นายกฯกัมพูชาบินลัดฟ้ามาไทย 7 ก.พ. 67 เจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา
ฮุน มาเนต : Photo by Leonardo Munoz/AFP

จับตา 7 ก.พ. 2567 นายกฯ กัมพูชาบินลัดฟ้ามาไทย เจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (OCA) ผนึกกำลัง 2 ประเทศ หาแหล่งก๊าซธรรมชาติ แก้สมการค่าไฟแพงระยะยาว หลังพูดคุยมายาวกว่า 7 รัฐบาล

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2567 ในการอภิปรายร่างงบประมาณรายจ่ายปี 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Areas-OCA) ว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่จะพูดคุยกับนายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของประเทศกัมพูชา ที่มีกำหนดเดินทางมาเยือนประเทศไทยในวันที่ 7 ก.พ. 2567

อีกทั้งยังระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นขุมทรัพย์มูลค่าหลายล้านล้านบาท ควรจะพูดคุยตกลงกันได้ เพื่อช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชาชนทั้ง 2 ประเทศให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ซึ่งหนึ่งในนโยบายสำคัญด้านพลังงานของรัฐบาลชุดนี้ “การลดค่าครองชีพของประชาชน ค่าไฟ และค่าน้ำมัน” ทำให้หากเจรจาสำเร็จและพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนนี้ร่วมกันได้ จะช่วยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติแบบวงจร (LNG Spot) พร้อมเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ที่จะป้อนเข้าสู่การผลิตไฟฟ้าและใช้ในภาคอุตสาหกรรมมูลค่าสูงอย่างปิโตรเคมี ซึ่งจะช่วยลดค่าไฟในระยะยาวและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพราะคาดว่าพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวมีปริมาณก๊าซธรรมชาติหนาแน่นถึง 11 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต

พื้นที่เจรจา OCA มี 2 ส่วน

พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชามีเนื้อที่ประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจะต้องมีการเจรจา 2 พื้นที่ด้วยกัน ได้แก่

1.พื้นที่เหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือขึ้นไป ต้องหาข้อสรุปเขตแดนทางทะเล 10,000 ตารางกิโลเมตร ให้ชัดเจนตามกฎหมายระหว่างประเทศ

2.พื้นที่ใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือลงมา พื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีเป้าหมายทำความตกลงพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกัน (Joint Development Area : JDA) ในลักษณะที่คล้ายกับที่ไทยทำ JDA ร่วมกับมาเลเซีย

ที่มาภาพ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน

22 ปี 7 รัฐบาลยังไม่คืบหน้า

ซึ่งที่ผ่านได้มีการเจรจามาแล้วถึง 7 รัฐบาล รวมถึงผ่านมือของรัฐมนตรีต่างประเทศมาแล้ว 11 คน ได้แก่

  • นายทักษิณ ชินวัตร (กุมภาพันธ์ ปี  2544-กันยายน ปี 2549)
  • พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ (ตุลาคม 2549-29 มกราคม 2551)
  • นายสมัคร สุนทรเวช (มกราคม 2551-กันยายน 2551)
  • นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (กันยายน 2551-2 ธันวาคม 2551)
  • นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ธันวาคม 2551-5 สิงหาคม 2554)
  • นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (สิงหาคม 2554-7 พฤษภาคม 2557)
  • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (สิงหาคม 2557-กันยายน 2566)

รวมเป็นระยะเวลากว่า 22 ปี นับตั้งแต่ที่มีบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ที่ลงนามกันเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ในสมัยรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร

พื้นที่ทับซ้อน OCA เจรจา 2 เรื่อง

ข้อมูลจากจุลสารความมั่นคงศึกษา เขียนโดย ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ระบุว่า สาระสำคัญในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ที่ลงนามกันเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ในสมัยรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องเร่งรัดแก้ไขเจรจาปัญหาการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันด้วยกันทั้งหมด 2 เรื่อง ได้แก่

1.การเจรจาเพื่อจะทำความตกลงกันสำหรับการพัฒนาแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมซึ่งในพื้นที่ทับซ้อนร่วมกัน

2.การเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลงแบ่งเขตแดน สำหรับทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะในพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขตซึ่งสามารถยอมรับได้ร่วมกัน

อีกทั้งการกำหนดเขตแดนและการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันนั้น จะต้องดำเนินการทำข้อตกลงไปด้วยกัน ไม่สามารถแบ่งแยกได้ (Indivisible Package) กล่าวคือ จะหยิบยกเฉพาะการแสวงหาประโยชน์จากแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมขึ้นมาเจรจาก่อน แล้วมาเจรจาการกำหนดเขตแดนทีหลังไม่ได้ และตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee-JTC) ไทย-กัมพูชาเป็นกลไกในการเจรจา

จับตาความคืบหน้า 7 ก.พ.นี้

ทว่าตลอดระยะเวลา 22 ปีที่ผ่านมา กลับหารือเรื่องเขตทับซ้อนไปเพียง 2 ครั้ง และมีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการร่วมทางเทคนิคอีก 2 ครั้ง คณะกรรมการร่วมทางเทคนิคหารืออย่างไม่เป็นทางการ 4 ครั้ง ประชุมคณะทำงานร่วมไทย-กัมพูชาว่าด้วยการกำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมทางทะเล 1 ครั้ง และมีการประชุมคณะทำงานว่าด้วยระบอบพัฒนาร่วม 6 ครั้ง

ด้วยเหตุนี้ การมาเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ของนายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีประเทศกัมพูชา ผู้เป็นทายาทของสมเด็จฯ ฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และเพิ่งเริ่มดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ไล่เลี่ยกับการจัดตั้งรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ทำให้การบินลัดฟ้ามาเจรจาครั้งนี้เป็นที่น่าจับตามองถึงความคืบหน้าและความเป็นไปได้ของการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป