ดอลลาร์อ่อนค่า หลังสหรัฐเผยดัชนี CPI ต่ำกว่าคาด

ดอลลาร์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 13-17 พฤษภาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (13/5) ที่ระดับ 36.80/81บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/5) ที่ระดับ 36.72/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์ได้แรงหนุนจากความเห็นของนางลอรี โลแกน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัสซึ่งระบุว่า

ยังไม่ชัดเจนว่านโยบายการเงินมีความเข้มงวดเพียงพอหรือไม่ที่จะลดอัตราเงินเฟ้อลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% และยังเร็วเกินไปที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ด้านนายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตากล่าวว่า เฟดยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ แม้กำหนดเวลาและขอบเขตของการปรับลดยังไม่แน่นอนก็ตาม

นอกจากนี้ นายออสเตน กูลส์บี ประธานเฟดสาขาชิคาโกกล่าวว่า เขาเชื่อว่านโยบายการเงินของสหรัฐค่อนข้างเข้มงวด ขณะที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าเฟดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก

โดยนายพาวเวลล์กล่าวในการประชุมประจำปีของสมาคมธนาคารต่างชาติที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ว่า เขาไม่คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก แม้ตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงกว่าคาดก็ตาม พร้อมกับกล่าวว่า เงินเฟ้อยังคงปรับตัวลงล่าช้ากว่าที่คาด ซึ่งจะทำให้เฟดต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกระยะหนึ่ง

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ทั่วไปซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.2% ในเดือน เม.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 1.8% ในเดือน มี.ค. อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบรายเดือน ดัชน่ PPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือน เม.ย.สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% หลังจากปรับตัวลง 0.1% ในเดือน มี.ค. ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI)

ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.4% ในเดือน เม.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.1% ในเดือน มี.ค. อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือน เม.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% หลังจากปรับตัวลง 0.1% ในเดือน มี.ค. ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า

ADVERTISMENT

ดัชนีราคาผู้บริโภค CPI ทั่วไปซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้นที่ระดับ 3.4% ในเดือน เม.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากที่เพิ่มขึ้นที่ระดับ 3.5% ในเดือน มี.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวขึ้นที่ระดับ 0.3% ในเดือน เม.ย. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.4% หลังจากที่เพิ่มขึ้นที่ระดับ 0.4% ในเดือน มี.ค. ดัชนี CPI เดือน เม.ย.ที่ออกมาต่ำกว่าคาดเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐเริ่มเข้าสู่ช่วงขาลงในไตรมาส 2 ปีนี้ และทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ย. และปรับลดอีกครั้งในเดือน ธ.ค.

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับลดประมาณการ GDP ไทยปี 2567 มาที่ 2.2-2.7% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิม หลังภาคการส่งออกมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้เพียง 0.5-1.5% ตามทิศทางการค้าโลกที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ขณะเดียวกันยังปรับลดประมาณการเงินเฟ้อมาที่ 0.5-1%

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI0 เดือน เม.ย. 67 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23-30 เม.ย. 67 โดยดัชนีอยู่ที่ระดับ 55.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 55.2 ในเดือน มี.ค. 67 ทางด้านนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-12 พ.ค. 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยประมาณ 13,157,997 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่อเที่ยวต่างชาติแล้วประมาณ 631,249 ล้านบาท

โดยจำนวนนักท่อเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน จำนวน 2,853,844 คน มาเลเซีย จำนวน 1,710,560 คน รัสเซีย จำนวน 805,026 คน เกาหลีใต้ จำนวน 731,915 คน และอินเดีย จำนวน 722,195 คน สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติชาวเวียดนามเป็นกลุ่มที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว โดยเพิ่มขึ้น 67.02% จากสัปดาห์ก่อนหน้า ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวเวียดนามขยับขึ้นมาเป็นกลุ่มที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นอันดับที่ 4 จากเดิมในอันดับที่ 9 ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวตลาดอื่น ๆ ในเกือบทุกกลุ่มยังคงมีจำนวนลดลง จากการอยู่ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (LowSeason)

โดยนักท่องเที่ยวทั้งกลุ่มตลาดระยะไกล (Long Haul) และกลุ่มตลาดระยะใกล้ (Short haul) ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 19.50% และ 9.70% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์ถัดไป คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาทรงตัว แต่ยังคงมีปัจจัยส่งเสริมการเดินทาง ได้แก่ การมีมาตรการ Ease of traveling ของรัฐบาล ช่วยเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการเดินทางสู่ไทย อาทิ การลงนามยกเว้นวีซ่าระหว่างไทย-จีนที่มีผลช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว เพิ่มการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง และกระตุ้นให้สายการบิน เพิ่มจำนวนเที่ยวบิน รวมทั้งการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง หรือวีซ่าฟรี ให้แก่นักท่องเที่ยวอินเดีย ไต้หวันและคาซักสถาน

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.03-36.83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (17/5) ที่ระดับ 36.22/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันจันทร์ (13/5) ที่ระดับ 1.0768/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/5) ที่ระดับ 1.0765/69 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 47.1 ในเดือน พ.ค. จากระดับ 42.9 ในเดือน เม.ย. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 46.4 ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 10 โดยได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์การบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือน มิ.ย.

ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยในวันอังคาร (14/5) ว่า อัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีขยับขึ้นเล็กน้อยแตะที่ 2.4% ในเดือน เม.ย. ซึ่งเท่ากับข้อมูลเบื้องต้น ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนี ซึ่งได้รับการปรับให้สอดคล้องกับประเทศอื่น ๆ ในสหภาพยุโรป (EU) ปรับตัวขึ้น 2.3% ในเดือน มี.ค.เมื่อเทียบรายปีในคืนวันพุธ (15/5) ทางยูโรโซนได้มีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 2.2% เมื่อเทียบรายปี และเท่ากับในเดือนมีนาคม และดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 0.5% เมื่อเทียบรายเดือน และเท่ากับในเดือนมีนาคม และมีการเปิดเผยการเปลี่ยนแปลงการจ้างงานอยู่ที่ระดับ 0.3% เมื่อเทียบรายไตรมาส และตัวเลขดัชนีจีดีพีอยู่ที่ระดับ 0.4% เมื่อเทียบรายปี ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0764-1.0894 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (17/5) ที่ระดับ 1.0843/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดวันที่ (13/5) ที่ระดับ 155.87/81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/5) ที่ระดับ 155.72/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเงินเยน ปรับตัวอ่อนค่าแตะกรอบกลางของ 156 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ในวันอังคาร (14/5) เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐจะอยู่ในระดับสูงยาวนานกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้ หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กระบุเมื่อวันจันทร์ (13/5) ว่า การคาดการณ์เงินเฟ้อผู้บริโภคสำหรับช่วงหนึ่งปีข้างหน้าปรับตัวขึ้นในเดือน เม.ย.จากเดือนก่อนหน้า

นอกจากนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แนะนำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก โดยดำเนินการในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป หลังจากที่ BOJ ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี ในการประชุมเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการ BOJ ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสู่ระดับ 0 ถึง 0.1% จากระดับ -0.1% และประกาศยุตินโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี โดยที่ผ่านมา BOJ ได้ใช้นโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนเพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวผ่านการซื้อและขายพันธบัตรดังกล่าว นอกจากนี้ BOJ ได้ประกาศยุติการซื้อกองทุน ETF และ J-REITS ซึ่งเป็นกองทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่น และจะค่อย ๆ ปรับลดการซื้อตราสารหนี้เอกชน

โดยวางแผนว่าจะยุติการซื้อตราสารหนี้เอกชนภายในระยะเวลา 1 ปี อย่างไรก็ดี BOJ จะยังคงเข้าซื้อพันธบัตรของรัฐบาลญี่ปุ่นในวงเงินเท่ากับในช่วงที่ผ่านมา การดำเนินการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า BOJ ได้ตัดสินใจถอนนโยบายการซื้อสินทรัพย์และการผ่อนคลายนโยบายการเงินซึ่งดำเนินการเป็นเวลานานหลายสิบปี ซึ่งนโยบายเหล่านี้มีเป้าหมายที่จะพยุงเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้รอดพ้นจากภาวะเงินฝืด ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 153.57-156.75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (17/5) ที่ระดับ 155.88/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ