อธิบดีราชทัณฑ์ เปิดไทม์ไลน์ บุ้ง ทะลุวัง ก่อนเสียชีวิต

กรมราชทัณฑ์ บุ้ง ทะลุวัง เสียชีวิต

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดไทม์ไลน์ บุ้ง ทะลุวัง ก่อนเสียชีวิต เผยมีการทำ CPR ต่อเนื่องจนถึง รพ.ธรรมศาสตร์ รอผลชันสูตรอย่างเป็นทางการ ยืนยันแพทย์ราชทัณฑ์ ทำเต็มที่ พร้อมประสานพ่อแม่ รับแผนการรักษา 5 วันย้อนหลัง

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 จากกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ “บุ้ง กลุ่มทะลุวัง” นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งเสียชีวิตระหว่างอยู่ในการควบคุมดูแลของกรมราชทัณฑ์นั้น

มติชน รายงานว่า นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยช่วงเวลาก่อนการเสียชีวิตของ บุ้ง ทะลุวัง ระบุว่า ได้รับรายงาน น.ส.เนติพร กับ น.ส.ทานตะวัน ตื่นตั้งแต่ 03.00 น. ในวันเกิดเหตุ มีการพูดคุย อ่านหนังสือกัน ต่อมา น.ส.เนติพรได้ขึ้นนอนบนเตียง และมีเจ้าหน้าที่มาตรวจวัดชีพจรพบว่ายังปกติ

ทั้งความดัน ออกซิเจน การเต้นของหัวใจ แต่เมื่อกำลังลุกขึ้นมานั่งไม่ถึง 1 นาที ปรากฏว่าอาการวูบ ขณะนั้นมีเจ้าหน้าที่ 4 ราย รีบนำตัว น.ส.เนติพร ยกทั้งที่นอนจากห้องชั้น 2 ไปห้อง ICU บริเวณชั้น 1

มีการทำ CPR ตรวจวัดชีพจร และให้สารกลูโคสเพื่อให้น้ำตาลสมดุล เพราะอดอาหารไปนาน ทั้งยังฉีดสารอะดรีนาลีน เพื่อกระตุ้นการเต้นของหัวใจ โดยในห้อง ICU มีอุปกรณ์กู้ชีพพร้อมช่วยเหลือตามมาตรฐานอยู่แล้ว ส่วนตอนนั้นมีแพทย์เฉพาะทางอยู่ด้วยหรือไม่ ขอตรวจสอบก่อน กระทั่งประสานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ นำตัวส่งต่อเพราะอุปกรณ์เครื่องมือพร้อมมากกว่า

นายสหการณ์กล่าวว่า ส่วนทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ชี้แจงว่าเสียชีวิตแล้วก่อนมาถึงนั้น เวลาประมาณ 09.00 น. ซึ่งระหว่างทางอยู่ช่วยกู้ชีพตลอด จนมาแถลงเสียชีวิตอย่างเป็นทางการ เวลา 11.22 น. ยืนยันไม่ได้ส่งตัวล่าช้า เพราะแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ทำเต็มที่ พร้อมประสานรีบส่งตัวทันที

อย่างไรก็ตาม ผลเสียชีวิตต้องรอผลชันสูตรทางนิติวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ โดยเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันที่ไม่มีการบ่งชี้มาก่อนว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน และได้ทำตามมาตรฐานทางการแพทย์ทุกขั้นตอน

ADVERTISMENT

นายสหการณ์กล่าวอีกว่า สำหรับ น.ส.เนติพรและ น.ส.ทานตะวัน เป็นผู้ป่วยในภาวะพักฟื้น ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง รักษาตามอาการ ให้อาหารตามความเหมาะสม แพทย์ไม่สามารถบังคับให้ทานอาหารได้เลย หากผู้ป่วยไม่ยินยอม แต่โน้มน้าว หากยืนยันเราก็มีหน้าที่ดูแลใกล้ชิด

ซึ่งโรงพยาบาลราชทัณฑ์จัดให้ทุกมื้อ บางครั้ง น.ส.เนติพรเลือกกินของเบา ๆ ส่วนทนายอ้างว่าผลชันสูตรไม่มีน้ำและอาหารในกระเพาะอาหาร ขณะนี้ยังไม่ทราบ ต้องรอผลชันสูตร แต่ช่วงตื่นตี 3 จนถึง 6 โมงเช้า มีอาการวูบ ก็ยังไม่ใช่เวลาทานอาหาร

วันนี้ได้ประสานพ่อแม่ น.ส.เนติพร เพื่อมาขอรับแผนการรักษาใน 5 วันย้อนหลังแล้ว ส่วนกล้องวงจรปิดมีภาพคนอื่นอยู่ด้วยอาจกระทบสิทธิส่วนบุคคล รวมทั้งราชทัณฑ์กำลังพิจารณาเพื่อชี้แจงไทม์ไลน์เผยแพร่สังคม เพราะมีหลายประเด็นข้อสงสัย นอกจากนี้ ผู้ต้องขังรายอื่นในคดีเดียวกันได้เลิกอดอาหารกันหมดแล้ว

ขึ้นอยู่กับศาล ให้ “ตะวัน” ร่วมงานศพหรือไม่

มติชน รายงานเพิ่มเติมว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ขั้นตอนการชันสูตรพลิกศพนั้น เบื้องต้นอยู่ระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ จะต้องมีพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และฝ่ายปกครองมาร่วมดำเนินการภายใต้คำสั่งของอัยการ โดยทำสำนวนและให้ส่งศาลภายใน 30 วัน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสต่อสาเหตุการเสียชีวิต

จากนั้นศาลจะดำเนินการไต่สวนสำนวนภายใน 30 วัน ซึ่งญาติหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามาสอบถาม หรือหาพยานหลักฐานมาหักล้างสาเหตุการเสียชีวิตตามข้อสงสัยได้ จึงขอให้ครอบครัวของบุ้งมีความมั่นใจ อย่างไรก็ตาม ไม่อยากกล่าวอะไรที่เป็นการชี้นำ เนื่องจากกระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้ไม่มีขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับกรมราชทัณฑ์ แต่เราก็พร้อมที่จะสนับสนุนข้อมูลให้

พ.ต.อ.ทวีเปิดเผยอีกว่า ส่วนลำดับเหตุการณ์ขณะเสียชีวิตของ น.ส.เนติพรนั้น ขณะนี้กรมราชทัณฑ์อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำรายละเอียดเพื่อชี้แจงทั้งหมด เบื้องต้นทราบว่ามีผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ 9 ราย และจากการที่ตรวจสอบกล้องวงจรปิดมีบันทึกรายละเอียดเหตุการณ์ไว้ทั้งหมด รวมถึงเหตุการณ์ในกล้องวงจรปิดสามารถย้อนหลังไปได้หลายวัน

จึงขอให้มีความมั่นใจได้ ส่วนเรื่องการรับประทานอาหารของ น.ส.เนติพรก่อนเสียชีวิตนั้น มีการรับประทานอาหารบางส่วนขณะอยู่ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และมีรายการจัดส่งอาหารที่พยาบาลบันทึกไว้ทั้งหมดว่าจัดส่งอาหารครบ 3 มื้อ

พ.ต.อ.ทวีกล่าวอีกว่า หลังจากนี้หากไม่ผิดระเบียบของทางกรมราชทัณฑ์ก็สามารถพาผู้สื่อข่าวไปดูที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลได้ และกรมราชทัณฑ์มองว่าทุกคนที่เข้ามาอยู่ข้างในเป็นเหมือนครอบครัว ไม่ว่าจะมีโทษอะไรก็จะต้องดูแลให้เสมอภาค และกรมราชทัณฑ์ไม่เคยรับใครกลับจากโรงพยาบาลแม่ข่ายถ้าไม่ได้รับการร้องขอ หรือการประสานส่งตัวกลับ

ซึ่งกรณีของบุ้ง ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ได้มีหนังสือส่งตัวกลับหลายฉบับ ให้กลับมารับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ทั้งนี้ ยืนยันได้ว่ากรมราชทัณฑ์มีแต่ความรู้สึกเสียใจและเราไม่ได้มีความขัดแย้งกับใคร

ส่วนกรณีที่นายกฤษฎางค์ นุตจรัส หรือทนายด่าง ระบุว่าอยากดูภาพจากกล้องวงจรปิดนั้น พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า โดยหลักการสามารถให้ได้อยู่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ขอไปตรวจสอบก่อน และตนได้คุยกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์แล้วว่าให้มีการเปิดเผยข้อมูลเป็นหลัก ส่วนอะไรที่เป็นสิทธิของผู้ป่วยที่ต้องสงวนรักษาไว้ก็ต้องขออนุญาตผู้ป่วยรายอื่น ๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ก่อน ส่วนการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น เป็นการตรวจสอบเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีก

ในเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาจากกระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์นั้น รมว.ยธ.กล่าวว่า ก็ต้องดูตามกฏหมาย อะไรที่เป็นกฎหมายก็ต้องดำเนินการตามกฏหมาย ส่วนเรื่องมนุษยธรรมนั้น ใจจริงก็อยากให้ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน ได้ไปร่วมงานฌาปนกิจของ น.ส.เนติพร

แต่กรมราชทัณฑ์จะมีอำนาจในการพิจารณาให้เพียงเฉพาะผู้ต้องขังเด็ดขาดที่สามารถไปร่วมงานศพของผู้ปกครองที่เสียชีวิตได้เท่านั้น แต่ในกรณีที่เป็นผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล กรมราชทัณฑ์จะไม่มีอำนาจในส่วนนี้

ดังนั้น น.ส.ทานตะวันจะเดินทางไปร่วมงานศพของ น.ส.เนติพรได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการยื่นขอประกันตัวในชั้นศาล

ส่วนกรณีที่สังคมมีการยกเหตุการณ์เปรียบเทียบระหว่างอดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร และกรณีของ น.ส.เนติพร ว่าเป็นการดูแลสองมาตรฐานหรือไม่นั้น พ.ต.อ.ทวีแจงว่า เรามีมาตรฐานเดียว โดยกรณีของ น.ส.เนติพรนั้น ถ้า รพ.ธรรมศาสตร์ฯไม่ทำหนังสือส่งตัวกลับให้รับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เราก็จะส่งให้อยู่ที่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯต่อไป