ไฟเขียวสร้าง “อ่างวังโตนด” แก้แล้งชาวจันท์-ผันน้ำสู่อีอีซี

กลายเป็นกระแสร้อนแรงเมื่อการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ซึ่งมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ได้มีมติเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

สำหรับโครงการกิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (EHIA) “โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด” จังหวัดจันทบุรี

เพราะทันทีที่อนุมัติ มีกระแสคัดค้านจาก “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” โดยระบุว่า จะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ พร้อมล่ารายชื่อผู้ร่วมคัดค้านโครงการ

พลิกปูม 12 ปีอ่างวังโตนด

“โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด” จังหวัดจันทบุรี ผุดขึ้นโดยเป็นผลสืบเนื่องจากภาวะภัยแล้งอย่างรุนแรงในภาคตะวันออก ในปี 2548 ทำให้เกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำทั้งด้านอุปโภค บริโภค ท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2548 คณะรัฐมนตรี (ครม.) สมัยนั้นได้มีมติเห็นชอบกรอบแนวทางการดำเนินงานเพื่อการบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก 4 ลุ่มน้ำ และอนุมัติโครงการแก้ไขวิกฤตขาดแคลนน้ำ และปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 ครม.อนุมัติในหลักการให้กรมชลประทาน ดำเนินโครงการขนาดใหญ่จำนวน 4 โครงการ เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำคลองวังโตนด ได้แก่ 1.อ่างเก็บน้ำคลองประแกด 2.อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ 3.อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว

และ 4.อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด รวมถึงเห็นชอบให้จัดทำ “โครงการผันน้ำ” จากพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ไปยังแหล่งเก็บกักน้ำจังหวัดระยองได้ แต่มีเงื่อนไขว่า การผันน้ำจากจังหวัดจันทบุรีไปแล้วจะต้องไม่มีผลกระทบต่อการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่จันทบุรี

ผ่านไป 12 ปี โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดติดขัดล่าช้า แม้ได้มีการว่าจ้างบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ศึกษาจัดทำแผนหลักพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำคลองวังโตนด

มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพแหล่งกักเก็บน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานของพื้นที่ลุ่มน้ำตลอดจนการบรรเทาปัญหาอุทกภัยและปัญหาคุณภาพน้ำในพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำ บริเวณ อ.ท่าใหม่ อ.นายายอาม และ อ.แก่งหางแมว เนื่องจากพื้นที่ที่ขออนุญาตดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในส่วนป่าอนุรักษ์ (โซน C) และพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น

จึงเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย ตั้งแต่เดือนกันยายน 2558-ธันวาคม 2559 แต่ผ่านไป 5 ปียังไม่ได้ก่อสร้าง จึงต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ ช่วงระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม 2561-19 ธันวาคม 2564

แหล่งน้ำอุ้มผลไม้-อีอีซี

ขณะที่กำลังศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ช่วงต้นปี 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้เสนอให้มีการลดความจุอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดลง จากเดิมจะสร้างที่ความจุ 99.50 ล้าน ลบ.ม. ให้เหลือระหว่าง 80 ล้าน ลบ.ม. หรือเหลือเพียง 60 ล้าน ลบ.ม.

เพื่อลดผลกระทบจากการใช้พื้นที่อุทยานและพื้นที่ป่าสงวนฯ โดยให้เหตุผลว่า โครงการดังกล่าวอาจมีผลต่อกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (EHIA)

แต่เมื่อทุกฝ่ายพิจารณาครอบคลุมทุกด้าน จึงผ่านความเห็นชอบล่าสุด ซึ่งขั้นตอนต่อไป กรมชลประทานต้องขออนุญาตใช้พื้นที่ ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าจะเสนอของบประมาณก่อสร้าง

ผศ.เจริญ ปิยารมณ์ ประธานคณะทำงานลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามมติ ครม. 7 เมษายน 2552 อนุมัติ 4 โครงการขนาดใหญ่ ให้กรมชลประธานดำเนินการได้แก่

โครงการสร้างสถานีสูบน้ำวังประดู่ จากคลองวังโตนด ปัจจุบันคือแม่น้ำวังโตนด ไปอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง โดยที่ขณะนั้นคลองวังโตนดยังไม่มีแหล่งน้ำต้นทุน จึงทำให้เกิดคณะทำงานลุ่มแม่น้ำวังโตนด จ.จันทบุรีขึ้น

หลังจากนั้นมีการทบทวนมติ ครม.ให้กรมชลประทานสร้างอ่างเก็บน้ำ 3 อ่าง คือ อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ และอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด พร้อมทั้งระบบฝายทดน้ำ ก่อนที่จะผันน้ำไปที่อื่น

โดยอ่างเก็บน้ำคลองประแกด ความจุ 60.26 ล้าน ลบ.ม. แล้วเสร็จปี 2561 อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ ความจุ 68.10 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ความจุ 80.70 ล้าน ลบ.ม. จะแล้วเสร็จปี 2564-2566 ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดใหญ่ที่สุด ความจุ 99.50 ล้าน ลบ.ม.

อยู่ในระหว่างพิจารณาผลกระทบการจัดทำรายงานกิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (EHIA)

“การสร้างอ่างคลองวังโตนด ขนาดความจุสูงสุด 99.50 ล้าน ลบ.ม. มีความสำคัญในแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำทั้งของจันทบุรี เพราะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำวังโตนดให้มีความสมบูรณ์มั่นคง

และส่งผลต่อความเชื่อมั่นให้นักลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ด้วย เพราะมีโครงการผันน้ำจากแม่น้ำวังโตนดไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์จังหวัดระยอง ตามมติ ครม. 7 เมษายน 2552 ระบุเหตุผลความจำเป็นไว้อย่างชัดเจน

การสร้างอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่งใช้พื้นที่มากและอยู่บนที่สูง มีป่าไม้ ยากจะหลีกเลี่ยงผลกระทบ หากคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับคุ้มกว่ากันมาก

จังหวัดจันทบุรียังมีปริมาณน้ำฝนเป็นอันดับ 1-2 ของประเทศ ที่ผ่านมาน้ำมหาศาลเหล่านี้ถูกปล่อยทิ้งลงทะเลในแต่ละปีโดยเปล่าประโยชน์ ขณะเดียวกันการปลูกพืชผลไม้ในจันทบุรีเพิ่มขึ้นทุกปี

จำเป็นต้องใช้น้ำเป็นหลัก นอกจากนี้สามารถสร้างโครงข่ายน้ำไปช่วยเหลือพื้นที่ด้านบนของจังหวัดที่ยังขาดน้ำ คือ อ.สอยดาว รวมทั้งต้นน้ำอื่น ๆ และยังช่วยป้องกันอุทกภัยด้วยระบบบริหารจัดการที่กรมชลประทานได้วางแผนไว้”

ผศ.เจริญกล่าวถึงการคัดค้านของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรว่า ชื่นชมปณิธานของมูลนิธิที่ออกมาคัดค้าน แต่ยังมองไม่ครบทุกมิติ ยกปัญหาเรื่องช้าง ซึ่งปัจจุบันช้างไม่ได้อยู่ในป่าแล้ว

ถ้าพิจารณารายละเอียดของโครงการจะทราบว่ามีการตระหนักในข้อท้วงติงเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้เสนอทางแก้ไขปัญหาควบคู่ไปกับการสร้างอ่างด้วยแล้ว กล่าวได้ว่าโครงการมีความสมบูรณ์มาก

ซึ่งเปรียบเทียบการอนุมัติเป็นการลักหลับไม่น่าใช่ เพราะทุกภาคส่วนไม่ว่า สนทช. กนช. กก.วล. คชก. ชป. กระทรวงเกษตรฯ และตัวแทนชาวจันทบุรี และ NGO ตัวแทนกรรมการ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสิ้น รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานด้วย

พร้อมย้ำจุดยืนว่า ชาวจันทบุรีต้องการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดเพื่อสร้างความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรม และการผันน้ำแบ่งปันจะทำควบคู่กันไป เราคอยกันมานานกว่า 10 ปีแล้ว

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ออกโรงค้าน

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ 10 แห่ง คัดค้านการเห็นชอบรายงาน EHIA โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด โดยออกแถลงการณ์พอสรุปใจความได้ว่า

เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ขอคัดค้านการเห็นชอบรายงาน EHIA โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ที่จะก่อสร้างพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จำนวน 7,503 ไร่ และป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่อง จำนวน 7,097 ไร่ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศด้วยเหตุผล

1.พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น ส่วนใหญ่เป็นป่าที่ราบต่ำและเป็นที่ราบสูงในบางพื้นที่ พบว่าบริเวณที่จะก่อสร้างมีพืชอาหารช้างอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์กินพืชส่วนใหญ่ และพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าดิบแล้งที่ลุ่ม ทำให้มีความชุ่มเย็น

เหมาะสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของช้างป่ามากกว่าบริเวณอื่น ๆ นอกจากนี้ยังพบสัตว์ป่าอีกหลายชนิดอาศัยอยู่ เช่น กระทิง กวาง หมูป่า ฯลฯ ถือเป็นการทำลายแหล่งอาศัยของช้างป่าจำนวนมาก ยังเพิ่มโอกาสให้ช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่า และอาจสร้างความเสียหายให้กับประชาชนในพื้นที่

2.หลายภาคส่วนกำลังปรับปรุงแหล่งน้ำและแหล่งอาหาร มีเป้าหมายในการดึงช้างป่าที่ออกไปรบกวนประชาชนกลับเข้ามาอยู่ในพื้นที่ป่า หากสร้างอ่างเก็บน้ำจะปิดกั้นทางเดินไม่ให้ช้างกลับคืนสู่ป่า มีข้อมูลการสำรวจเส้นทางหากินของช้างป่า

พบว่าช้างป่าหากินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้นบริเวณพื้นที่โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดนั้น เป็นช้างโขลงเดียวกันกับช้างป่าที่พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวฝั่งตะวันตก

3.ที่ผ่านมามีบทเรียนหลังสร้างอ่างเก็บน้ำแล้วเสร็จ หลังจากอ่างเก็บน้ำเริ่มเก็บน้ำได้ ปรากฏว่ามีช้างป่าจำนวนมากเข้ามาหากิน สร้างความเสียหายให้กับชุมชนเป็นวงกว้าง

4.อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น เป็นส่วนหนึ่งของป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ภาคตะวันออก อยู่ตรงกลางระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว

ซึ่งเป็นแนวเชื่อมต่อระบบนิเวศที่สำคัญ และถือเป็นพื้นที่หัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ จากผลการศึกษาของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า

และพันธุ์พืช พบว่าพื้นที่อนุรักษ์ทั้ง 3 แห่ง เป็นผืนป่าที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก มีแนวเขตเชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกัน เหมาะสมเป็นแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าที่สำคัญในภาคตะวันออก นอกจากช้างยังพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่มากถึง 7 ชนิด

5.เมื่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติเห็นชอบรายงาน เท่ากับว่าเป็นใบผ่านทางให้โครงการก่อสร้างได้ ดังนั้น เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ตามรายชื่อแนบท้าย จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ยุติการอนุมัติโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เพื่อรักษาถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยไม่สร้างปัญหาใหม่ที่ทำให้บ้านที่เหมาะสมของสัตว์ป่าถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิงและอาจทำให้สัตว์ป่าออกมารบกวนประชาชนในพื้นที่ได้อีกด้วย