
ลุ้นสร้าง “อ่างเก็บน้ำ” คลองวังโตนด ดึงเลขาฯ EEC ลงพื้นที่ 21 พ.ค.นี้ เร่งผลักดันโครงการ ช้าอีก 2 ปี เร่ง EHIA ก่อนหมดอายุสิงหาคม 2569 ยืนยันพื้นที่เดิม 6,191 ไร่ เผยการลดขนาดพื้นที่เหลือ 657 ไร่ ลดระดับเป็นอ่างขนาดเล็กไม่สามารถส่งน้ำไปช่วยพื้นที่อีอีซีได้ ช่วยได้แค่พื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้น รอรัฐบาลเศรษฐาตัดสินใจ
การเผชิญปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออกหลายครั้ง รวมถึงปี 2567 สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการใช้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชาวสวนทุเรียนที่ต้องซื้อน้ำกันมาใช้ และอาจถึงขั้นเกิดการแย่งน้ำในอนาคตได้ ดังนั้น โครงการก่อสร้าง “อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด” จึงถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง
หลังจากวันที่ 21 มิถุนายน 2564 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรง (EHIA) โดยให้ลดความจุของอ่างจากเดิม 99.50 ล้าน ลบ.ม. ให้เหลือ 60 หรือ 80 ล้าน ลบ.ม. แต่ถึงปัจจุบันกรมชลประทานยังก่อสร้างไม่ได้ตามแผนประมาณปี 2565-2570 ขณะที่ EHIA ฉบับนี้จะหมดอายุในเดือนสิงหาคม 2569
หวังเลขาฯ EEC ช่วยดัน
ผศ.เจริญ ปิยารมย์ ประธานคณะทำงานลุ่มน้ำวังโตนด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดมีความสำคัญต่อพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ( EEC) หากปล่อยให้ทอดเวลาไปเรื่อย ๆ EHIA ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 จะสิ้นสุดลงเดือนสิงหาคม 2569 หากหมดอายุโครงการนี้ต้องทำการศึกษาใหม่ เสียงบประมาณการว่าจ้าง การลงทุนก่อสร้างอ่างจะขยายวงเงินขึ้น
ดังนั้น วันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะทำงานลุ่มน้ำวังโตนดได้เข้าพบ ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เพื่อชี้แจงความสำคัญของโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด และแผนการก่อสร้างปี 2565-2570 ที่ล่าช้าออกไป ถึงผลเสียทั้ง EEC และในพื้นที่คือลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี เพื่อขอให้ กพอ.ช่วยสนับสนุนผลักดันโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด
และคาดว่าโครงการจะมีความคืบหน้าเมื่อคณะอนุกรรมการส่งเสริมและกำกับการบริหารจัดการน้ำในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกจะมีการลงพื้นที่ จ.จันทบุรี เพื่อหารือและติดตามความก้าวหน้าของโครงการเพื่อเสนอต่อ กพอ.ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ที่จะถึงนี้
“การประชุม กพอ. มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานโดยตำแหน่ง ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาตัดสินจะสร้างหรือไม่สร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดด้วย จึงเสนอว่าโครงการนี้มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC”
ขอ 6 พันไร่ลดเหลือ 600 ไร่
ผศ.เจริญ ปิยารมย์ กล่าวว่า กระบวนการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดกว่าจะได้สร้าง ต้องผ่านการอนุมัติจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรแห่งชาติและสิ่งแวดล้อม ขั้นตอนที่จะสร้างเสร็จใช้ได้จริงต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5-6 ปี ตามแผนการก่อสร้างปี 2565 กว่าจะได้ใช้ประมาณปี 2570 แต่ขณะนี้ยังไม่ได้สร้างจะต้องล่าช้าไปอีก แต่ยังดีกว่าไม่ได้สร้าง เพราะโอกาสที่โครงการจะมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ยากที่จะทำได้ การศึกษา EHIA ปี 2564 มีการออกแบบ ขอใช้พื้นที่กรมอุทยานฯ 6,191 ไร่ ผ่านมติกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่กำกับดูแลแล้ว
ความคืบหน้าล่าสุด กรมอุทยานฯขอให้ลดขนาดเหลือเพียง 657.79. ไร่ หรือลด 10 เท่าซึ่งไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ และหากจะต้องทำการศึกษากันใหม่ โอกาสที่จะได้สร้างแทบจะมองไม่เห็น
EEC ได้-จันทบุรีได้
ผศ.เจริญ ปิยารมย์ กล่าวอีกว่า ความเป็นมาของลุ่มน้ำวังโตนดเกิดมาจากนโยบายของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาภัยแล้งที่ จ.ระยอง โดยการผันน้ำจาก จ.จันทบุรี ไปลงอ่างประแสร์ จ.ระยอง โดยมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 มีนโยบายให้สร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ จ.จันทบุรี ให้แล้วเสร็จก่อน ได้แก่ อ่างคลองพวาใหญ่ อ่างคลองหางแมว และอ่างคลองวังโตนด พร้อมทั้งระบบฝายทดน้ำในลำน้ำวังโตนดก่อน จึงจะผันน้ำไปจังหวัดอื่นได้ เพื่อความเป็นธรรมของคนในพื้นที่ แต่ตอนนี้เหลือเพียงอ่างคลองวังโตนดยังไม่ได้เริ่มโครงการ แต่ที่ผ่านมาได้มีการต่อรองขอใช้น้ำส่งไปช่วย EEC วิกฤตแล้งในปี 2563 ถึง 10 ล้าน ลบ.ม.
“ถ้า กพอ.ร่วมสนับสนุนการสร้างอ่างคลองวังโตนดจะทำให้โครงการมีความสำคัญเป็นนโยบายแห่งรัฐช่วยกันหาทางให้โครงการสำเร็จ จะ win win ถ้า EEC ได้ จันทบุรีได้ด้วยกัน กระบวนการสร้างเขื่อน และอ่างเก็บน้ำในประเทศเรานั้นได้ส่งผลให้เกิดปัญหาล่าช้า และบางครั้งสร้างไม่ได้ และภาคประชาชนได้รับความยากลำบาก และที่สำคัญ จันทบุรีมีฝนตกปีละ 3,000 มม. แต่ยังไม่มีระบบเก็บกักน้ำอย่างเพียงพอทั้งที่ทำได้ วันนี้ไม่สร้างอ่างคลองวังโตนดยังมีน้ำใช้ 3 อ่าง ปริมาณ 200 ล้าน ลบ.ม.เพียงพอ แต่อนาคตเมื่อความต้องการใช้น้ำปริมาณมากขึ้น ณ เวลานั้นจะสร้างไม่ได้ อาจจะเกิดการแย่งน้ำเกิดขึ้น” ผศ.เจริญกล่าว
รัฐบาลคือความหวัง
นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อ่างเก็บน้ำวังโตนดมีความจำเป็นต่อพื้นที่ EEC และพื้นที่ จ.จันทบุรี มาก ปริมาณฝนตกในจังหวัดจันทบุรี ช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน มีปริมาณ 70-80% ของปริมาณฝนทั้งหมด ไม่มีสถานที่เก็บกักน้ำได้นอกจากการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด และความจำเป็นในการใช้น้ำทำสวนทุเรียนเป็นปริมาณมาก จำเป็นต้องเก็บกักน้ำไว้ตอนบนเพราะปริมาณฝนตกแต่ละปีไม่เท่ากัน
การมีอ่างไว้หลายอ่างทำให้ไม่มีความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำ และการสร้างอ่างเก็บน้ำจะมีปริมาณน้ำพอและน้ำใต้ดินจะสูงขึ้น พื้นที่ จ.จันทบุรี มีความเหมาะสม มีอ่างเก็บน้ำ 3 แห่งแล้ว ถ้ามีเพิ่มอีก 1 อ่างทำให้มีการกระจายน้ำได้ดี สร้างความมั่นคงทางน้ำให้พื้นที่ EEC และความยั่งยืนด้านเกษตรกรรมอาชีพหลักของชาวจันทบุรี
งบประมาณก่อสร้าง 7,000-8,000 ล้านบาท หากก่อสร้างล่าช้าจะเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่มีความสำคัญต่อการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ EEC และ จ.จันทบุรี ยิ่งแล้งยิ่งต้องใช้น้ำมาก ความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อนักลงทุน ตามที่คาดการณ์ว่าปี 2570 จะขาดแคลนน้ำมาก ดูจากปริมาณการใช้น้ำและปริมาณน้ำที่มีอยู่ จ.ระยอง นอกจากการลงทุนด้านอุตสาหกรรมยังมีสวนทุเรียนเพิ่มมากขึ้น จ.ชลบุรีขยายตัวเร็ว มีการใช้น้ำปริมาณมาก น้ำประปาขาดบางจุด แม้ว่าจะดูดน้ำจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตมาลงอ่างบางพระ หรือจากอ่างหนองปลาไหล จ.ระยอง มาลงอ่างเล็ก ๆ ยังไม่เพียงพอ
“อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดต้องเร่งรัดให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้เห็นชอบการใช้พื้นที่อุทยานและเพิกถอนการใช้พื้นที่อุทยานและนำเข้า ครม.พิจารณา แผนการก่อสร้างปี 2565-2570 ที่ยังดำเนินการไม่สำเร็จ ยิ่งนานวันอีก 5 ปี ราคาก่อสร้างจะเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพการก่อสร้างจะยุ่งยากขึ้น และจะกระทบแผนต่าง ๆ ระบบกระจายน้ำไปพื้นที่ EEC ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ที่ต้องรอน้ำจากอ่างคลองวังโตนด เพื่อสร้างความมั่นใจในปริมาณน้ำที่เพียงพอ ทั้งด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ความเป็นไปได้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล เพราะกฎหมายในการใช้พื้นที่มีความขัดแย้งกัน ทั้งการพัฒนาสร้างอ่างเก็บน้ำและการอนุรักษ์พื้นที่ ตามรายงาน EHIA ระบุวิธีการปรับ ดูแลสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบ ส่วนการจ่ายค่าชดเชยและค่ารื้อถอนเนื่องจากเป็นที่ดินป่าสงวนและป่าอุทยาน ที่ต้องได้รับอนุญาตก่อนเช่นเดียวกัน ความหวังจึงต้องฝากไว้กับรัฐบาล” นายไพฑูรย์กล่าว
แหล่งข่าวจากภาคตะวันออกกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไม่เห็นด้วยกับการลดขนาดการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังโตนด จากพื้นที่ 6,191 ไร่ มีความจุ 99.5 ล้าน ลบ.ม. เหลือ 657.79. ไร่ กลายเป็นอ่างน้ำขนาดเล็ก โดยจะให้ใช้วิธีการขุดเจาะบ่อให้ลึก 19 เมตร เพื่อให้เก็บน้ำได้มากขึ้น ซึ่งไม่มีใครทำแบบนี้แน่นอน ปัญหาดินที่จะนำไปทิ้ง การใช้งานต้องใช้เครื่องสูบน้ำ และการที่อ่างมีขนาดเล็กเกินไปไม่สามารถส่งไปช่วย EEC ได้เพียงพอ ช่วยได้เพียงในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ต.ขุนซ่อง อ.แก่งหางแมวเท่านั้น ถือว่าไม่คุ้มค่าการก่อสร้าง