คลังปฎิรูปภาษีเพิ่มรายได้ ปิดเสี่ยงดิจิทัลวอลเลตหมื่นบาท

รมช.คลัง “จุลพันธ์” ตอบทุกประเด็นดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท เตรียมเพิ่ม “สินค้าต้องห้าม” กลุ่มสินค้านำเข้ากระทบเม็ดเงินไหลออก เปิดทางแบงก์ทุกแห่ง เชื่อมต่อแอป “ทางรัฐ” เผยแจกเงินไตรมาส 4 ส่งผลเศรษฐกิจปี 2568 เร่งแผนการใช้จ่ายงบปี’67 มีเวลาแค่ 6 เดือน รุกแผนปฏิรูปภาษีเพิ่มรายได้ ปิดความเสี่ยงการคลัง นำร่องเก็บ VAT สินค้านำเข้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท บี้ภาษีแพลตฟอร์มต่างชาติ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้นโยบายทุกอย่างที่ได้รับมอบหมายให้ขับเคลื่อน ถือว่าเดินหน้าอยู่ในกรอบของเวลาที่กําหนด สำหรับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet อาจล่าช้าไปบ้าง วันนี้ก็ชัดเจนแล้วผ่าน ครม.เป็นที่เรียบร้อย ก็มั่นใจได้ว่าเป็นไปตามกรอบที่กําหนด คือปลายปีนี้ ช่วงไตรมาสสุดท้าย เงินจะถึงมือประชาชน

อย่างไรก็ดี หลังจากนี้ยังต้องทำอีกหลายอย่าง อย่างการส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความการใช้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งไม่ใช่ประเด็นที่รัฐบาลกังวล เพราะเป็นไปตามกรอบกฎหมาย แต่ก็ส่งไปเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย

ตั้งกรรมการ 2 ชุดทำงานต่อ

นอกจากนี้มติ ครม.ได้ให้ตั้งกรรมการขึ้นมาอีก 2 ชุด คือ คณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ เพื่อป้องกันการทุจริต การใช้เงินผิดประเภท ซึ่งคณะนี้มีสํานักงานตํารวจแห่งชาติเป็นประธาน ซึ่งจะวางกรอบการทํางาน ว่าทําอย่างไรจะไม่ให้เกิดการรั่วไหลของเงิน รวมถึงการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ หรือไปใช้จ่ายกับสินค้าต้องห้าม (Negative List)

“รวมถึงข้อห่วงใยเรื่องไปซื้อลดมูลค่า เช่น ให้ไป 10,000 บาท แล้วไปร้านค้าบอกขอ 7,000 บาท เป็นเงินสดได้ไหม เหล่านี้เราก็ต้องปิดช่องโหว่ให้ครบถ้วน”

เพิ่มรายการ “สินค้าต้องห้าม”

นายจุลพันธ์กล่าวว่า อีกชุดคือคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการฯ ซึ่งตนเป็นประธาน มีหน้าที่ไปลงรายละเอียดหลายเรื่อง เช่น ข้อสรุปเรื่องร้านค้าไหนเข้าได้/ไม่ได้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเป็นแม่งาน เพื่อที่จะวางกรอบให้ชัดเจน หรือเรื่องของ Negative List ซึ่งจะมีการพิจารณาเพิ่มเติมว่า ซื้อสินค้าอะไรไม่ได้

ADVERTISMENT

โดยเฉพาะที่มีการพิจารณาเพิ่มเติมคือในกรณีของสินค้าที่มีต้นกำเนิดจากต่างประเทศ หรือสินค้านำเข้า เพราะเท่ากับว่าเงินที่จ่ายออกไปต่างประเทศเกือบทั้งหมด เหตุผลเดียวกันที่เราไม่ให้ใช้จ่ายดิจิทัลวอลเลต สำหรับการเติมน้ำมัน เพราะเป็นอิมพอร์ตคอนเทนต์ หมายความว่าใช้จ่าย 1 บาทไปต่างประเทศประมาณ 90 สตางค์ เหลือในประเทศไทยน้อยมาก

“Negative List อาจจะมีการปรับเพิ่ม ปรับลด ให้เกิดความเหมาะสม รวมถึงรายละเอียดอื่น ๆ อีกมาก ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายทํางาน พวกผมเป็นทีมทํางานที่จะต้องไปลงรายละเอียด แล้วก็ทําให้สมบูรณ์ที่สุด ยังไม่จบ ยังต้องลงรายละเอียดระดับย่อยให้ครบถ้วนอีก”

ADVERTISMENT

ส่วนเรื่องร้านค้า โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อ ก็ต้องขึ้นกับข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ ว่าจะเปลี่ยนแปลงรายละเอียดหรือไม่ อย่างไรก็ดีในชั้นนี้ก็ถือว่าร้านสะดวกซื้อทั้งหมดจะได้รับสิทธิในการเข้าร่วมใช้จ่ายดิจิทัลวอลเลตจากประชาชน

ไม่ได้กำหนดพื้นที่ร้านสะดวกซื้อ

อย่างไรก็ดีเรื่องร้านสะดวกซื้อคงไม่ไปดูเรื่องขนาดพื้นที่ เพราะว่าต้องยอมรับว่า กําลังของฝ่ายรัฐก็มีจํากัดในการไปตรวจสอบ เพราะฉะนั้นก็ต้องวางกรอบใหญ่ ๆ รวมถึงการกำหนดก็คงเลือกปฏิบัติยาก จะบอกว่าแบรนด์นี้ได้ แบรนด์นั้นไม่ได้ ก็คงไม่ได้

นายจุลพันธ์กล่าวว่า เข้าใจว่ามีข้อเป็นห่วง ซึ่งรัฐบาลก็เป็นห่วงเช่นเดียวกัน จึงสร้างกลไกที่อย่างน้อยให้เงินลงถึงชุมชนด้วยการกําหนดว่า ร้านค้าขนาดใหญ่ รอบแรกไม่ให้

ดึงข้อมูลจาก “ถุงเงิน-เป๋าตัง”

นายจุลพันธ์กล่าวว่า สำหรับช่วงไตรมาส 3 ที่จะเปิดให้ลงทะเบียน ทั้งในส่วนของร้านค้าและประชาชนนั้น สำหรับร้านค้าที่เคยลงทะเบียนในแอปพลิเคชั่น “ถุงเงิน” ที่ร่วมโครงการกับรัฐมาแล้ว ก็ถือว่าขึ้นทะเบียนอยู่ในระบบแล้ว เพราะจะมีการถ่ายโอนข้อมูลมา แต่เมื่อแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” เปิดให้ลงทะเบียนเมื่อไหร่ ก็คงจะต้องมีการยืนยันเพื่อเข้าร่วมโครงการ

ส่วนประชาชนที่มีสิทธิก็ต้องดาวน์โหลดแอป “ทางรัฐ” แล้วลงทะเบียนเข้าร่วม-ยืนยันตัวตน (KYC) ซึ่งจะมีกระบวนการตรวจสอบสิทธิต่อไป ทั้งเรื่องรายได้ เรื่องบัญชีเงินฝาก หรืออายุ และเมื่อตรวจสอบเสร็จจะมีข้อความให้กดยืนยันสิทธิเพื่อเข้าร่วมโครงการ สำหรับผู้ที่เคยยืนยันตัวตนในแอปเป๋าตังแล้วก็ไม่ต้องทำ KYC แค่กดยืนยันเข้าร่วมโครงการ และรอยืนยันสิทธิ จากนั้นพอถึงไตรมาส 4 ก็จะได้รับเงิน 10,000 บาทเข้าวอลเลต

อย่างไรก็ดียังคงมีร้านค้ารายย่อยจำนวนมากที่ยังไม่เคยขึ้นทะเบียนกับรัฐ โดยบางส่วนต้องขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทย เช่น ร้านส้มตํา ร้านขายหมูปิ้ง ขายหมูสะเต๊ะ ร้านค้าตามตลาดนัดต่าง ๆ เข้าไปดำเนินการให้ร้านค้ารายย่อยเหล่านี้เข้าร่วม ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จะดูแลเรื่องร้านธงฟ้า รวมถึงร้านขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ร้านสะดวกซื้อ ที่ต้องลงทะเบียน

เปิดทางทุกแบงก์ร่วมโครงการ

นายจุลพันธ์อธิบายว่า ทั้งนี้การเลือกใช้แอป “ทางรัฐ” เพราะเป็นแอปกลางของภาครัฐ ที่จะมีการเชื่อมโยงของการให้บริการของภาครัฐได้ทุกอย่าง ซึ่งมีการพัฒนามาอยู่แล้ว โดยเมื่อมาถึงจุดนี้แอปมีความพร้อมที่จะเข้ามาดําเนินการ รัฐบาลก็ประสานขอความร่วมมือในการทำโครงการดิจิทัลวอลเลต

“สิ่งที่สําคัญก็คือ ความเชื่อมโยงกับธนาคารพาณิชย์ กับธนาคารของรัฐ กับสถาบันการเงินอื่น ๆ ที่เขาประสงค์จะเข้าร่วมโครงการก็สามารถทำได้ ซึ่งผมเชื่อว่าธนาคารเหล่านี้จะเข้าร่วมอยู่แล้ว”

ทั้งนี้ เมื่อธนาคารต่าง ๆ เชื่อมต่อเข้าร่วม ก็จะทำให้การใช้จ่ายของประชาชนสะดวก เพราะดิจิทัลวอลเลตก็จะไปเป็นฟังก์ชั่นหนึ่งในโมบายแบงกิ้งของแต่ละสถาบันการเงิน ประชาชนก็สามารถใช้ดิจิทัลวอลเลตผ่านโมบายแบงกิ้งไหนก็ได้ หรือถ้าประชาชนไม่มีโมบายแบงกิ้ง ก็สามารถใช้ผ่านแอป “ทางรัฐ” แอปเดียวก็ได้ รวมถึงจะใช้จ่ายผ่านแอปเป๋าตังก็ใช้ได้เช่นกัน

รมช.คลังกล่าวว่า สำหรับเหตุผลที่รัฐบาลไม่เลือกใช้แอป”เป๋าตัง” นั้น เนื่องจากมีข้อห่วงใยกันว่า แอปเป๋าตังไม่ใช่ของรัฐ

Q4 กดปุ่มโอนเงิน 5 แสนล้านรวดเดียว

สำหรับการโอนเงิน 10,000 บาทให้ประชาชน 50 ล้านคนในไตรมาส 4 นั้น นายจุลพันธ์กล่าวว่า จะโอนพร้อมกันครั้งเดียว ไม่มีแบ่งเป็นเฟส และสำหรับประชาชนก็เปิดโอกาสให้สามารถใช้จ่ายตามเงื่อนไขได้หมดในวันเดียวไม่ได้มีข้อจำกัดใด ๆ

ขณะที่ในแง่ของผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจนั้น ต้องยอมรับว่าผลต่อจีดีพีจะไปเห็นผลปีหน้า (2568) ซึ่งจะทำให้จีดีพีไทยโตได้มากกว่าช่วงที่ผ่านมาอย่างแน่นอน ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจจําเป็นจริง วันนี้ดูตัวเลขจีดีพีปีนี้อยู่ที่ประมาณ 2.7% ซึ่งเชื่อว่าถ้าปล่อยโดยที่ไม่ทําอะไรก็จะไหลลงอีก

กระตุ้น ศก.แก้ติดหล่ม

นายจุลพันธ์กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้มองว่าศักยภาพของประเทศไทยโตได้มากกว่านี้อีกมาก เพราะเคยเป็นเสือมาก่อน และเชื่อว่าด้วยอัตราการเติบโตที่เป็นไปตามศักยภาพจะสามารถแก้ไขปัญหาที่ติดหล่มติดโคลนอยู่ได้อีกหลายอย่าง ทั้งเรื่องหนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ รายได้ของประชาชน แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ

“หลักคิดคือการทําเค้กให้ใหญ่ขึ้น เพื่อที่จะกระจายแบ่งให้เท่าเทียม นี่เป็นหลักคิดของทางรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งเราเชื่อมั่นว่ากลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นมีความจําเป็น ประกอบกับนโยบายอื่น ๆ ที่จะตามมา เพราะไม่ใช่อย่างเดียวนะที่เราทํา รัฐบาลชุดนี้ทํามหาศาล เราทําเริ่มต้นตั้งแต่การลดค่าครองชีพของประชาชน เรื่องพลังงาน เรื่องน้ำมัน การดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีการทําวีซ่าฟรีให้กับหลายประเทศ มีในเรื่องของการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ พวกนี้ในระยะเวลาปีสองปีข้างหน้าก็จะเห็นไหลเข้ามาเป็นรูปธรรม”

เร่งรัดเบิกจ่ายใช้งบ’67

นายจุลพันธ์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับครึ่งปีหลังที่งบประมาณปี’67ออกแล้ว ก็พอช่วยเศรษฐกิจได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีข้อจํากัด เพราะกระบวนการงบประมาณด้วยระยะเวลาเพียงแค่ 6 เดือน มีข้อจํากัดในการที่หน่วยงานภาครัฐต้องเร่งทำสัญญา จึงต้องเร่งรัดทุกกระบวนการ ซึ่งกระทรวงการคลังก็ได้รับมอบหมายภารกิจจากนายกรัฐมนตรี มาคุยกับทางกรมบัญชีกลางเพื่อเร่งกระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ให้เร็วที่สุด

“หนึ่งก็คือเร่งรัดการผูกพันงบประมาณ หรือเซ็นสัญญาโครงการ สอง คือระยะเวลาจากการที่งบฯจากส่วนกลางดันไปสู่ภูมิภาค จากเดิมที่ใช้เวลา 5-7 วัน ตอนนี้ผมก็กําหนดเวลาไว้ 3 วัน หมายความว่า 3 วัน งบฯต้องลงไปถึงพื้นที่ สู่ประชาชนได้ กลไกเหล่านี้เรากําหนดขึ้นมาเพื่อเร่งรัดการลงทุนการใช้จ่ายของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน”

ความเสี่ยงการคลังหน้าที่รัฐบาล

กรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีหนังสือท้วงติงโครงการ โดยแสดงความกังวลเรื่องความเสี่ยงทางการคลังนั้น นายจุลพันธ์กล่าวว่า ก็รับฟังอยู่ แต่หนังสือดังกล่าวไม่ใช่หนังสือท้วงติง แต่เป็นความเห็นของหน่วยงานต่อเรื่องที่นําเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นเรื่องปกติ ซึ่งก็มีหน่วยงานอื่นที่ทําความเห็นมาเช่นกัน อาทิ กฤษฎีกา กระทรวงการคลัง กระทรวงดีอีเอส กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น

นายจุลพันธ์กล่าวว่า ข้อกังวลเรื่องความเสี่ยงทางการคลังนั้น เรื่องนี้เป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องของ ธปท. แล้วก็เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังทราบดี และยืนยันว่ายึดกรอบวินัยทางการเงินการคลัง แล้วก็มั่นใจว่าโครงการนี้ไม่กระทบความเสี่ยงใด ๆ

“แน่นอนว่า ภาระทางการคลังเพิ่มขึ้นในระยะสั้น แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะรัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบต่อประชาชน ซึ่งก็รับฟังทุกคน ไม่ว่าจะนักวิชาการ ภาคประชาชน รวมถึง ธปท. ก็รับฟังในข้อเสนอแนะ แล้วก็บรรจุเข้าไว้ในสิ่งที่จะต้องไปทําเพื่อปิดช่องโหว่ต่าง ๆ

“ที่ ธปท.ห่วงในเรื่องของการซื้อลด เราก็บอกว่าเราก็ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาแล้ว ก็มีหน้าที่ไปตรวจสอบหามาตรการป้องกัน เป็นห่วงในเรื่องของอื่น ๆ เราก็มีหน้าที่ในการไปสอบถาม ทําความจริงให้กระจ่าง แล้วก็หาทางปิดช่องโหว่ในประเด็นเหล่านั้น”

ปฏิรูปภาษีปิดเสี่ยงการคลัง

เมื่อถามถึงแนวทางการบริหารจัดการภาระทางการคลัง นายจุลพันธ์กล่าวว่า หลักกว้าง ๆ ก็คือ ต้องเพิ่มศักยภาพในการจัดเก็บรายได้ (ภาษี) เพิ่มศักยภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ แล้วก็เพิ่มศักยภาพในเรื่องของการบริหารหนี้สาธารณะ รวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างภาษีก็ยังทําอยู่ตลอด แต่เรื่องภาษีพูดก่อนไม่ได้

การปฏิรูปโครงสร้างภาษี วางเป้าหมายไว้สัก 3-4 ประเด็น คือ 1.การมีแหล่งรายได้ที่เติบโตอย่างมั่นคง 2.การจัดเก็บภาษี ที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม เช่นภาษีคาร์บอน 3.การจัดเก็บภาษีที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา Digital Economy เป็นต้น

รมช.คลังกล่าวว่า รายได้รัฐมีการตั้งเป้าเติบโตตลอด อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือรายได้ภาษีต่อจีดีพีของประเทศ ปัจจุบันเหลือแค่ 14% ต่อจีดีพี ไหลลงมาจาก 20 ปีที่แล้วที่อยู่ที่ประมาณ 17-18% ต่อจีดีพี เป็นเทรนด์ที่น่าห่วง ดังนั้นการปรับเรื่องของศักยภาพในการจัดเก็บภาษี จะต้องทำมากขึ้นและเชื่อว่าจะสามารถทําให้สร้างเม็ดเงินได้อีกมาก

นายจุลพันธ์กล่าวว่า การเพิ่มรายได้ภาษีต่อจีดีพีเป็นเรื่องยาก แต่ต้องทำ ดังนั้นในแง่ของรัฐบาลก็ต้องหาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีมากขึ้น ดึงคนเข้าสู่ฐานภาษีมากขึ้น ไม่ใช่เป็นการรีดจากคนที่อยู่ในระบบ แต่จะทำให้ฐานผู้เสียภาษีเพิ่มขึ้น อย่างหนึ่งคือการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ถ้าจีดีพีขยายตัวได้ 5% ก็จะทำให้ภาคธุรกิจเอกชนมีเม็ดเงินมากขึ้น มีกำไรมากขึ้น ก็จ่ายภาษีมากขึ้น เรื่องที่สองที่รัฐบาลพูดตลอดคือ ease of doing business คือการสร้างความสะดวกให้กับภาคเอกชน เช่น ที่เพิ่งประชุมมาเรื่องการทำศุลกากรค้าชายแดนให้สะดวก ให้การค้าคล่องตัว สินค้าผ่านเร็วขึ้น จัดเก็บภาษีได้มากขึ้นด้วย

นำร่องเก็บ VAT นำเข้าราคาถูก

นายจุลพันธ์กล่าวว่า ในเร็ว ๆ นี้ กระทรวงการคลังจะดำเนินการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้านำเข้าที่มูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการมาให้เริ่มเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งในขณะนี้คลังกําลังสร้างกลไก เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการจัดเก็บ แต่การยกเว้นอากรศุลกากรยังเหมือนเดิม เพราะเป็นไปตามปฏิญญาโตเกียว

“ถ้าดูยอดสินค้านําเข้าเกือบ 40 ล้านชิ้น เป็นสินค้าที่ต่ำกว่า 1,500 บาท ประมาณ 90% หรือประมาณ 36 ล้านชิ้น เยอะมาก โดยมากจะเข้ามาผ่านแพลตฟอร์ม ผ่านไปรษณีย์ไทยส่วนหนึ่งสักประมาณ 10% ซึ่งในส่วนภาษี VAT สินค้านำเข้า เราจะเริ่มเข้าไปดําเนินการเพื่อให้มันเกิดความเป็นธรรมในภาคการผลิต สําหรับเอสเอ็มอีไทยที่ต้องแข่งขันกับสินค้านําเข้าจากต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน ทั้งนี้ หากจัดเก็บแล้ว ผู้ขายก็ต้องผลักไปสู่ผู้บริโภค แต่ว่าจะทําให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมขึ้นกับผู้ผลิตในประเทศไทย”

นอกจากนี้ก็มีการดูเรื่องการจัดเก็บภาษีตัวอื่น ๆ เช่นกรณี แพลตฟอร์ม OTA ต่างชาติที่เปิดให้บริการในประเทศไทยแต่ฐานบริษัทอยู่ที่สิงคโปร์ คนไทยจองที่พักเที่ยวในประเทศไทยแต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้ OTA ต่างชาติ แบบนี้ก็ต้องหาวิธีการที่จะทำให้เกิดรายได้ภาษีในเมืองไทย

นายจุลพันธ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนเรื่องปรับภาษี VAT (7%) ไม่ใช่เวลานี้แน่นอน เพราะว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่แข็งแรงพอที่จะมาคิดเรื่องพวกนี้ เศรษฐกิจไม่ดี ประชาชนโดนกดทับ อัตราดอกเบี้ยที่สูงอยู่ เหล่านี้เป็นภาระที่เราต้องช่วยเหลือสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนเป็นอันดับแรก”