เส้นทางสู่การเป็นสมาชิก OECD เป้าหมายใหญ่ที่ไทยกำลังพุ่งชน

OECD
แฟ้มภาพ - รัฐมนตรีและผู้แทนประเทศสมาชิก OECD เข้าร่วมประชุมประจำปี 2017 ที่สำนักงานใหญ่ OECD กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (ภาพต้นฉบับโดย ERIC PIERMONT/ AFP)

หนึ่งเป้าหมายของรัฐบาลไทยในการทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับและมีสถานะที่ดีขึ้น คือ การเร่งนำประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน 

ล่าสุด ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงในการสมัครเป็นสมาชิก OECD แล้ว เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2024 ที่สำนักงานใหญ่ OECD ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่ง “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสเข้าร่วมรายงานข่าวกระบวนการสำคัญนี้ด้วย  

OECD คืออะไร, เป็นสมาชิก OECD แล้วจะได้ประโยชน์อะไร ทำไมไทยอยากเป็นสมาชิก, มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่ไทยจะได้เข้าเป็นสมาชิก, เส้นทางกว่าจะได้เป็นสมาชิกต้องดำเนินการอีกนานเพียงใด แล้วมีอะไรที่ต้องกังวลหรือไม่ -เหล่านี้คือคำถามสำคัญเกี่ยวกับ OECD ซึ่ง “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมคำตอบมาแล้ว 

OECD คืออะไร

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เป็นองค์การระหว่างประเทศชั้นนำของโลก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1961 (พ.ศ. 2504) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันมีสมาชิก 38 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้วในยุโรปและอเมริกาเหนือ

OECD มีบทบาทนําในการกําหนดนโยบายระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การต่อต้านคอร์รัปชั่น ธรรมาภิบาล การศึกษา นวัตกรรม สิ่งแวดล้อม และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยประเทศสมาชิกจัดทํานโยบายที่เหมาะสม ตามวิสัยทัศน์ “นโยบายที่ดีกว่า เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” (Better Policies for Better Lives)

OECD แบ่งการทำงานออกเป็นคณะกรรมการเชิงเทคนิคด้านต่าง ๆ ครอบคลุมมากกว่า 20 สาขาความเชี่ยวชาญ ประเทศสมาชิกจะร่วมกันกำหนดข้อตกลง เรียกว่า “ตราสาร” (Legal Instruments) และเปิดให้ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกสามารถเลือกเข้าเป็นภาคีใดก็ได้

ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา OECD มีส่วนร่วมในการกําหนดมาตรฐานระหว่างประเทศมากกว่า 450 รายการ อาทิ อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการติดสินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย โครงการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล (PISA) และมาตรการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax)

นอกจากนี้ ในแต่ละปี OECD ยังจัดทํารายงานและการวิจัยเชิงวิเคราะห์มากกว่า 500 ฉบับ และนําเสนอข้อมูลมากกว่า 5,000 ล้าน Data Point ให้แก่สมาชิก ประเทศหุ้นส่วน รวมทั้งกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น G7, G20 และ APEC นำไปใช้ประโยชน์

OECD
ภายในสำนักงานใหญ่ OECD (ภาพโดย ประชาชาติธุรกิจ)

เส้นทางสู่การเป็นสมาชิก OECD ของไทย

ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยและ OECD มีความร่วมมือกันมายาวนาน นับตั้งแต่ไทยเข้าเป็นภาคีตราสารของ OECD ตราสารแรกเมื่อปี ค.ศ. 1981 ปัจจุบันหน่วยงานไทยมีส่วนร่วมในกลไกและโครงการต่าง ๆ ของ OECD รวม 48 โครงการ/กลไก ซึ่งรวมถึงโครงการที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จัก คือ โครงการ PISA และไทยยังเป็นภาคีตราสารทางกฎหมายของ OECD ถึง 10 ฉบับ

ณ ปัจจุบัน ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีโครงการความร่วมมือทวิภาคีกับ OECD ในรูปแบบ Country Programme โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการดําเนินโครงการระยะที่ 2 (2023-2025) ประกอบด้วยโครงการย่อย 20 โครงการ ครอบคลุมด้านธรรมาภิบาล การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

การสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD ได้รับการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) 

ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2022 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงการต่างประเทศศึกษาความพร้อมและความเป็นไปได้ในการเข้าเป็นสมาชิก OECD และประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิก

เมื่อมีมติ ครม.ดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute : TDRI) ศึกษาและวิจัยความเหมาะสมในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย ซึ่งผลการศึกษาที่ TDRI นำเสนอในเดือนกันยายน 2022 สรุปว่า ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการเข้าเป็นสมาชิก OECD แบบเต็มรูปแบบ (Full Member) มากกว่าเข้าร่วมในคณะกรรมการต่าง ๆ ในฐานะของประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก (Nonmember) 

ต่อมาในวันที่ 24-27 เมษายน 2023 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการต่างประเทศ ได้ประชุมหารือร่วมกับผู้แทน OECD เกี่ยวกับกระบวนการเข้าสู่การเป็นสมาชิกของไทย โดยผลการหารือได้ข้อสรุปว่า ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเข้าเป็นสมาชิก OECD เนื่องจากมีการพัฒนามาตรฐานภายในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และมีความร่วมมือกับ OECD หลายด้าน ซึ่ง OECD มีท่าทีเชิงบวกต่อการเข้าเป็นสมาชิกของไทย

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2023 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ไทยยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงในการสมัครเป็นสมาชิก OECD และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินการ

ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD ต่อ มาธีอัส คอร์แมนน์ เลขาธิการ OECD

ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2023 ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะ ได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจํานงสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD อย่างเป็นทางการ โดยมี มาธีอัส คอร์แมนน์ (Mathias Cormann) เลขาธิการ OECD เป็นผู้รับหนังสือแสดงเจตจำนง

ทั้งนี้ กระบวนการการเข้าเป็นสมาชิก OECD ประกอบด้วย 3 กระบวนการหลัก (มีกระบวนการย่อยมากกว่า 10 กระบวนการ) ดังนี้ (1) ประเทศที่ประสงค์เข้าเป็นสมาชิกทำการประเมินตนเองขั้นต้น (2) OECD ประเมินเพื่อเข้าเป็นสมาชิก (3) ประเทศที่ได้รับตอบรับให้สัตยาบันเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งการยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าเป็นสมาชิกอยู่ในกระบวนการแรก

กล่าวคือ จากจุดเริ่มต้น-การยื่นหนังสือแสดงเจตจํานงสมัครเข้าเป็นสมาชิก ยังเหลือหนทางอีกไกลกว่าที่ไทยจะได้เข้าเป็นสมาชิก OECD กระทรวงการต่างประเทศ และสภาพัฒน์คาดว่าจะต้องใช้เวลา 5-10 ปี 

สำหรับปัจจัยที่ OECD ใช้พิจารณาในการตอบรับสมาชิกมีอยู่ 5 ด้าน ได้แก่ (1) ความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามค่านิยม วิสัยทัศน์ และภารกิจของ OECD (2) โครงสร้างเชิงสถาบัน (3) การพัฒนาทางเศรษฐกิจ (4) ความสัมพันธ์กับ OECD และ (5) ความพร้อมทางกฎหมาย มาตรการกำกับดูแล

กองเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ อธิบายว่า กระบวนการการเข้าเป็นสมาชิก OECD เป็นกระบวนการปลายเปิด ไม่มีกรอบเวลา ไม่ใช่การเจรจา FTA และไม่มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ แต่เป็นการหารือเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีจาก OECD และพัฒนานโยบายและกฎหมายของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD ตามที่เหมาะสมกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ผลประโยชน์ และความพร้อมของไทย

ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย และคณะ ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD ต่อ มาธีอัส คอร์แมนน์ เลขาธิการ OECD
ไทยสมัคร OECD
มาธีอัส คอร์แมนน์ เลขาธิการ OECD และปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศของไทย

ความเป็นไปได้ที่ไทยจะได้เป็นสมาชิก OECD 

หลังจากยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงในการสมัครเป็นสมาชิก OECD และเข้าร่วมประชุมวาระพิเศษกับคณะมนตรี OECD แล้ว ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ในที่ประชุมวาระพิเศษของคณะมนตรี OECD มี 3 ประเทศถามถึงความคาดหวังของไทยจากการเข้าเป็นสมาชิก OECD และถามถึงอุปสรรค-ความท้าทายของประเทศไทย และมีกว่า 20 ประเทศได้ให้การสนับสนุนต่อการที่ไทยมีเจตจำนงที่จะเข้าเป็นสมาชิก OECD 

“จากสิ่งที่ OECD พูดกับพวกเราในวันนี้ มั่นใจว่าเขาจะให้การสนับสนุนเราเต็มที่ แต่ที่ยังเป็นกังวลคือภายในประเทศของเราที่จะต้องอธิบายและชี้แจง เพราะจะต้องเกิดการปฏิรูป และต้องมีการแก้ไขกฎหมายบางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับสากล จึงเป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนให้เข้าใจว่ามีความจำเป็นอย่างไรที่ไทยจะต้องเข้าเป็นสมาชิก” 

ปานปรีย์บอกว่า ได้นำเสนอให้ที่ประชุมคณะมนตรี OECD ฟังด้วยว่า รัฐบาลไทยมีความตั้งใจและเจตนารมณ์ที่ชัดเจนที่จะเข้าเป็นสมาชิก OECD ให้ได้เร็วที่สุด โดยนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยตรง และนั่งเป็นประธานเองด้วย นอกจากนั้นยังจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการอีกหลายคณะต่อไป

“แนวโน้มก็เป็นแนวโน้มที่ดี”  ปานปรีย์สรุปภาพรวมท่าทีของคณะมนตรี OECD ที่มีต่อการสมัครสมาชิกของไทย และอธิบาย “เขาเห็นแล้วว่าเรามีความตั้งใจจริง เราเป็นภาคีตราสาร 10 ตราสาร เพราะฉะนั้น เขารู้อยู่แล้วว่าเรากำลังขยับไปสู่มาตรฐานที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ”

รองนายกฯและ รมว.การต่างประเทศกล่าวอีกว่า ประเทศไทยอยู่ในระดับที่ได้รับความสนใจจากสมาชิก OECD มาก เพราะไทยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่ง OECD อยากขยายในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งไทยทำงานกับ OECD มา 42 ปีแล้ว นับตั้งแต่เข้าเป็นภาคีตราสารแรกเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ และไทยมีการติดต่อประสานงานกับ OECD ตลอดมา จนกระทั่งปี 2018 ไทยได้เริ่มความร่วมมือทวิภาคีกับ OECD ในรูปแบบ Country Programme ครั้งที่ 1 และเมื่อปี 2023 ไทยก็เริ่มทำ Country Programme ระยะที่ 2 ซึ่งถือว่าไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียน ที่มีการทำ Country Programme กับ OECD จึงมองว่ามีแนวโน้มที่ดีในการที่ไทยจะได้เข้าเป็นสมาชิก OECD

อย่างไรก็ตาม รองนายกฯและ รมว.การต่างประเทศบอกว่า ยังต้องทำงานอีกหลายขั้นตอน ส่วนเรื่องระยะเวลากว่าที่จะได้เป็นสมาชิกนั้น ขึ้นอยู่กับว่าไทยเองทำงานได้เร็วแค่ไหน ซึ่งเชื่อว่าจะทำได้เร็ว เพราะทำต่อเนื่องมานานแล้ว 

การประชุมวาระพิเศษของคณะมนตรี OECD วาระการยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าเป็นสมาชิกของไทย

เป็นสมาชิก OECD ดีอย่างไร ทำไมไทยอยากเป็น

กระทรวงการต่างประเทศให้ข้อมูลว่า การเข้าเป็นสมาชิก OECD จะให้ประโยชน์แก่ประเทศไทย 5 ข้อหลัก ดังนี้

1.ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างหลายมิติและมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล โดยเฉพาะนโยบายและกฎหมาย ครอบคลุมประเด็นเศรษฐกิจ ธรรมาภิบาล การพัฒนาทุนมนุษย์ และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

2.สร้างเสริมความสามารถด้านการแข่งขันทางการค้าและการลงทุนของไทย

3.เข้าถึงฐานข้อมูลเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น และได้รับคําปรึกษาและความช่วยเหลือทางวิชาการจาก OECD อย่างใกล้ชิด

4.สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ประเมินว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะเติบโตเพิ่มขึ้น 1.6% คิดเป็นมูลค่า 270,000 ล้านบาท และสนับสนุนให้ไทยสามารถพัฒนาจากประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลางไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง

5.สร้างภาพลักษณ์ที่ดีในเวทีโลกและส่งเสริมบทบาทที่เพิ่มขึ้นของไทยในการกําหนดนโยบายระหว่างประเทศ

มาธีอัส คอร์แมนน์ เลขาธิการ OECD และคณะประเทศไทย

ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเข้าเป็นสมาชิก OECD คือ การยกระดับมาตรฐานประเทศไทยให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้นในหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ-การค้า และความโปร่งใส ตลอดจนด้านกฎหมายที่จะยกระดับให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้น ในส่วนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า การเข้าเป็นสมาชิก OECD จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยโตขึ้น 1.6% หรือคิดเป็นมูลค่า 270,000 ล้านบาท  

“ความมั่นคงทางเศรษฐกิจจะมีมากขึ้น เพราะกลุ่มของประเทศสมาชิก OECD เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา เรามีความประสงค์ที่จะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางที่เราติดกับดักมาหลายปี และเรามีความประสงค์จะเป็น ‘ประเทศพัฒนาแล้ว’ ที่คาดว่าจะทำได้ในปี 2037 (พ.ศ. 2580) หรืออาจจะทำได้ก่อนหน้านั้นก็ได้ ถ้าเราสามารถเข้าเป็นสมาชิก OECD ได้เร็ว ก็เชื่อว่าเราจะเข้าสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้เร็วขึ้น” 

“ส่วนประโยชน์ที่จะเกิดต่อประชาชนทั่วไป คือ จะมีการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น คนไทยจะมีสถานที่ทำงานเพิ่มขึ้น การจ้างงานจะมีจำนวนมากขึ้น และ OECD ยังมีแผนในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจสีเขียว เทคโนโลยี และเอไอ ซึ่งจะช่วยในการสร้างบุคลากรของไทยให้มีศักยภาพมากขึ้นด้วย เพราะเวลานี้เป็นที่ทราบกันดีว่าไทยขาดแรงงานที่มีศักยภาพ ซึ่งการเข้าเป็นสมาชิก OECD ไทยจะต้องปฏิรูปในส่วนนี้ไปในเวลาเดียวกัน” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าว  

มาธีอัส คอร์แมนน์ เลขาธิการ OECD และปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศของไทย

ข้อกังวลและผลกระทบที่ไทยต้องตั้งรับ

อีกด้านหนึ่ง มีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการเข้าเป็นสมาชิก OECD ด้วยในเรื่องการปรับตัวตามการยกระดับกฎระเบียบต่าง ๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่สูงของ OECD

ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การสร้างความตระหนักรู้ในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2024 ผู้ประกอบการ SMEs แสดงความห่วงกังวลว่า การเข้าเป็นสมาชิก OECD จะมีการเปิดเสรีภาคบริการ การหลั่งไหลเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติที่มีเงินทุนและมาตรฐานสูง ซึ่งอาจทำให้ SMEs ไทยที่ค่อนข้างเปราะบางอยู่แล้วได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้แทนภาคเอกชนรายใหญ่ได้กล่าวเสริมความเชื่อมั่นให้กับ SMEs ว่า การเข้าเป็นสมาชิก OECD สามารถเจรจาเพื่อขอจัดทำข้อสงวนในส่วนที่ไทยยังไม่พร้อมเปิดเสรีได้ ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนก็พร้อมให้คำแนะนำและช่วยเหลือ SMEs

ผลกระทบเรื่องหนึ่งที่เป็นทั้งผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบในเวลาเดียวกัน ซึ่งมีการกล่าวถึงกันในหลายประเทศ คือ การปฏิรูประบบภาษีระหว่างประเทศ ด้วยการจัดเก็บอัตราภาษีเงินได้ธุรกิจขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) 15% เพื่อปิดช่องโหว่ทางภาษี

โดยผลกระทบด้านบวกของการปฏิรูปภาษี คือ ความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี เพิ่มความสามารถการแข่งขันของธุรกิจภายในประเทศ ป้องกันการเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติที่กระทำโดยการตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศที่ภาษีต่ำ ในอีกด้านหนึ่ง การปฏิรูปนี้จะส่งผลกระทบต่อประเทศที่เคยได้รับประโยชน์จากใช้อัตราภาษีต่ำเพื่อดึงดูดการลงทุนตั้งฐานการผลิตหรือการตั้งสำนักงานใหญ่ ทำให้ประเทศนั้นต้องสูญเสียปัจจัยด้านภาษีในการดึงดูดนักลงทุนไป

OECD
ภายในสำนักงานใหญ่ OECD (ภาพโดย ประชาชาติธุรกิจ)

อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ ตัวแทนของหอการค้าและอุตสาหกรรมเกาหลี (KCCI) ในประเทศเวียดนามแสดงความเห็นว่า การที่เวียดนามลงนามเข้าร่วมการกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) อาจบ่อนทำลายความน่าดึงดูดใจของประเทศเวียดนาม ในฐานะจุดหมายปลายทางแห่งการลงทุน

ไทยเองก็เล็งเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดจากการเก็บภาษีขั้นต่ำ 15% และมีมาตรการรองรับเพื่อให้ไทยยังดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติได้ โดย ครม.มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เสนอให้รัฐบาลจัดสรรรายได้จากการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มในสัดส่วน 50-70% ให้กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อให้ BOI ใช้ออกแบบสิทธิประโยชน์การลงทุนของบริษัทต่างชาติที่อาจเสียประโยชน์จากเกณฑ์ใหม่นี้

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) วิเคราะห์ว่า Global Minimum Tax เป็นการปฏิรูประบบภาษีระหว่างประเทศครั้งใหญ่ ประเทศไหนมีความพร้อมสามารถประกาศความชัดเจนในการเดินเกมวางระบบภาษีใหม่และนโยบายสิทธิประโยชน์การลงทุนที่สอดคล้องกันได้ก่อน จะยิ่งได้เปรียบต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนจากบริษัทข้ามชาติ

อย่างไรก็ตาม มากกว่าร้อยประเทศทั่วโลกได้ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีการปฏิรูปภาษีดังกล่าวโดยที่ยังไม่ได้สมัครเป็นสมาชิก OECD และไทยเองก็เข้าร่วมแล้ว โดยไทยเป็น 1 ใน 10 กลุ่มประเทศนำร่องที่คาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ต้นปี 2025 นี้ จึงไม่น่าจะนับว่าเรื่องนี้เป็นผลกระทบจากการเข้าเป็นสมาชิก OECD โดยตรง เพราะเกือบทั่วโลกพร้อมใจกันเข้าร่วมภาคีตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกแล้ว