นักวิเคราะห์อ่านใจเฟด “หั่นดอกเบี้ย” รอยาวถึงธันวาคม

US-ECONOMY
Consumers shop at a retail chain store in Rosemead, California on December 12, 2023. US inflation slowed to a 3.1 percent annual rate in November as prices across a wide range of goods and services edged higher, but mostly in line with expectations as the consumer price index, a key figure to guage inflation, rose 0.1 percent in November, up 3.1 percent from a year ago, according to statistics released today by the US Labor Department. (Photo by Frederic J. BROWN / AFP)
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

เป็นไปตามที่ตลาดคาดหมาย สำหรับการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่เดิมคือ ระหว่าง 5.25-5.5% ด้วยสาเหตุเดิมนั่นคือเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง เฟดยังไม่มีความมั่นใจมากขึ้นว่าเงินเฟ้อจะลดลงตามเป้าหมาย 2% มีแนวโน้มว่าจะต้องใช้เวลายาวนานขึ้นกว่าที่เคยคาดไว้ก่อนจะมั่นใจมากกว่านี้เกี่ยวกับทิศทางเงินเฟ้อ

โดย เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ระบุว่า เฟดเตรียมพร้อมที่จะรักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับนี้นานเท่าที่เห็นว่าเหมาะสม

หลังจากตลาดและนักลงทุน “ลดความหวัง” ที่จะเห็นเฟดลดดอกเบี้ย ทำให้ขณะนี้ตลาดหันเหความสนใจไปยังประเด็นที่ว่ามีโอกาสหรือไม่ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย เมื่อดูจากเงินเฟ้อที่ยังร้อนแรง ซึ่งประธานเฟดได้ให้ความมั่นใจว่า ไม่มีความเป็นไปได้ที่จะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป ประเด็นนี้กลายเป็นว่าได้กระตุ้นให้ตลาดหุ้นสหรัฐวิ่งขึ้นอย่างคึกคักทั้งสามดัชนีในช่วงระหว่างวัน ก่อนจะปิดตลาดผสมผสาน โดยที่ดาวโจนส์ยังยืนในแดนบวก เพิ่มขึ้น 0.23% ส่วนเอสแอนด์พี 500 และแนสแดคปิดตลาดติดลบเล็กน้อยที่ 0.34 และ 0.33% ตามลำดับ หลังจากผิดหวังผลประกอบการบริษัทเทคโนโลยีบางแห่ง

พร้อมกันนี้ เฟดประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นไป จะลดงบดุลในส่วนที่เป็นพันธบัตรเดือนละ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ จากปกติเดือนละ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อรับประกันว่าระบบการเงินจะไม่ขาดแคลนเงินสำรองอย่างที่เคยเกิดขึ้นในปี 2019

“เดวิด เคลลี” หัวหน้านักกลยุทธ์ของเจพีมอร์แกน แอสเส็ตแมเนจเมนต์ ตั้งข้อสังเกตว่า การที่เฟดลดงบดุลในอัตราที่น้อยกว่าเดิม จากเดือนละ 6 หมื่นล้านดอลลาร์เหลือเพียง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งที่สามารถทำได้ถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณผ่อนคลายทางการเงิน และบ่งชี้ว่าเฟดไม่ต้องการตึงเกินไป สร้างความมั่นใจให้ตลาดมากขึ้นว่าจะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยอีก

Advertisment

สกอตต์ เฮลฟ์สไตน์ รองประธานอาวุโสของโกลบอล เอ็กซ์ ชี้ว่า การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่เดิม เป็นความเคลื่อนไหวที่แสดงให้เห็นถึงท่าทีของเฟดที่ต้องการ “สนับสนุนเศรษฐกิจ” เพราะการที่อัตราดอกเบี้ยมีเสถียรภาพจะช่วยให้บริษัทต่าง ๆ วางแผนการลงทุนได้ดีขึ้น ภาคธุรกิจและตลาดต้องการความคงเส้นคงวาและคาดการณ์ได้ ขณะเดียวกันท่าทีนี้ของเฟดจะผลักดันให้หุ้นดีดตัว

อย่างไรก็ตาม ประธานเฟดระบุว่า เหตุที่ลดงบดุลในอัตราที่น้อยลง ไม่ใช่เพราะต้องการเอื้อเศรษฐกิจหรือลดความเข้มงวดลง เพียงแต่ต้องการทำให้แน่ใจว่ากระบวนการลดงบดุลจะดำเนินไปอย่างราบรื่น ไม่ต้องการให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดเงินแบบเดียวกับครั้งที่แล้ว

ส่วนกรณีที่จีดีพีไตรมาสแรกเติบโตช้าลง แต่เงินเฟ้อกลับเพิ่มขึ้นมาก ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดภาวะ “เศรษฐกิจชะงักงัน” นั้น พาวเวลล์ ปฏิเสธแนวคิดดังกล่าว โดยยืนยันว่าไม่เห็นเค้าลางใด ๆ พร้อมทั้งแสดงความสงสัยว่าความคิดเรื่องนี้มาจากไหน เพราะหากวัดด้วยมาตรการบางอย่าง ขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 3% และเงินเฟ้อก็ต่ำกว่า 3% และย้ำว่าการที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 3.1% บ่งบอกสถานะเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ส่วนตลาดแรงงานก็ปรับตัวได้ดีแม้ว่าจะอยู่ในช่วงนโยบายการเงินตึงตัว เฟดจึงจับตาอย่างใกล้ชิด

จิม คารอน ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนของมอร์แกน สแตนลีย์ อินเวสเมนต์ กล่าวว่า ตลาดประเมินว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนธันวาคมปีนี้ แม้ว่าอีกหลายคนเชื่อว่าจะเริ่มในเดือนกรกฎาคม แต่คำตอบจะขึ้นอยู่กับตลาดแรงงาน หากตลาดแรงงานอ่อนตัวลง การจ้างงานลดความร้อนแรงลง เฟดอาจจะลดดอกเบี้ยเร็วขึ้น แต่หากตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง การลดดอกเบี้ยก็จะยืดเวลาออกไปเป็นเดือนธันวาคม

Advertisment

ผลประชุมเฟด ยังทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับลงต่ำกว่า 4.6% ช่วงสั้น ๆ บรรเทาความกังวลของนักลงทุนที่กลัวว่าผลตอบแทนอาจพุ่งเหนือ 5% ในปีนี้ และไปจำกัดการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่วนตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้น สะท้อนการตอบรับเชิงบวกต่อผลประชุมเฟด รวมทั้งเกิดความโล่งใจว่าเฟดจะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ย