เบื้องหลัง เศรษฐาตัดสินใจใช้ พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน แจก 10,000 บาท

เปิดวาระพิจารณาเบื้องหลัง รัฐบาลเลือกใช้ พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน แทนใช้เงินออมสินที่ไม่สามารถดำเนินการได้ 

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่า รัฐบาลได้ข้อสรุปที่ดีที่สุดในการกระตุ้นและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ผ่านการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 6 แสนล้านบาท

โดยเงิน 6 แสนล้านบาท ประกอบด้วย โครงการดิจิทัลวอลเลต 5 แสนล้านบาท ครอบคลุม 50 ล้านคน และอีก 1 แสนล้านบาท เติมเงินในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

เบื้องหลังที่รัฐบาลเลือกใช้ พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน จากเดิมที่บอกว่าจะไม่ใช้เงินกู้นั้น ที่ประชุมได้พิจารณาข้อดี-ข้อเสีย ของการใช้เงิน ถ้าหากใช้เงินตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.การเงินการการคลัง จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการดำเนินการ เนื่องจากธนาคารออมสินไม่สามารถดำเนินการได้

หากให้ พ.ร.ก.เงินกู้ แม้มีเงินเพียงพอสำหรับโครงการภายในกรอบวินัยการเงินการคลัง แต่เป็นการกู้ที่ไม่ได้ผ่านกลไกรัฐสภา

ส่วนข้อเสนอให้ตั้ง SPV หรือนิติบุคคลเฉพาะกิจ แม้มีเงินเพียงพอสำหรับโครงการ แต่มีความซับซ้อนสูง ต้องตั้ง SPV ต้องทำสัญญากับรัฐ และต้องยกเว้นงบประมาณ 3 ปี

ADVERTISMENT

ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จึงต้องใช้ พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน ซึ่งมีเงินเพียงพอสำหรับโครงการภายในกรอบวินัยการเงินการคลัง และเป็นการใช้เงินผ่านกลไกรัฐสภา

และในส่วนที่ใช้ พ.ร.บ.งบประมาณมีเงินเพียงพอสำหรับโครงการ โดยตั้งงบประมาณใช้คืน 5 แสนล้าน ในปี 2567-2568-2569

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ก่อนการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเลตชุดใหญ่ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธาน ในเวลา 11.00 น. ได้มีการเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ครั้งที่ 2/2566 อย่างกะทันหัน ในเวลา 10.45 น.

ที่ประชุมดังกล่าว เพื่อพิจารณาเรื่องดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 มาตรา 27 เพื่อเสนอโครงการต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ

ทั้งนี้ มาตรา 27 ระบุว่า การดําเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือภาระทางการคลังในอนาคตตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดําเนินการนั้นจัดทําแผนบริหารจัดการกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ ประมาณการรายจ่าย แหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดําเนินการ และประโยชน์ที่จะได้รับ

โดยต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติ กิจกรรม มาตรการ หรือโครงการต่อคณะรัฐมนตรี และในกรณีที่การดําเนินการก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐ ให้จัดทําประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับ เสนอในการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีด้วย

ในการพิจารณาอนุมัติกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามวรรคหนึ่ง ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ความจําเป็นเร่งด่วน ประโยชน์ที่ได้รับ และภาระทางการคลัง หรือการสูญเสียรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ จัดทํารายงาน เปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้รับกับการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้นจริง กับประมาณการที่ได้จัดทําตามวรรคหนึ่ง เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบเป็นประจําทุกสิ้นปีงบประมาณ จนกว่าการดําเนินการดังกล่าวจะแล้วเสร็จ

ส่วนการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเลตใช้งบประมาณทั้งสิ้น 500,000 ล้านบาท ผ่าน มาตรา 53 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561

ระบุว่า การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทําได้ก็แต่โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน

กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ การดําเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น

เงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐเบิกไปใช้จ่ายตามแผนงาน หรือโครงการตามที่กฎหมายกําหนดได้โดยไม่ต้องนําส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ รัฐบาลเตรียมนำร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน 5 แสนล้านเข้าสู่ที่ประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ในเดือนมกราคม 2567 โดยจะต้องพิจารณา 3 วาระ แบ่งเป็น วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ วาระที่ 2 ตั้งคณะกรรมาธิการแปรญัตติรายมาตรา วาระที่ 3 ลงมติทั้งฉบับ เพื่อให้เป็นกฎหมาย และเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา