
สภาพัฒน์ เผย “OECD” ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2567 โต 3.6% แนะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพิ่มประสิทธิภาพทางการคลัง รวมถึงความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าร่วมสมาชิกโออีซีดี
วันที่ 7 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จัดให้มีการประชุมหารือระดับสูงและนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)
โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในการเปิดการประชุม โดยนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้นำเสนอเกี่ยวกับข้อคิดเห็นต่อรายงานการสำรวจและประเมินสถานะเศรษฐกิจไทย ฉบับที่ 2 รวมถึงความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา
นายดนุชากล่าวว่า สำหรับผลการศึกษารายงานการสำรวจและประเมินสถานะเศรษฐกิจไทย ฉบับที่ 2 โดย OECD สามารถสรุปสาระสำคัญได้ว่า ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
ขณะที่ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีความจำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างและปฏิรูปในหลายประเด็นเพื่อช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืนและทั่วถึง
ทั้งนี้ ในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา การดำเนินนโยบายการคลังเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดและป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจถดถอยรุนแรง ซึ่งส่งผลให้หนี้สาธารณะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ดังนั้น ในระยะต่อไป แนวทางการดำเนินนโยบายจึงควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง (Fiscal Consolidation) อย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อปรับสถานะทางการคลังให้เข้าสู่ภาวะสมดุลมากขึ้น และเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลัง ขณะเดียวกันควรดำเนินการอย่างสอดรับควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายการเงินที่ยังคงต้องมุ่งเน้นต่อการลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ รวมทั้งการทยอยยกเลิกมาตรการช่วยเหลือที่ดำเนินการในช่วงของการแพร่ระบาด โดยเห็นว่าควรเหลือไว้เฉพาะมาตรการช่วยเหลือทางสังคมที่มีความจำเป็น
รายงานของ OECD ชี้ให้เห็นว่าในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวร้อยละ 3.6 โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง แม้ว่ารัฐบาลจะยกเลิกมาตรการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพและระดับหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง
เช่นเดียวกับตลาดแรงงานที่ยังฟื้นตัวได้ดี แต่พบว่ากำลังแรงงานในวัยหนุ่มสาวยังไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่จากการฟื้นตัวของตลาดแรงงานดังกล่าว ขณะที่อุปสงค์ภายนอกประเทศที่อ่อนแอส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก แต่ยังมีแรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญในการรับมือกับประเด็นความท้าทายเชิงโครงสร้างต่าง ๆ ได้แก่ การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลก รวมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แนวนโยบายจึงต้องมุ่งเน้นไปที่การยกระดับผลิตภาพการผลิต (Productivity) ซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยยกระดับรายได้ของประชาชนให้สูงขึ้นท่ามกลางการลดลงของกำลังแรงงาน
นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน ผ่านมาตรการที่สำคัญ อาทิ การผ่อนคลายข้อจำกัดในการเข้าร่วมในตลาด การดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศโดยเฉพาะภาคบริการ และการขยายการเจรจาทางการค้าเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การค้าโลกได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันต้องมุ่งเน้นการดำเนินการเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบความคุ้มครองทางสังคมอย่างเต็มรูปแบบเพื่อสนับสนุนครัวเรือนเปราะบาง ขณะที่นโยบายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม (Inclusive Growth) และลดความเหลื่อมล้ำยังคงมีความจำเป็น แม้ว่าการกระจายรายได้ของไทยจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงปี 2530 เป็นต้นมา เนื่องจากแรงงานมากกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนแรงงานทั้งหมดยังคงเป็นแรงงานนอกระบบ และไม่ได้รับการคุ้มครองจากระบบประกันสังคม
สำหรับการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) จำเป็นต้องมีการดำเนินนโยบายอย่างจริงจัง ซึ่งต้องอาศัยทั้งการใช้มาตรการด้านการกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ควบคู่ไปกับ
การบังคับใช้กฎระเบียบที่มีความเข้มข้น ขณะเดียวกันยังจำเป็นที่จะต้องให้ความช่วยเหลือแบบมุ่งเป้าโดยเฉพาะเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่จะได้รับผลกระทบจากช่วงของการเปลี่ยนผ่าน และการทยอยปรับลดการดำเนินมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานของภาครัฐลง นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนทั้งจากภายในและจากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม