
คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : สมปอง แจ่มเกาะ
อีกไม่กี่วันก็จะสิ้นปีแล้ว หรือหากนับกันจริง ๆ ก็อีกสัก 3 สัปดาห์เห็นจะได้
ช่วงนี้คุยกับใคร ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ ต่างก็ส่ายหน้าพร้อมถอนหายใจ บ่นอุบว่าเหนื่อยเหลือใจ
ทั้งชาวบ้านร้านตลาด คนทำมาค้าขาย ต่างก็บ่นว่าทำมาหากินลำบาก ค้าขายฝืดเคือง
ส่วนมนุษย์เงินเดือน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ หรือลูกจ้างบริษัทเอกชน ต่างก็บอกว่าชักหน้าไม่ถึงหลัง ต่างต้องกระเหม็ดกระแหม่ ใช้จ่ายอย่างประหยัด
เรื่องนี้เรา ๆ ท่าน ๆ เอาตัวเองวัดได้ ไม่ต้องอื่นไกล รายจ่ายนับวันมีแต่จะเพิ่ม แต่รายได้ยังเท่าเดิม แค่นี้ก็แย่แล้ว หากไม่ไหวจริง ๆ ก็ต้องพึ่งโรงรับจำนำบ้าง จำนำทะเบียนรถบ้าง กู้เงินนอกระบบบ้าง แก้ขัด
เอาเข้าจริง ๆ ผู้ประกอบการในหลาย ๆ ธุรกิจต่างก็ยอมรับว่า ตอนนี้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมไม่ดีเท่าที่ควร กำลังซื้อที่ยังอ่อนแรง หนี้ครัวเรือนสูง ขณะที่ราคาพลังงานและค่าสาธารณูปโภคที่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น ไม่มั่นใจในอนาคต และชะลอการจับจ่ายตามมา
ความเปราะบางนี้ไม่ใช่เพิ่งจะเกิด แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ตั้งแต่หลังการเลือกตั้งที่กว่าจะมีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศได้ต้องใช้เวลานานกว่า 3 เดือน
ถึงวันนี้เศรษฐกิจในภาพรวมก็ยังไม่สดใส กำลังซื้อติดหล่มอย่างหนัก ธุรกิจการค้ายอดขายกู่ไม่กลับ
โค้งสุดท้ายนี้ แม้จะเป็นหน้าขายสำคัญ แต่หลาย ๆ บริษัทก็ใช้งบฯการตลาดเท่าที่จำเป็น เพื่อประคับประคอง มากกว่าที่จะหวังให้เติบโต
หลายบริษัทมองแล้วว่า หากทุ่มงบฯไปก็คงไม่คุ้ม สู้ขอตุนกระสุนไว้ยิงปีหน้าจะดีกว่า
หากย้อนกลับไปดูตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ที่สภาพัฒน์ฯประกาศเมื่อ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็น่าสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นและอนาคตในวันข้างหน้าได้ไม่น้อย
สภาพัฒน์ระบุว่า ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 1.5% เทียบกับไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 1.8%
โดยเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 3 ขยายตัวจากไตรมาส 2 เพียง 0.8% รวม 9 เดือนขยายตัว 1.9% และคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้ว่าจะขยายตัว 2.5% จากปี 2565 ที่ขยายตัว 2.6%
ส่วนปีหน้าคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.7-3.7% มีปัจจัยสนับสนุนจากการกลับมาขยายตัวของการส่งออก การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว
ฟังปัจจัยบวกแล้ว มาฟังข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงบ้าง หลัก ๆ จะเป็นความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณ ในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งคาดว่างบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 จะสามารถเริ่มเบิกจ่ายได้ในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม หรือล่าช้าออกไปจากปกติประมาณ 7 เดือน ซึ่งจะทำให้การเบิกจ่ายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ในช่วงไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ของปีงบประมาณ 2567
ขณะที่ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อย ธุรกิจเอสเอ็มอี และลูกหนี้ภาคเกษตรกรรม ถือเป็นข้อจำกัดที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของความต้องการภายในประเทศและการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวม
รวมถึงผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อผลผลิตภาคเกษตร จากสภาวะเอลนีโญ ที่คาดจะสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2567 โดยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้ปริมาณน้ำฝนมีแนวโน้มต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ
ที่สำคัญ ความเสี่ยงจากการชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก จากความเสี่ยงสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสงครามอิสราเอล-ฮามาส ความยืดเยื้อของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน การกีดกันทางการค้าสหรัฐ-จีน ความผันผวนของราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์
อย่างนี้เห็นทีว่าปีหน้าที่กำลังจะมาถึงก็ยังมีอุปสรรคอีกมากมายและไม่ราบรื่นเท่าที่ควร