เศรษฐาเดิมพันกู้ 5 แสนล้าน แจกเงินดิจิทัล-ช็อป 5 หมื่นคืนภาษี

เศรษฐาทุ่มสุดตัว 6 แสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจมโหฬารยาวถึงกลางปี 2567 สร้างโมเมนตัมตั้งแต่ต้นปีด้วยโครงการคืนภาษีช็อปปิ้งสินค้า-บริการมูลค่าไม่เกิน 5 หมื่นบาท ตามด้วยออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน แจกดิจิทัลวอลเลตคนละ 1 หมื่นบาท เริ่มใช้ได้ พ.ค. 67 จากนั้นเติมเงินในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันอุตสาหกรรมเป้าหมายอีก 1 แสนล้าน เปิดเกณฑ์ใหม่แจกเงินหมื่น ได้แน่ 50 ล้านคน จ่ายผ่านแอปเป๋าตัง มั่นใจดันจีดีพี 5% ตลอด 4 ปี

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่า รัฐบาลได้ข้อสรุปที่ดีที่สุดในการกระตุ้นและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ผ่านการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 6 แสนล้านบาท ประกอบด้วย โครงการดิจิทัลวอลเลต 5 แสนล้านบาท ครอบคลุม 50 ล้านคน

และอีก 1 แสนล้านบาท เติมเงินในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยรัฐบาลจะมอบสิทธิการใช้จ่าย 10,000 บาท ให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาทต่อเดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 500,000 บาท โดยให้สิทธิใช้ครั้งแรกในเวลา 6 เดือนหลังจากโครงการเริ่ม และขยายพื้นที่การใช้จ่ายให้ครอบคลุมระดับอำเภอ

หมุนเวียนในระบบถึงปี 2570

นายเศรษฐากล่าวว่า เงินทั้งหมดในโครงการนี้จะถูกส่งตรงไปให้กับประชาชนทุกคนที่ผ่านเงื่อนไขเข้าไปยังกระเป๋าเงินดิจิทัล ขอบเขตการใช้งาน จะใช้ได้กับร้านค้าที่อยู่ในอำเภอเดียวกับบัตรประชาชน ระยะเวลาสำหรับใช้ครั้งแรกต้องภายใน 6 เดือน หากไม่ได้ใช้สิทธิที่เหลืออยู่ก็จะถูกยกเลิกไปโดยอัตโนมัติ และเงินที่ถูกใช้และเข้าไปอยู่ในระบบแล้ว จะสามารถใช้จับจ่ายต่อได้จนถึงเดือนเมษายนปี 2570

“เงินก้อนนี้ไม่ได้มาจากการเสกเงิน สร้างเงิน พิมพ์เงิน หรือออกเหรียญผ่าน Initial Coin Offering แต่อย่างใด พูดให้ชัด ๆ ว่า ไม่ได้มีการเขียนโปรแกรมสร้างเงินเหมือน cryptocurrency ต่าง ๆ และไม่ได้เป็นการนำเงินไปซื้อเหรียญมาแจก และนำไปเทรด แลกเปลี่ยน โอนให้กันและกัน เก็งกำไร ไม่ได้ ไม่มีการนำไปเทรดบน exchange ทั้งหลาย ตลาดหลักทรัพย์ ตลาด crypto ใด ๆ ทั้งสิ้น” นายเศรษฐากล่าว

เงื่อนไขใช้ซื้ออะไรได้-ไม่ได้

นายเศรษฐากล่าวว่า โครงการนี้ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ ทั้งร้านค้า และยืนยันรับสิทธิโดยประชาชน เรื่องของเงื่อนไข ซื้ออะไรได้ ไม่ได้ ประชาชนจะสามารถใช้ซื้อสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคได้เท่านั้น ไม่สามารถใช้กับบริการได้ ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ได้ ไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม และผลิตภัณฑ์จากกัญชาและพืชกระท่อม ไม่สามารถนำไปซื้อบัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณีได้

และเงิน 10,000 บาทนี้ ไม่สามารถนำไปชำระหนี้ได้ ไม่สามารถจ่ายค่าเรียน ค่าเทอมได้ ไม่สามารถนำไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติได้ แลกเป็นเงินสดไม่ได้ แลกเปลี่ยนในตลาดต่าง ๆ ไม่ได้

นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องประเภทร้านค้า ขอชี้แจงให้ชัดว่าใช้ซื้อสินค้าได้ทุกร้านค้า ไม่ได้จำกัดแต่ร้านที่อยู่ในระบบภาษี ไม่จำเป็นต้องจด VAT ร้านค้ารถเข็น ร้านโชห่วย ร้านค้าที่อยู่บนแอปเป๋าตัง ใช้ได้หมด แต่ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ และร้านค้าที่จะขึ้นเงินได้ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น

“หลายท่านอาจจะกังวลว่านโยบายนี้จะทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อเราย่ำแย่หรือไม่ ต้องขอชี้แจงว่าสถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบันของไทย อยู่ในสภาวะที่ต่ำอยู่แล้ว ทำให้โครงการนี้จะไม่ทำให้อัตราเงินเฟ้อก่อให้เกิดผลเสียต่อพี่น้องประชาชนอย่างแน่นอน” นายเศรษฐากล่าว

มีเงินเก็บ 5 แสน รายได้ 7 หมื่น ไม่ได้

นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องของที่มาที่ไปของ เลข 70,000 และ 500,000 ว่ามาจากไหน ครอบครัวที่มีรายได้น้อยกว่า 70,000 หรือมีเงินในบัญชีรวม 500,000 บาท มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากกว่าอีกกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ อาจจะบอกว่าครอบครัวหนึ่งเฉลี่ยมี 3 คน ต้องเป็นเลขประมาณ 23,000 บาท

แต่จุดประสงค์นโยบายนี้คือทำให้ประชาชนได้รับสิทธิอย่างทั่วถึงมากที่สุด จึงเป็นไปได้ว่าบางครอบครัวที่มีรายได้จากคนเดียว ก็ควรได้รับสิทธิด้วยจึงเป็นที่มาของเลข 70,000 ส่วนเลข 500,000 ก็มาจากการคำนวณว่าถ้าคนเงินเดือน 70,000 มีแนวโน้มที่จะมีเงินเก็บไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท ทำให้ประเมินได้ว่าคนที่มีเงินเก็บ 500,000 บาท และคนที่มีเงินเดือน 70,000 บาท เป็นคนกลุ่มเดียวกัน

ออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน

นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องของแหล่งเงินทุน คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดในการดำเนินนโยบายนี้ คือการออก พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท ไม่ต้องห่วงเรื่องของการใช้เงินคืน รัฐบาลจะมีแผนจัดสรรเงินงบประมาณมาเพื่อจ่ายคืนเงินส่วนที่เป็นเงินกู้ตลอดระยะเวลา 4 ปี โครงการนี้จะตามมาด้วยโครงการและมาตรการอื่น ๆ ที่จะนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 5% เฉลี่ยตลอด 4 ปี และทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศเราลดลง

ใช้แอปเป๋าตัง

“เพื่อไม่ให้เป็นการถกเถียงกันในสังคม ผมขอประกาศว่า เราจะพัฒนาต่อยอดระบบเป๋าตัง ซึ่งมีประชาชนลงทะเบียนอยู่แล้ว 40 ล้านคน และมีร้านค้าที่คุ้นเคยอยู่แล้วกว่า 1.8 ล้านร้านค้า โดยเราจะพัฒนาต่อยอดระบบเป๋าตัง ให้สามารถทำงานโดยมี blockchain อยู่ด้านหลังเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ป้องกันการทุจริต นำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลและการทำ e-Government”

รีฟันด์ ลดหย่อนภาษีไม่เกิน 5 หมื่นบาท

สำหรับประชาชนที่ไม่ได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท แต่จะมีส่วนในการร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนยังยืนยันความตั้งใจที่จะให้คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ เพราะฉะนั้น รัฐบาลจะออกโครงการ e-Refund ให้คนไทยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลจากการซื้อสินค้าและบริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท สำหรับคนที่ไม่ได้รับสิทธิ digital wallet

นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องที่ว่าจะได้ใช้เมื่อไหร่ timeline เป็นอย่างไร โครงการ Digital Wallet จะใช้ระยะเวลาในการตีความโดยกฤษฎีกา และกระบวนการกฎหมายช่วงปลายปีนี้ นำเข้าสู่สภาช่วงต้นปีหน้า จัดเตรียมงบประมาณ และเปิดให้ประชาชนได้ใช้ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567

“แต่ก่อนหน้านั้น จะมีโครงการ e-Refund ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป และโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถจะสามารถดำเนินการได้เดือนมิถุนายน 2567”

นายเศรษฐากล่าวว่า นโยบายทั้งหมดนี้จะส่งผลดีต่อประเทศใน 2 ด้าน หนึ่ง กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้น โดยมีประชาชนทุกภาคส่วนเป็นกลไกที่สำคัญผ่านการบริโภคและการลงทุน สอง วางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และ e-Government ซึ่งเป็นการวางและแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศในระยะยาว

“นี่ไม่ใช่การสงเคราะห์ประชาชนผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจผ่านสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาล (partnership) ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ยังรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐทุกประการ” นายเศรษฐากล่าว

นายเศรษฐากล่าวว่า นโยบายการอัดฉีดเงินไม่ได้เป็นนโยบายที่แปลกประหลาด ตัวอย่างอื่นในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น หรือเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ก็มีนโยบายที่คล้าย ๆ กัน ยกตัวอย่างของญี่ปุ่น เขาก็อัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเป็นจำนวน 13.2 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท