ตลาดกลับมากังวลเฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยสูงนานขึ้น กดดันราคาทอง

gold price
คอลัมน์ : สถานีลงทุน
ผู้เขียน : ธนรัชต์ พสวงศ์ ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส

ราคาทอง Spot ตลาดโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ลดลง สถานการณ์ในตะวันออกกลางคลี่คลายลงและไม่ได้ขยายวงกว้าง ซึ่งไม่ได้เกิดสงครามโดยตรงระหว่างอิหร่านและอิสราเอลอย่างที่กังวล ทำให้แรงเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย สงครามยังจำกัดแค่ระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส

ซึ่งก่อนหน้านี้ ราคาทอง Spot ตลาดโลกได้ปรับขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ 2,431 ดอลลาร์

ตลาดทองคำกลับมาให้ความสำคัญกับแนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังจากการประชุมเฟด ในวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค. เฟดมีมติตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 6 เป็นไปตามที่ตลาดคาด

ขณะที่ นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ให้ความเห็นที่เป็นสายเหยี่ยวมากขึ้น แถลงว่า แม้ว่าเฟดยังคงมุ่งเน้นลดเงินเฟ้อให้ลดลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% แต่เฟดไม่มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 11-12 มิ.ย.

ด้านตลาดแรงงานของสหรัฐเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ หลังจากตัวเลขการเปิดรับสมัครงานเดือน มี.ค.ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี ทำให้ในมุมมองของตลาดเป็นเชิงลบ โดยคาดเฟดจะเลื่อนการเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกเป็นการประชุมเดือน พ.ย. จากเดิมในการประชุมเดือน ก.ย. และเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้เพียง 1 ครั้ง

กราฟฟิก ทอง

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ การจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐ เดือน เม.ย.เพิ่มขึ้นต่ำกว่าคาดที่ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ 3 พ.ค. โดยเพิ่มขึ้นเพียง 175,000 ตำแหน่ง และดัชนี ISM ภาคบริการเดือน เม.ย. ออกมาลดลงเหลือ 49.4 ซึ่งต่ำกว่าตลาดคาดและต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนถึงการหดตัวลงของภาคบริการ ทำให้มุมมองของตลาดเปลี่ยนไปอีกครั้งว่าคาดเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ 2 ครั้ง และเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ย. และเดือน ธ.ค.

แนวโน้มราคาทอง Spot ตลาดโลกทางด้านเทคนิคคาดว่ายังมีแนวโน้มปรับลดลงได้ โดยมีโอกาสที่ราคาทองคำจะปรับตัวลงไปที่ระดับ 2,267-2,280 ดอลลาร์ และคาดว่าจะมีแนวรับสำคัญ 2,250 ดอลลาร์ ขณะที่การปรับขึ้นของราคาทองคำคาดว่ายังมีกรอบที่จำกัดอยู่ โดยมีแนวต้านที่ 2,335 ดอลลาร์ ถ้าผ่านขึ้นไปได้จะมีแนวต้านแข็งแกร่งที่ 2,350 ดอลลาร์ ระยะสั้นอาจเคลื่อนไหวลักษณะ Sideways

ADVERTISMENT

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในเดือนพ.ค.จะเป็นตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐ โดยเฉพาะ CPI เดือน เม.ย.ที่จะประกาศในช่วงกลางเดือนคาดว่าอาจจะเร่งตัวสูงขึ้น จากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงสถานการณ์ในตะวันออกกลางตึงเครียดขึ้น ทำให้ตลาดอาจจะกลับมากังวลเรื่องการที่เฟดจำเป็นต้องตรึงดอกเบี้ยสูงยาวนานมากขึ้น

รวมทั้งยังต้องติดตามตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐเดือน พ.ค. ซึ่งคาดว่ามีผลต่อแนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดเช่นกัน