ด่านหนองเอี่ยน-สตึงบท ประตูการค้าไทย-กัมพูชาเชื่อมโลกยั่งยืน

ต้องยอมรับว่าบทบาทและหน้าที่ของสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ NEDA นอกจากจะให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่น ๆ ทั้งทางด้านการเงินและวิชาการ หากยังให้ความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย

นอกจากนั้น ในอีกบทบาทหนึ่งยังศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ตลอดจนมาตรการในการให้ความร่วมมือ และประสานการใช้อำนาจหน้าที่กับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อบูรณาการความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ สปป.ลาว, เมียนมา, เวียดนาม, ภูฏาน, ศรีลังกา, ติมอร์-เลสเต และกัมพูชา

สำหรับกัมพูชา ทาง NEDA มีโครงการความร่วมมือทางด้านการเงิน ดังนี้คือ โครงการพัฒนาจุดผ่านแดนถาวรสตึงบท และถนนเชื่อมโยงไปยังถนนหมายเลข 5 รวมถึงโครงการปรับปรุงถนนหมายเลข 67 (NR 67) ช่วงเสียมราฐ-อันลองเวง-จวม/สะงำ และโครงการความร่วมมือทางวิชาการ คือโครงการปรับปรุงถนนหมายเลข 68 (NR 68) ช่องจอม/โอเสม็ด-สำโรง-กลอรันห์

โดยเฉพาะกับโครงการพัฒนาจุดผ่านแดนถาวรสตึงบท และถนนเชื่อมโยงไปยังถนนหมายเลข 5 ซึ่งทาง NEDA กำหนดกรอบวงเงินกู้ทั้งสิ้นประมาณ 928.11 ล้านบาท ที่ไม่เพียงจะอำนวยความสะดวกทางด้านการค้า การลงทุนระหว่างทั้ง 2 ประเทศ

หากยังรองรับการขยายตัวทางด้านการค้า และการให้บริการผู้ประกอบการขนส่งสินค้า จนทำให้ขนส่งสินค้ารวดเร็วขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ช่วยลดความแออัดของการจราจร และการขนส่งสินค้าบริเวณด่านคลองลึก-ปอยเปต อีกทางหนึ่งด้วย

Advertisment

ทั้งนั้น เพราะกรอบในการพัฒนาประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทาง NEDA มีนโยบายส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคและอนุภูมิภาคให้เกิดการขยายตัวทางด้านการค้า การลงทุน ในการกระจายโอกาสความเจริญเติบโต และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และสังคมในภูมิภาค เพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศต่าง ๆ อย่างมั่นคงและยั่งยืน

พีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์
พีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์

เบื้องต้น “พีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์” ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ NEDA กล่าวว่า จากปัญหาการขนส่งสินค้าบริเวณด่านชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา บริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก-ปอยเปต อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ถึงจังหวัดบันเตียเมียนเจย มีการจราจรติดขัดบริเวณด่านพรมแดน ทั้งยังมีความหนาแน่นของรถบรรทุกสินค้า รวมถึงปริมาณนักท่องเที่ยวที่มาซื้อสินค้าที่ตลาดโรงเกลือมีการเติบโตในจำนวนที่สูง

“ทาง NEDA จึงร่วมมือและสนับสนุนรัฐบาลกัมพูชาในการก่อสร้างจุดผ่านแดนถาวรแห่งใหม่ในกัมพูชา หรือจุดผ่านแดนถาวรสตึงบท-บ้านหนองเอี่ยน ตั้งอยู่ในตำบลปอยเปต อำเภอโอโจรว จังหวัดบันเตียเมียนเจย ตรงข้ามกับอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว

โดยต้องการแยกการเดินทางเข้า-ออกเมือง ออกจากการขนส่งสินค้าผ่านแดน เพื่อลดความแออัดของการจราจร อีกทั้งเพื่อรองรับการขยายตัวทางการค้า และการให้บริการของผู้ประกอบการขนส่งสินค้า จนทำให้เกิดการขนส่งสินค้ารวดเร็วขึ้น”

Advertisment

ที่สำคัญยังเป็นช่องทางสำหรับขนส่งสินค้าเข้า-ออกระหว่างกัมพูชา-ไทยที่เชื่อมต่อกับสะพานมิตรภาพบ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท กับเส้นทางถนนหมายเลข 5 (AH1) ด้วยการขับเคลื่อนงานก่อสร้างจุดผ่านแดนถาวรสตึงบท เพราะมีความสำคัญต่อการขยายตัวทางพื้นที่เศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนไปพร้อม ๆ กันด้วย

ดร.ยิด บุนนา
ดร.ยิด บุนนา

ขณะที่ “ดร.ยิด บุนนา” ปลัดกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ราชอาณาจักรกัมพูชากล่าวเสริมว่า โครงการนี้มีความสำคัญเชิงพาณิชย์ต่อการค้าการลงทุนระหว่างไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะด่านผ่านแดนถาวรสตึงบทมีส่วนสำคัญต่ออาเซียน ไฮเวย์ในอนาคต เพราะนอกจากจะเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าและพัฒนาเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ ยังเป็นจุดเชื่อมโยงสินค้าส่งออก-นำเข้าจากกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ-บันเตียเมียนเจย-พนมเปญ เพื่อไปเวียดนามอีกด้วย

“รัฐบาลกัมพูชามอบหมายให้กระทรวงโยธาธิการ และขนส่งเป็นผู้ดูแลโครงการนี้ โดยเริ่มก่อสร้างจุดผ่านแดนถาวรสตึงบทตั้งแต่ปี 2021 กระทั่งแล้วเสร็จในปี 2024 บนพื้นที่ทั้งหมด 132 ไร่ ประกอบด้วย อาคารด่านชายแดนและถนนเข้า-ออก, อาคารสถานี, อาคารตรวจสอบเอกสารขาเข้า-ขาออก, อาคารพื้นที่ควบคุมร่วม, อาคารพื้นที่ควบคุม, อาคารโรงอาหาร และห้องน้ำ, อาคารตรวจสินค้าทางกายภาพ, อาคารหอพัก, อาคารเก็บสินค้าเพื่อกระจายสินค้า, ระบบป้องกัน และบรรเทาอุทกภัย เป็นต้น”

สำหรับแผนงานในอนาคต เรามีการเตรียมรองรับนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนด้วย เพราะเราเองต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับความทันสมัยของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการนำระบบดิจิทัลซอฟต์แวร์เข้ามาปรับใช้ หรือการก่อสร้างสถานีชาร์จอีวี เพื่อรองรับนวัตกรรมการขนส่งที่จะปรับตัวไปสู่อนาคตด้วย สำหรับแผนงานดังกล่าวจะเกิดขึ้นระหว่างปี 2025-2030 ที่จะถึงนี้

จึงเชื่อแน่ว่าจุดผ่านแดนถาวรสตึงบท-บ้านหนองเอี่ยนน่าจะตอบสนองผู้มาใช้บริการขนส่งสินค้าสะดวกขึ้น เพราะปัจจุบันเรามีช่องปล่อยรถขนส่งสินค้าจากไทยไปกัมพูชาประมาณ 3 ช่อง และช่องหนึ่งจะตรวจสอบสินค้าประมาณ 15 นาที/คัน ซึ่งจากเดิม (ด่านคลองลึก-ปอยเปต) ใช้เวลามากกว่าครึ่งชั่วโมง/คัน

ที่สำคัญ แต่ละวันจะมีรถขนส่งสินค้ามาใช้บริการประมาณ 150-300 คัน/วัน แต่ถ้าเปิดอย่างเป็นทางการ และนำการบริหารจัดการทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เชื่อแน่ว่าเราน่าจะรับบริหารการจัดการรถขนส่งสินค้าได้มากถึง 600 คัน/วัน โดยเราจะเปิดด่านตรวจสอบสินค้า 24 ชั่วโมง ตรงนี้เป็นแผนงานที่เรากำหนดกรอบการทำงานไว้

เอกอร คุณาเจริญ
เอกอร คุณาเจริญ

ถึงตรงนี้ “เอกอร คุณาเจริญ” อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา กล่าวว่า กัมพูชาเปิดกว้างเรื่องการลงทุนมาก และนักธุรกิจต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ 100% นอกจากนั้น การจดทะเบียนเพื่อตั้งบริษัทก็ทำได้ง่าย

ด้วยเหตุนี้จึงมีบริษัทใหญ่ ๆ ของไทยเข้ามาลงทุนประมาณ 30-40 บริษัท และมาในหลายธุรกิจ ถามว่าสัดส่วนนักลงทุนไทยที่เข้ามากัมพูชาเยอะไหม ก็เยอะ นับเป็นอันดับ 6 รองจากจีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส, สหรัฐอเมริกา และไทย

โดยบทบาทของสถานทูตไทยจะทำหน้าที่ประสานกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เพื่อช่วยเหลือด้านข้อมูลการลงทุนให้กับนักธุรกิจ ทั้งยังคอยประสานกับภาคเอกชนเพื่อมาประชุม หรือหารือกันถึงทิศทางในการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ SMEs

ขณะนี้นักลงทุนไทยสนใจเข้ามาจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ดิฉันจึงค่อนข้างเชื่อว่าภายใน 1 ปีข้างหน้าหลังจากจุดผ่านแดนถาวรหนองเอี่ยนเสร็จเรียบร้อย ก็เชื่อแน่ว่าน่าจะเกิดความคึกคักมากขึ้น เพราะปกติสินค้าไทยเป็นที่นิยมของชาวกัมพูชาอยู่แล้ว และมักจะถูกเลือกเป็นอันดับหนึ่งเสมอ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภค-บริโภคที่มาจากเมืองไทย

“ดังนั้น ถ้ามาดูตัวเลขมูลค่าการค้าบริเวณชายแดนของไทย-กัมพูชาบริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก-ปอยเปต จะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านกว่าบาท โดยมีสินค้าส่งออกของไทยไปกัมพูชามากที่สุดคือรถยนต์, เครื่องดื่ม, อะไหล่รถจักรยานยนต์, เครื่องยนต์รถจักรยานยนต์, ปุ๋ยเคมี ตามลำดับ ส่วนสินค้านำเข้า ได้แก่ เลนส์แว่นตา, เศษอะลูมิเนียม, อะไหล่รถจักรยานยนต์, ส่วนประกอบมอเตอร์ และเศษทองแดง ทองเหลือง ตามลำดับ ฉะนั้น ถ้าดูตัวเลขโดยรวมถือว่าเรายังมีตัวเลขที่เกินดุลอยู่พอสมควร”

นับว่าเป็นการเปิดด่านเพื่อเชื่อมโยงการค้าไทย-กัมพูชา เพื่อสู่ธุรกิจโลกอย่างยั่งยืน