เตือนประกันอีวี “ระเบิดเวลา” ซ่อมแพงเคลมพุ่ง-มือสองราคาดิ่ง

EV

สมาคมประกันวินาศภัยไทยเตือนสงครามราคาประกันอีวี หวั่น “ระเบิดเวลา” ลูกใหม่ธุรกิจประกัน ชี้โจทย์ใหญ่ “รถอีวี” ราคาปรับลงเร็วกระทบทุนประกัน อัตราเคลมความเสียหายพุ่งแตะ 90-100% เสี่ยงบริษัทประกันไม่เหลือกำไร ชี้ปัญหา “ค่าซ่อม-อะไหล่” แพงกว่ารถสันดาป 50-60%

ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย ในฐานะนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ถือเป็นความเสี่ยงภัยใหม่ต่อธุรกิจประกันวินาศภัยในประเทศไทยในช่วงเวลานี้ จากการเติบโตขึ้นอย่างชัดเจนของจำนวนรถอีวีในประเทศไทย ซึ่งอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยกำลังเผชิญปัญหาเรื่องของค่าซ่อมที่แพง ซึ่งจะสังเกตได้ว่าในขณะนี้มีหลายบริษัทเริ่มมีความระมัดระวัง และชะลอการรับประกันภัยรถอีวี

ขณะนี้สมาคมได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาเรื่องรถอีวี และพยายามออกผลการวิเคราะห์เตือนไปยังสมาชิกให้มีการระมัดระวังในการรับประกัน จากข้อมูลตอนนี้ในสหรัฐอเมริกาก็เผชิญวิกฤตการณ์จ่ายค่าสินไหมทดแทนของรถอีวีที่สูงมาก ขณะเดียวกันเห็นปัญหาค่าสินไหมในประเทศจีนและยุโรปในลักษณะเดียวกัน เพราะฉะนั้นในประเทศเหล่านั้นล้วนแต่มีความระมัดระวังในการรับประกันภัยรถอีวีอย่างมาก ถึงขนาดพูดกันว่า ถ้าธุรกิจประกันไม่มีความระมัดระวัง การประกันรถอีวีจะกลายเป็น Pandemic ยุคใหม่ของธุรกิจประกันวินาศภัย

“สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจนในประเทศจีน คือ สถานที่เก็บซากรถอีวีเก่าที่เกิดขึ้นจำนวนมาก เพราะว่ารถอีวีแทบไม่มีราคารถมือสองที่ยืนยาวเหมือนรถสันดาป ที่ใช้นานเป็น 10 ปี ราคารถมือสองก็ยังอยู่ แต่ถ้าเป็นรถอีวีพอผ่านไป 5-7 ปี มูลค่ารถแทบจะไม่มีราคา และจะกลายเป็น “ระเบิดเวลา” สำหรับธุรกิจประกันวินาศภัยในอนาคต หากไม่ระมัดระวังอย่างเพียงพอ” นายกสมาคมประกันฯกล่าว

ดร.สมพรกล่าวว่า ปัจจุบันสมาคมขอให้สมาชิกนำเสนอวิธีการขายเบี้ยประกันรถอีวีที่มีความเหมาะสม ตอนนี้ค่าเบี้ยที่เหมาะสม อ้างอิงจากข้อมูลในสหรัฐ, ยุโรป, จีน และญี่ปุ่น เฉลี่ยแล้วเบี้ยจะแพงกว่ารถสันดาปประมาณ 30-40% ในขณะที่สิงคโปร์จะแพงกว่า 50% อย่างไรก็ตาม สมาคมจะพยายามมอนิเตอร์อัตราเคลมสินไหมของรถอีวีอย่างใกล้ชิด

ทิพยฯ ลดพอร์ตประกัน EV

ดร.สมพรกล่าวว่า สำหรับบริษัททิพยประกันภัย ปี 2567 ตั้งเป้าเบี้ยรับรวมใกล้ระดับ 4 หมื่นล้านบาท เติบโต 6.5% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) แต่พอร์ตประกันรถยนต์ตั้งเป้าเติบโตแค่ 3% เนื่องจากปีนี้ให้นโยบายผู้บริหารว่าต้องลดพอร์ตงานรับประกันรถอีวีลง รวมถึงลดรับประกันรถซ่อมศูนย์ด้วย โดยหันไปขยายงานส่วนอื่นแทน เช่น งานรับประกันรถซ่อมอู่ทั่วไป และงานรับประกันรถประเภท 2+, 3+

ADVERTISMENT

“สาเหตุที่ลดพอร์ตรถอีวี เพราะสถานการณ์การแข่งขันในตลาดค่อนข้างรุนแรงมาก ตอนนี้มีบริษัทประกันวินาศภัยหลายแห่งที่กลัวตกขบวน เข้ามาแข่งดัมพ์ราคาเบี้ยลงมามาก เพราะรถอีวีส่วนใหญ่เป็นรถใหม่ เหมือนกับรถซ่อมห้าง แต่ละบริษัทก็ไปแข่งเสนอราคาให้กับค่ายรถ เป็นงานเหมาทีละเยอะ ๆ ให้ค่ายรถไปทำแคมเปญให้ลูกค้า ซึ่งบริษัทประกันเข้าไปรับประกันใหม่ ๆ จะยังไม่เห็นอัตราการเคลมสินไหม จึงเข้าใจว่ายังพอมีกำไร แต่ขณะนี้มีสัญญาณที่ชัดเจนว่าอัตราความเสียหายของเคลมสินไหม (Loss Ratio) ของรถอีวีในตลาดเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แตะระดับ 90-100% คือใกล้ขาดทุนแล้ว”

แข่งเดือดเคลมอีวีพุ่ง 100%

นายวาสิต ล่ำซำ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.เมืองไทยประกันภัย ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยไทย (TGIA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเติบโตของรถอีวีในประเทศไทยเริ่มในช่วง 2 ปีมานี้จากที่มีผู้ผลิตรถจีนเข้ามาจำนวนมาก ตั้งแต่ยี่ห้อ BYD, AION, CHANGAN เป็นต้น ซึ่งรูปแบบการทำธุรกิจของผู้ผลิตจีนเป็นลักษณะการแถมประกันภัยปีแรก บางผู้ผลิตเข้ามาช่วงโปรโมชั่นของงานมอเตอร์เอ็กซ์โป และงานมอเตอร์โชว์ มีการแถมประกันภัยถึง 2 ปีก็มี

ADVERTISMENT

เพราะฉะนั้น ลักษณะของการทำประกันภัยยังผ่านรูปแบบการเป็นพาร์ตเนอร์กับผู้ผลิต เรียกว่าแทบทุกยี่ห้อมีการแถมประกันภัยปีแรกป้ายแดง ยกเว้น TESLA ที่ไม่ได้แถมประกัน แต่จะมีรายชื่อบริษัทประกันภัยไว้ให้ลูกค้าเลือก ซึ่งคัดเลือกมาแล้วที่โค้ดค่าเบี้ยประกันให้ถูกสุด ฉะนั้นภาพโดยรวมของการแข่งขันในตลาดคือ ทุกบริษัทประกันภัยพยายามแข่งเข้าไปอยู่ในรายชื่อของผู้ผลิตรถอีวีให้ได้ก่อน เพราะทำให้ต้นทุนการขายประกันต่ำหรือเป็นศูนย์ เนื่องจากค่ายรถซื้อเหมาไปเป็นเบี้ยแถมให้ลูกค้า ทำให้ประกันต้นทุนการขายต่ำก็แข่งตัดราคากันได้

ทั้งนี้ ช่วง 2 ปีมานี้พบว่า อัตราเคลมสินไหม (Loss Ratio) ของรถอีวีค่อนข้างสูง แตะระดับ 80-90% บางบริษัทอาจจะสูงเกิน 100% ไปแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะค่าใช้จ่ายซ่อมทั่วไป ซึ่งแพงกว่ารถยนต์สันดาปค่อนข้างมาก แต่ไม่ใช่ทุกยี่ห้อ ทั้งนี้ พบว่ารถจีนบางยี่ห้อ ค่าซ่อมกันชนหน้า แพงกว่ารถยนต์สันดาปถึง 3 เท่า ส่วนค่าใช้จ่ายแบตเตอรี่มีส่วนบ้าง แต่ยังไม่มาก

รถอีวีปี 2 เจอเบี้ยแพงขึ้น

นายวาสิตกล่าวว่า อย่างไรก็ดี ในแง่ของเบี้ยประกันรถอีวีจะสูงกว่าเบี้ยประกันรถสันดาป ประมาณ 15-20% ขณะที่ปัจจุบันผู้รับประกันรถอีวี ส่วนใหญ่เป็นบริษัทท็อป 10 ในอุตสาหกรรมประกันวินาศภัย ที่คงเห็นแนวโน้มการใช้รถอีวีจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ธุรกิจประกันจึงไม่อยากตกขบวน และมีบางบริษัทที่แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนต้องการเป็นเจ้าตลาดรถอีวี อย่างไรก็ตาม สมาคมได้พยายามเตือนให้ทุกบริษัทประกันภัยมีความระมัดระวังในการเข้าไปรับประกันรถอีวีแล้ว สำหรับการแข่งขันการรับประกันภัยปีที่ 2 ที่เป็นการขายประกันภัยตามช่องทางปกติ คือผ่านตัวแทน-นายหน้า เพราะมีต้นทุนการขายเพิ่มขึ้น อาทิ ค่าคอมมิชชั่น 18%

“ยกตัวอย่าง รถอีวีป้ายแดงปีแรก เบี้ยประกัน 20,000 บาท (ไม่มีค่าคอมมิชชั่น) แต่พอปี 2 บริษัทประกันภัยจะคิดเบี้ยต่ำกว่านั้นลำบาก เพราะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น จึงอาจจะต้องโค้ดเบี้ยเพิ่มเป็น 25,000-28,000 บาท”

นายวาสิตกล่าวว่า ปัจจุบันมีรถอีวีที่รับประกันในประเทศไทย อยู่ประมาณ 120,000-130,000 คัน แต่ถ้านับรวมรถมอเตอร์ไซค์อีวี จะมีจำนวนทั้งสิ้น 150,000 คัน คิดเป็นเบี้ยรับรวมจากพอร์ตรถอีวีทั้งระบบ 4,000-5,000 ล้านบาท โดยเป้าหมายปี 2567 เมื่อตอนต้นปีตั้งเป้าว่าจะมียอดขายรถอีวีใหม่จำนวน 130,000-140,000 คัน แต่ผ่านมา 1 ไตรมาส และผ่านงานมอเตอร์โชว์ไปแล้ว เริ่มไม่แน่ใจ เพราะยอดขายอาจจะน้อยลง

จากภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาและการเข้มงวดปล่อยสินเชื่อของไฟแนนซ์ ดังนั้นคาดว่ายอดขายรถอีวีใหม่ปีนี้น่าจะลดเหลือแค่ 100,000 คัน แต่ยังเติบโตจากปีที่แล้วที่มียอดขายรถอีวีใหม่ 70,000 คัน ทั้งอาจกดดันการเติบโตของยอดขายรถยนต์ทั้งระบบในปีนี้ชะลอตัวด้วย

“ถ้าเศรษฐกิจยิ่งซบเซาลง ก็จะยิ่งฉุดกำลังซื้อ แต่ยังมีแรงจูงใจจากรัฐบาลที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอยู่ และผู้ผลิตรถอีวีเริ่มเข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย คาดว่าครึ่งปีหลังจะมีการผลิตรถอีวีในประเทศไทยได้มากขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยอาจจะลดแลกแจกแถมมากกว่าเดิม” นายวาสิตกล่าว

กรุงเทพประกันภัย หั่นแชร์

ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพประกันภัย (BKI) กล่าวว่า ปีนี้บริษัทตั้งเป้าเบี้ยรับรวม 32,500 ล้านบาท เติบโต 8% YOY มาจากเบี้ยประกันที่ไม่ใช่รถยนต์ 18,900 ล้านบาท และที่เหลือ 13,600 ล้านบาท มาจากเบี้ยประกันรถยนต์ ซึ่งส่วนนี้มาจากเบี้ยรถอีวีประมาณ 350 ล้านบาท จำนวนรถ 14,000 คัน

นโยบายการรับประกันรถอีวีของบริษัท พยายามใช้ข้อมูลตลาดสากลเป็นพื้นฐานอ้างอิงกำหนดเบี้ย และจัดสรรประกันภัยต่อในรูปแบบโควตาแชร์ เนื่องจากการรับประกันรถอีวีในไทยยังมีสถิติไม่มากพอ

โดยสิ้นปี 2566 พอร์ตรับประกันรถอีวีของบริษัทมีมาร์เก็ตแชร์ 10% ของตัวเลขรถอีวีที่จดทะเบียน ประกอบด้วย BYD, MG, ORA GOOD CAT, BMW, Tesla, Audi, Porsche แต่ปีนี้คาดว่าจะลดสัดส่วนมาร์เก็ตแชร์ลงเหลือ 7% เนื่องจากบริษัทจะไม่เข้าร่วมแคมเปญเบี้ยประกันคงที่ 2 ปีของ BYD เพราะกังวลว่าจะไม่เป็นประโยชน์ในระยะยาว และไม่สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทด้วย

“นโยบายของบริษัท คือการรับประกันภัยอย่างระมัดระวัง เนื่องจากแคมเปญเบี้ยคงที่ 2 ปี ไม่เป็นไปตามหลักบริหารความเสี่ยงของบริษัท อย่างไรก็ดี เชื่อว่าจะไม่กระทบเป้าหมายพอร์ตเบี้ยประกันรถยนต์ในปีนี้ที่จะโตระดับ 10% เนื่องจากการขายเบี้ยอีวีปีแรก ลูกค้าคือค่ายรถหรือดีลเลอร์ ที่ซื้อไปทำแคมเปญแถมฟรี แต่การซื้อเบี้ยประกันอีวีปีที่ 2 ผู้ใช้รถจะซื้อจากโบรกเกอร์หรือตัวแทน ฉะนั้นเขาจะเลือกบริษัทประกันภัยที่มั่นคงในการดูแลรับผิดชอบ เพราะผ่านประสบการณ์จากบริษัทที่ล้มหายตายจากไปแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทก็จะได้งานจากตรงนี้มากขึ้น”

เทียบค่าซ่อมรถอีวี VS สันดาป

ขณะที่นายอรัญ ศรีว่องไทย ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวเสริมว่า ในรอบปีที่ผ่านมา บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE ได้ทำสถิติการซ่อมรถอีวี เทียบกับรถยนต์ใช้น้ำมัน พบว่ากรณีเข้าศูนย์บริการ รถอีวีมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารถใช้น้ำมัน 4% แต่ถ้าซ่อมอู่ทั่วไป (อู่ในเครือของบริษัทประกันภัย) ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าถึง 54% เพราะค่าอะไหล่อีวีแพงกว่ารถสันดาป รวมทั้งต้องซื้ออะไหล่จากศูนย์

ทั้งนี้ รถอีวีมีค่าซ่อมเฉลี่ยต่อเคลม 1 ครั้ง ประมาณ 24,000 บาท แต่รถใช้น้ำมัน 15,500 บาท สำหรับค่าซ่อมรถอีวีโดยเฉลี่ยจะเป็นค่าอะไหล่ 60% และค่าแรง 40% ขณะที่รถสันดาป ค่าอะไหล่กับค่าแรงประมาณ 50:50 ขณะที่ปัจจุบันรถอีวีเข้าซ่อมศูนย์สูงถึง 90% เพราะเป็นประกันปีแรกประกอบกับ ปัจจุบันยังไม่ค่อยมีอู่ทั่วไปที่สามารถรับซ่อมรถอีวีได้

แนะซื้อคุ้มครอง “แบต” เพิ่ม

นายอรัญกล่าวเพิ่มว่า สำหรับความคุ้มครองแบตเตอรี่ของรถอีวี บริษัทประกันภัยจะคุ้มครองความสูญเสียของแบตเตอรี่แบบ 100% เฉพาะปีแรกเท่านั้น พอเป็นปีที่ 2 ปีที่ 3 ปีที่ 4 ปีที่ 5 ปีที่ 6 เป็นต้นไป ความคุ้มครองจะลดลงปีละ 10%

ฉะนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยต้องมีส่วนร่วมเรื่องความเสียหายของแบตเตอรี่ สมมุติต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ในปีที่ 5 บริษัทประกันภัยจะคุ้มครองความเสียหายของแบตเตอรี่ที่ 60% ที่เหลือ 40% ผู้เอาประกันภัยต้องจ่ายเงินเอง ถ้ากรณีแบตเตอรี่ลูกนั้นราคา 400,000 บาท ลูกค้าต้องมีส่วนร่วมจ่าย 160,000 บาท

สิ่งที่สมาคมแนะนำคือ ให้บริษัทที่รับประกันรถอีวี ต้องแนบเอกสารแนบท้ายในเรื่องความคุ้มครองของการเปลี่ยนแบตเตอรี่ไฟฟ้าในทุกปี (ยกเว้นปีที่ 1) โดยลูกค้าผู้เอาประกันจะจ่ายเบี้ยส่วนนี้เพิ่มแค่ 400-500 บาท สำหรับทุนประกัน 200,000 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ไม่แพงจนเกินไป และอธิบายให้ลูกค้าฟังว่าลูกค้าจะได้รับความคุ้มครองแบตเตอรี่ 100% ในทุกปี ที่ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องมีส่วนร่วมจ่ายในกรณีต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่

เสียง “นักคณิตศาสตร์ประกันภัย”

นายพิเชฐ เจียรมณีทวีสิน กรรมการสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในมุมมองนักคณิตศาสตร์ประกันภัย สิ่งที่จะฝากเตือนผู้รับประกันรถอีวีมี 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.ทุนประกัน เพราะมูลค่ารถอีวีลดลงเร็วมาก เช่น ตอนซื้อราคา 1 ล้านบาท ทุนประกัน 7 แสนบาท ระยะเวลาผ่านไป 1-2 ปี มูลค่ารถเหลือแค่ 6 แสนบาท ฉะนั้น บริษัทประกันต้องระวังเรื่องการฉ้อฉลหวังเอาประกัน

2.ระยะเวลาความคุ้มครอง ถ้ามองว่าตลาดเปลี่ยนเร็วมาก การคุ้มครองทีละ 1 ปี อาจจะเป็นระยะเวลาที่นานไป เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างประกันภัยโควิดคุ้มครองทีละ 3 เดือน และปรับเบี้ยตามสถานการณ์ได้

และ 3.ปัจจัยข้อมูลสถิติที่เก็บจากอดีต อาจไม่ได้สะท้อนว่าในอนาคตจะเหมือนเดิม ดังนั้น ต้องใช้ปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ควบคู่ไปด้วย คือต้องพยากรณ์ให้ได้ในเรื่องของธุรกิจ ราคาของแบตเตอรี่ ราคาอะไหล่ จำนวนอู่ซ่อม จำนวนความเชี่ยวชาญของช่าง หรือจำนวนวันที่จะต้องคุ้มครองจากกรณีค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ปัจจัยพวกนี้เป็นแนวปฏิบัติในการซ่อม หรือแบตเตอรี่ที่ต้องเปลี่ยน

ขณะที่แหล่งข่าววงการประกันภัยระบุว่า ขณะนี้ทางบริษัทกรุงเทพประกันภัย และบริษัททิพยประกันภัย ได้ถอนตัวจากผู้รับประกันภัยในพาเนลของ BYD เรียบร้อยแล้ว ทำให้ตอนนี้เหลือผู้รับประกัน 6 ราย ประกอบด้วย 1.เมืองไทยประกันภัย 2.นวกิจประกันภัย 3.แอลเอ็มจีประกันภัย 4.ซันเดย์ประกันภัย ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ คือ 5.วิริยะประกันภัย และ 6.คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) รายงานว่า รายชื่อบริษัทที่รับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 23 บริษัท (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย. 2567) ประกอบด้วย

  1. บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  2. บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  3. บริษัท เคดับบลิวไอ ประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  4. บริษัท จรัญประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  5. บริษัท เจมาร์ท ประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  6. บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  7. บริษัท ทูนประกันภัย จำกัด(มหาชน)
  8. บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  9. บริษัท เออร์โกประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  10. บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  11. บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  12. บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน)
  13. บริษัท ไอแคร์ ประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  14. บริษัท ฟอลคอน ประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  15. บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด
  16. บริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  17. บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  18. บริษัท ไอโออิ กรุงเทพ ประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  19. บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  20. บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  21. บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  22. บริษัท แอลเอ็มจีประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  23. บริษัท ซันเดย์ ประกันภัย จำกัด (มหาชน)