ADB ชี้ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ยังไม่พร้อมรับมือประชากรสูงวัย

สูงวัย

ADB ธนาคารพัฒนาเอเชีย เผยการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วในประเทศกำลังพัฒนาของเอเชีย เผชิญความท้าทาย ยังไม่มีการเตรียมพร้อมรับทั้งเรื่องระบบบำนาญ-สวัสดิการต่ำ รักษาความเป็นอยู่ที่ดีในวัยชรา

วันที่ 6 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือเอดีบี เปิดรายงาน Aging Well in Asia : Asian Development Policy Report (เผยแพร่ 2 พฤษภาคม 2567) ในงานประชุมประจำปีครั้งที่ 57 ที่ประเทศจอร์เจีย ระบุว่าประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิกยังไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะรักษาความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรขณะเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ทำให้การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุในภูมิภาคเผชิญกับความท้าทาย ตั้งแต่ความคุ้มครองเงินบำนาญต่ำ ไปจนถึงปัญหาสุขภาพ การแยกตัวทางสังคม และการเข้าถึงบริการสาธารณะที่จำเป็นอย่างจำกัด

แม้ว่าอายุขัยที่ยืนยาวขึ้นจะสะท้อนถึงความสำเร็จในการพัฒนาของภูมิภาค แต่การปฏิรูปนโยบายที่ครอบคลุมก็มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อสนับสนุนสวัสดิการของผู้สูงอายุ

รายงานระบุว่า จำนวนผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิก คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 567.7 ล้านคนในปี 2565 เป็น 1.2 พันล้านในปี 2593 หรือประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด ส่งผลให้มีความต้องการโครงการบำนาญและสวัสดิการ และบริการด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ในเวลาเดียวกันเศรษฐกิจก็มีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากกลุ่มประชากรสูงวัย ในรูปแบบของผลผลิตเพิ่มเติมจากผู้สูงอายุ ซึ่งอาจช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในภูมิภาคได้โดยเฉลี่ย 0.9%

Advertisment

“การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเอเชียและแปซิฟิกถือเป็นเรื่องราวความสำเร็จ แต่ก็ยังกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ครั้งใหญ่ และความกดดันก็เพิ่มสูงขึ้น” อัลเบิร์ต พาร์ก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ADB กล่าวและว่า

“รัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่ตอนนี้ ในการที่จะช่วยเหลือผู้คนหลายร้อยล้านคนในภูมิภาคนี้ที่มีอายุยืนยาวให้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ รัฐบาลควรสนับสนุนนโยบายการลงทุนตลอดชีวิตด้านสุขภาพ การศึกษา ทักษะ และการเตรียมพร้อมทางการเงินเพื่อการเกษียณอายุ ความสัมพันธ์ในครอบครัวและสังคมยังเป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมประชากรผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีและมีประสิทธิผล และเพิ่มการมีส่วนร่วมในสังคมให้สูงสุด”

อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ 40% ของผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในเอเชียและแปซิฟิกไม่สามารถเข้าถึงเงินบำนาญทุกรูปแบบ โดยที่ผู้หญิงได้รับผลกระทบมากกว่า เนื่องจากผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะทำงานบ้านโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน เป็นผลให้ผู้สูงอายุจำนวนมากในภูมิภาคไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องทำงานเกินวัยเกษียณเพื่อความอยู่รอด

โดยในบรรดาผู้ที่ยังคงทำงานเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป พบว่า 94% ทำงานในภาคนอกระบบ ซึ่งโดยทั่วไปไม่ได้รับการคุ้มครองแรงงานขั้นพื้นฐานหรือสวัสดิการเงินบำนาญ

Advertisment

ขณะที่ความท้าทายด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตก็เพิ่มขึ้นตามอายุเช่นกัน ผู้สูงอายุประมาณ 60% ในเอเชียและแปซิฟิกไม่เข้าร่วมหรือรับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ ขณะที่ 31% รายงานว่ามีอาการซึมเศร้าเนื่องจากการเจ็บป่วย การแยกตัวทางสังคม และความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ผู้หญิงสูงอายุในภูมิภาคนี้มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาสุขภาพไม่ดีมากกว่าผู้ชายสูงอายุ ตั้งแต่ภาวะซึมเศร้า เบาหวาน และความดันโลหิตสูง

นอกจากนี้ รายงานยังได้แนะนำมาตรการเชิงนโยบายที่หลากหลาย เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพดีและมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การประกันสุขภาพและแผนบำนาญที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล โครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น และการตรวจสุขภาพประจำปีฟรี รวมถึงการประเมินรูปแบบการใช้ชีวิต ซึ่งผู้กำหนดนโยบายควรมุ่งเป้าไปที่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ในขณะที่การคุ้มครองแรงงานขั้นพื้นฐาน ควรครอบคลุมไปถึงแรงงานสูงวัยนอกระบบด้วย พร้อมกับการทำให้ผู้เกษียณอายุภาคบังคับมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดี และมอบโอกาสในการทำงานที่เหมาะสม รวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการพัฒนาทักษะ เศรษฐกิจในภูมิภาคสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุมีประสิทธิผลการทำงานได้นานขึ้น