ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ที่ไทยจะได้จากการเข้าเป็นสมาชิก OECD

benefits

ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นำทีมประเทศไทยยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าเป็นสมาชิก “องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา” (OECD) เมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา ณ สำนักงานใหญ่ OECD กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

“ไทยจะได้อะไรจากการเข้าเป็นสมาชิก OECD-มีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องเข้าเป็นสมาชิก” คือคำถามที่ปานปรีย์ตระหนัก และบอกเองว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเร่งอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ

ปานปรีย์ พหิทธานุกร ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าเป็นสมาชิก OECD ต่อเลขาธิการ OECD

ปานปรีย์อธิบายกับ “ประชาชาติธุรกิจ” และสื่อมวลชนที่เข้าร่วมทำข่าวการยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงสมัครเป็นสมาชิก OECD ที่ปารีสว่า ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเข้าเป็นสมาชิก OECD คือ การยกระดับมาตรฐานประเทศไทยให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้นในหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ-การค้า และความโปร่งใส ตลอดจนด้านกฎหมาย

ในส่วนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า การเข้าเป็นสมาชิก OECD จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยโตขึ้น 1.6% หรือคิดเป็นมูลค่า 270,000 ล้านบาท

“ความมั่นคงทางเศรษฐกิจจะมีมากขึ้น เพราะกลุ่มของประเทศสมาชิก OECD เป็นประเทศพัฒนาแล้ว แต่ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา เรามีความประสงค์ที่จะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางที่เราติดกับดักมาหลายปี และเรามีความประสงค์จะเป็น ‘ประเทศพัฒนาแล้ว’ ที่คาดว่าจะทำได้ในปี 2037 (พ.ศ. 2580) หรืออาจจะทำได้ก่อนหน้านั้นก็ได้ ถ้าเราสามารถเข้าเป็นสมาชิก OECD ได้เร็ว ก็เชื่อว่าเราจะเข้าสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้เร็วขึ้น”

Advertisment

ส่วนประโยชน์ที่จะเกิดต่อประชาชนทั่วไป ปานปรีย์บอกว่าจะมีการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น จะมีการจ้างงานมากขึ้น และ OECD มีแผนในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจสีเขียว เทคโนโลยี และเอไอ ซึ่งจะช่วยในการสร้างบุคลากรของไทยให้มีศักยภาพมากขึ้นด้วย

ปานปรีย์ พหิทธานุกร

ปานปรีย์อธิบายขยายความในส่วนประโยชน์ทางการค้าและการลงทุนอีกว่า การยกระดับความโปร่งใสของประเทศไทยตามมาตรฐานของ OECD จะช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกิจ และการแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ตามมาตรฐานของ OECD จะช่วยในเรื่องคะแนนความสะดวกในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยพยายามจะทำอยู่แล้ว

“เมื่อไทยสามารถแก้ไขประเด็นเหล่านี้ได้ การค้าของประเทศไทยจะเฟื่องฟูมาก เพราะหลาย ๆ อย่างที่ในวันนี้คนที่อยากมาลงทุนเขายังมีคำถามกับเรา ก็คือคำถามเดียวกันกับที่เรากำลังจะแก้ไขให้เป็นไปตามมาตรฐานของ OECD” รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศกล่าว

เชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศกล่าวเสริมว่า การที่ไทยปรับตัวตามมาตรฐานของ OECD ทำให้ไทยมีมาตรฐานที่สูงขึ้น จะช่วยให้ไทยสามารถจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีมาตรฐานสูง ๆ ได้ ซึ่งปัจจุบันไทยยังไม่สามารถทำ FTA มาตรฐานสูง ๆ ได้เลย เพราะกฎระเบียบภายในของประเทศไทยไม่เอื้อให้ทำได้

Advertisment

“การเป็นสมาชิก OECD เหมือนมีที่ปรึกษามาช่วยเราแต่งตัวให้มีมาตรฐาน ช่วยให้พูดจามีมาตรฐาน มีคนมาให้ความรู้-มาสอนให้ปรับตัว ดังนั้น ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาจึงสามารถทำ FTA มาตรฐานสูงได้” อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศกล่าว