ ผู้กำกับการตำรวจในแต่ละพื้นที่ และนายอำเภอ ซึ่งจะต้องมีการเรียกเจ้าหนี้รายใหญ่กับลูกหนี้มาเคลียร์กัน และต้องมี KPI วัดผลการทำงานด้วย โดยตนจะดูแลเรื่องนี้ด้วยตัวเอง

“ต้องเรียกเจ้าหนี้รายใหญ่กับลูกหนี้มาเคลียร์กัน อย่างเช่นเป็นหนี้อยู่ 1 แสนบาท 3 ปีจ่ายไปแล้ว 4 แสนบาท รวมดอกด้วย ดูแล้วก็ไม่ควรที่จะต้องจ่ายถึง 4 แสนบาท เพราะดอกเบี้ยตามกฎหมาย มันไม่ถึง ยังไม่ถึงจำนวนนั้น แสดงชัดเจนว่า มีการคิดดอกเบี้ยแพงเกินไป ก็เลิกไปเถอะ ให้จบ ๆ ไป ไม่งั้นผมจับคุณ โครงการนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย.นี้เลย ในการให้ผู้กำกับ กับนายอำเภอลงไปจัดการ”

ตั้ง AMC รับโอนหนี้เสียโควิด

นายเศรษฐากล่าวว่า ขณะที่หนี้ของผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี จะมีการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ขึ้นมา เพื่อจะบริหารจัดการหนี้รหัส 21 (หนี้เสียที่เกิดขึ้นจากช่วงสถานการณ์โควิด-19) ซึ่งเรื่องนี้มอบหมายให้นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง เป็นผู้รับผิดชอบ โดยเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณา ว่าจะครอบคลุมหนี้ของธนาคารพาณิชย์ด้วยหรือไม่ แต่เฉพาะหนี้ของธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย ก็มีพอสมควร

“หนี้ครูก็กำลังคิดหาวิธีจัดการอยู่ คือ ดูทุก ๆ ภาคส่วน อย่างเช่นธุรกิจเอสเอ็มอี
ที่ประสบปัญหา ก็ต้องตั้ง AMC ขึ้นมารับหนี้ ซึ่งเรื่องนี้ รมช.คลังทำอยู่” นายเศรษฐากล่าว

ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กล่าวยอมรับว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้รับผิดชอบเรื่องการแก้ปัญหาหนี้รหัส 21 ที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โรคโควิดระบาด ตั้งแต่ 2563 ซึ่งอาจจะต้องตั้ง AMC ขึ้นมารับหนี้ไปบริหาร

เกษตรกรลุ้นพักหนี้เกิน 3 แสน

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เรื่องแก้ปัญหาหนี้เป็นเรื่องใหญ่ โดยจะมีหลายส่วนรับผิดชอบ สำหรับตนรับผิดชอบในส่วนที่เป็นการพักหนี้ ซึ่งที่ผ่านมาดำเนินการพักหนี้เกษตรกรไปแล้ว ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาขยายขอบเขตเกษตรกรที่จะได้รับการพักหนี้ รวมถึงกำลังดำเนินการเรื่องพักหนี้ให้กับเอสเอ็มอี โดยโจทย์ที่ได้มา ก็คือ การแก้ปัญหาให้ลูกหนี้รหัส 21 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา

“ผมจะดูเรื่องพักหนี้ ซึ่งในส่วนของเกษตรกร กำลังพิจารณาว่าจะขยายให้กับเกษตรกรที่มีหนี้เกิน 3 แสนบาทเพิ่มเติมด้วย” นายจุลพันธ์กล่าว

ลูกหนี้โควิดพุ่ง 4.9 ล้านบัญชี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) อัพเดตจนถึง ณ เดือน มิ.ย. 2566 พบว่า ภาพรวมบัญชีบุคคลธรรมดา ที่มีรหัสสถานะบัญชี 21 (ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19) ซึ่งเป็นสินเชื่อค้างชำระเกิน 90 วัน (NPL) มีจำนวนบัญชีอยู่ที่ 4.9 ล้านบัญชี ปรับเพิ่มขึ้น 5 แสนบัญชี จากเดือน มี.ค. 2566 อยู่ที่ 4.4 ล้านบัญชี ส่วนใหญ่มาจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ราว 2 แสนบัญชี

ขณะที่จำนวนเม็ดเงิน พบว่า ณ เดือน มิ.ย. อยู่ที่ 3.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 6 หมื่นล้านบาท จากเดือน มี.ค. อยู่ที่ 3.1 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นมาจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจราว 3.6 หมื่นล้านบาท และจำนวนลูกหนี้ปรับเพิ่มขึ้นราว 3 แสนราย จาก 3.1 ล้านคน เป็น 3.4 ล้านคน

ทั้งนี้ หากดูสัดส่วนลูกหนี้รหัส 21 ปัจจุบันอยู่กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ประมาณ 60% ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือน็อนแบงก์ 18% บริษัทเช่าซื้อ 13% และอีก 10% อยู่กับธนาคารพาณิชย์

กฎหมายใหม่ลดหนี้ กยศ.

ขณะที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า หนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับเกิน 90% ของ GDP สร้างความกังวลให้นักลงทุน เพราะมีสัดส่วนที่สูงและสะสมมานาน ดังนั้น จึงถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเร่งจัดการ ทั้งหนี้ กยศ. หนี้ตำรวจ หนี้ครู รวมถึงหนี้ข้าราชการอื่น ๆ ซึ่งจะพิจารณาดำเนินการภายใต้กฎหมายที่กำหนด

โดยในส่วนการแก้หนี้ กยศ. จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายกองทุน กยศ.ฉบับใหม่ ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 ซึ่งมีการกำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเดิม และคำนวณภาระหนี้สินย้อนหลังด้วย จะทำให้ลูกหนี้หลายคนหมดหนี้ หรือแม้แต่คนที่ชำระไปแล้ว บางคนอาจจะได้เงินคืนด้วย

“การคำนวณหนี้สินแบบใหม่ ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ ที่กฎหมายให้มีผลย้อนหลังในการคำนวณหนี้ มูลหนี้คงค้างจะเหลือประมาณ 50% เท่านั้น” นายกิตติรัตน์กล่าว