ไทยสมัครสมาชิก OECD อย่างเป็นทางการแล้ว หวังยกระดับประเทศ-ช่วยเศรษฐกิจโต 1.6%

ไทยสมัคร OECD
นายมาธีอัส คอร์แมน เลขาธิการ OECD และนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย

ไทยสมัครสมาชิก OECD แล้ว ปานปรีย์นำคณะยื่นอย่างเป็นทางการ หวังการเข้าเป็นสมาชิก OECD ช่วยยกระดับประเทศไทยรอบด้าน และช่วยเศรษฐกิจโต 1.6% หรือประมาณ 270,000 ล้านบาท 

วันที่ 16 เมษายน 2024 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสว่า นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะ ได้เข้ายื่นหนังสือแสดงเจตจํานงสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา” (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) แล้ว ที่สำนักงานใหญ่ OECD ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมี นายมาธีอัส คอร์แมนน์ (Mathias Cormann) เลขาธิการ OECD เป็นผู้รับหนังสือแสดงเจตจำนง

หลังยื่นหนังสือแสดงเจตจํานงสมัครเข้าเป็นสมาชิกแล้ว นายปานปรีย์และคณะประเทศไทยได้เข้าร่วมการประชุมวาระพิเศษของคณะมนตรี OECD เพื่อกล่าวนำเสนอเจตจำนงในการเข้าเป็นสมาชิก OECD และตอบข้อซักถามของที่ประชุม ซึ่งนายปานปรีย์ได้กล่าวแสดงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD และความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานระดับสูงของ OECD   

นายปานปรีย์กล่าวต่อที่ประชุมตอนหนึ่งว่า ไทยและ OECD มีความร่วมมือกันมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ไทยเข้าเป็นภาคีตราสารของ OECD ตราสารแรกเมื่อปี ค.ศ. 1981 นับแต่นั้นมา แนวปฏิบัติอันเป็นเลิศและมาตรฐานของ OECD ที่ไทยได้นำมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ความยั่งยืน และธรรมาภิบาลของประเทศไทย

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร กล่าวเพิ่มเติมกับผู้สื่อข่าวว่า ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเข้าเป็นสมาชิก OECD คือ การยกระดับมาตรฐานประเทศไทยให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้นในหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ-การค้า และความโปร่งใส ตลอดจนด้านกฎหมายที่จะยกระดับให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้น ในส่วนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า การเข้าเป็นสมาชิก OECD จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยโตขึ้น 1.6% หรือคิดเป็นมูลค่า 270,000 ล้านบาท  

“ความมั่นคงทางเศรษฐกิจจะมีมากขึ้น เพราะกลุ่มของประเทศสมาชิก OECD เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา และเรามีความประสงค์ที่จะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางที่เราติดกับดักมาหลายปี และเรามีความประสงค์จะเป็น ‘ประเทศพัฒนาแล้ว’ ที่คาดว่าจะทำได้ในปี 2037 (พ.ศ. 2580) หรืออาจจะทำได้ก่อนหน้านั้นก็ได้  ถ้าเราสามารถเข้าเป็นสมาชิก OECD ได้เร็ว ก็เชื่อว่าเราจะเข้าสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้เร็วขึ้น”

“ส่วนประโยชน์ที่จะเกิดต่อประชาชนทั่วไป คือ จะมีการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น คนไทยจะมีสถานที่ทำงานเพิ่มขึ้น การจ้างงานจะมีมากขึ้น และ OECD ยังมีแผนในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจสีเขียว เทคโนโลยี และเอไอ ซึ่งจะช่วยในการสร้างบุคลากรของไทยให้มีศักยภาพมากขึ้นด้วย เพราะเวลานี้เป็นที่ทราบกันดีว่าไทยขาดแรงงานที่มีศักยภาพ ซึ่งการเข้าเป็นสมาชิก OECD ไทยจะต้องฏิรูปในส่วนนี้ไปในเวลาเดียวกัน” 

นายปานปรีย์ให้ข้อมูลในส่วนการหารือกับคณะมนตรี OECD ว่า ในที่ประชุมมี 3 ประเทศถามถึงความคาดหวังของไทยจากการเข้าเป็นสมาชิก OECD และถามถึงอุปสรรค-ความท้าทายของประเทศไทย และมีกว่า 20 ประเทศได้ให้การสนับสนุนต่อการที่ไทยมีเจตจำนงที่จะเข้าเป็นสมาชิก OECD 

“จากสิ่งที่ OECD พูดกับพวกเราในวันนี้ มั่นใจว่าเขาจะให้การสนับสนุนเราเต็มที่ แต่ที่ยังเป็นกังวลคือภายในประเทศของเราที่จะต้องอธิบายและชี้แจง เพราะจะต้องเกิดการปฏิรูป และต้องมีการแก้ไขกฎหมายบางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับสากล จึงเป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนให้เข้าใจว่าทำไมถึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าเป็นสมาชิก” 

“ผมได้บอกกับทางคณะมนตรีของ OECD ว่า วันนี้เราแสดงความตั้งใจและแสดงเจตนารมน์ที่ชัดเจน โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานของคณะกรรมการเพื่อจะขับเคลื่อนเรื่องต่าง ๆ เพื่อเข้าสู่การเป็นสมาชิก OECD ได้เร็วที่สุด” 

ส่วนเรื่องระยะเวลากว่าที่ไทยจะได้เป็นสมาชิก OECD นั้น นายปานปรีย์กล่าวว่า ต้องใช้เวลาหลายปี เพราะมีขั้นตอนการดำเนินการอีกหลายขั้นตอน และขึ้นอยู่กับว่าไทยจะสามารถทำตามเงื่อนไขต่าง ๆ ได้เร็วแค่ไหน ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ได้ทำงานอย่างเต็มที่อยู่แล้ว 

รองนายกฯและ รมว.ต่างประเทศกล่าวอีกว่า ประเทศไทยอยู่ในระดับที่ได้รับความสนใจจากสมาชิก OECD มาก เพราะไทยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่ง OECD อยากขยายในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้ง ไทยทำงานกับ OECD มา 42 ปีแล้ว นับตั้งแต่เข้าเป็นภาคีตราสารแรกเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ และไทยมีการติดต่อประสานงานกับ OECD ตลอดมา จนกระทั่งปี 2018 ไทยได้เริ่มความร่วมมือทวิภาคีกับ OECD ในรูปแบบ Country Programme ครั้งที่ 1 และเมื่อปี 2023 ไทยก็เริ่มทำ Country Programme ระยะที่ 2 ซึ่งถือว่าไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่มีการทำ Country Programme กับ OECD จึงมองว่ามีแนวโน้มที่ดีในการที่ไทยจะได้เข้าเป็นสมาชิก OECD 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เป็นองค์การระหว่างประเทศชั้นนำของโลก องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เป็นองค์การระหว่างประเทศชั้นนำของโลก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1961 (พ.ศ. 2504) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันมีสมาชิก 38 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้วในยุโรปและอเมริกาเหนือ 

OECD มีบทบาทนําในการกําหนดนโยบายระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การต่อต้านคอร์รัปชั่น ธรรมาภิบาล การศึกษา นวัตกรรม สิ่งแวดล้อม และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยประเทศสมาชิก จัดทํานโยบายที่เหมาะสมตามวิสัยทัศน์ “นโยบายที่ดีกว่า เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” (Better Policies for Better Lives)

OECD แบ่งการทำงานออกเป็นคณะกรรมการเชิงเทคนิคด้านต่าง ๆ ครอบคลุมมากกว่า 20 สาขาความเชี่ยวชาญ ประเทศสมาชิกจะร่วมกันกำหนดข้อตกลงเรียกว่า “ตราสาร” (Legal Instruments) และเปิดให้ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกสามารถเลือกเข้าเป็นภาคีใดก็ได้

ในช่วง 60 กว่าปีที่ผ่านมา OECD มีส่วนร่วมในการกําหนดมาตรฐานระหว่างประเทศมากกว่า 450 รายการ อาทิ อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการติดสินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย โครงการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล (PISA) และมาตรการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax)

นอกจากนี้ ในแต่ละปี OECD ยังจัดทํารายงานและการวิจัยเชิงวิเคราะห์มากกว่า 500 ฉบับ และนําเสนอข้อมูลมากกว่า 5,000 ล้าน Data Point ให้แก่สมาชิก ประเทศหุ้นส่วน รวมทั้งกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น G7, G20 และ APEC นำไปใช้ประโยชน์