ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ มองความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ คือต้องดูแลเงินเฟ้อให้เหมาะสมตามกรอบที่ตกลงกับรัฐบาล ยันกฎหมายไม่มีเขียนคำว่า “อิสระ” ชี้ต้องทำงานร่วมกัน แค่กฎหมายเขียนให้ปลดผู้ว่าการยาก ระบุทุกคนมีสิทธิตั้งคำถามแบงก์ชาติได้ เหตุนโยบายกระทบทุกคน
วันที่ 6 พฤษภาคม 2567 ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรนาคินภัทร ว่าที่ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ทางช่อง MCOTHD 30 ถึงประเด็นความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่ามีอยู่ 2 เรื่องหลักที่ต้องคุยกัน คือ 1.เรื่องเกี่ยวกับนโยบายการเงินว่าจะมีความเป็นอิสระเท่าไหร่เพราะอะไร กับเรื่องที่ 2.คือเรื่องของกฎหมาย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยเรื่องความอิสระที่ว่ามานี้
โดยในส่วนหลักการของนโยบายการเงินที่บอกว่าให้มีความเป็นอิสระ ก็เพราะว่ากลัวว่าในปกติแล้วนักการเมืองที่พยายามจะมองทุกอย่าง บางทีต้องมองในระยะสั้น ใกล้การเลือกตั้ง ก็อาจจะต้องมองเรื่องการให้กระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจดูดีในระยะสั้น แต่หากทำแบบนั้นแล้ว หากเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ก็จะยิ่งทำให้เงินเฟ้อสูงเข้าไปใหญ่ ดังนั้นความที่จะมีแบงก์ชาติทั่วไปหรือธนาคารกลางทั่วโลกควรจะมีอิสระในการดำเนินนโยบายให้ดอกเบี้ยอยู่ในระดับเหมาะสม ให้เงินเฟ้อไม่สูงโดยในระยะยาว นั่นคือหลักการ
“คราวนี้ ปัญหาของประเทศไทยคือเงินเฟ้อมันต่ำกว่ากรอบมานาน มันไม่เหมือนกัน และบางประเทศอย่างประเทศญี่ปุ่น เขาก็เดินนโยบายการเงินพลาดจนกระทั่งเข้าสู่ภาวะเงินฝืดต่อเนื่องมากว่า 20 ปี รัฐบาลญี่ปุ่นต้องไปปลดผู้ว่าการ และเอาผู้ว่าการคนใหม่เข้ามา และกระตุ้นโดยใช้ QE โดยใช้เวลากว่า 6-7 ปีกว่าที่จะดึงเศรษฐกิจออกจากภาวะเงินฝืดได้
ประเทศไทยก็เหมือนกัน ในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เงินเฟ้อเฉลี่ยของเราแค่ประมาณ 0.5% เท่านั้น ต่ำกว่าเป้าของแบงก์ชาติ และตอนนั้นแบงก์ชาติต้องเขียนจดหมายอธิบายตัวเองให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประมาณ 6-7 ฉบับ ณ วันนั้นดอกเบี้ยนโยบายจริง เพียงแค่ประมาณ 1% ก็คือดอกเบี้ยนโยบายประมาณ 1.5% และเงินเฟ้อประมาณ 0.5%”
ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ที่มีการตั้งคำถามกันวันนี้ ก็คือว่าเงินเฟ้อตอนนี้เป็น 0% ถึงขั้นติดลบด้วยซ้ำ แต่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.5% ฉะนั้นเวลาพูดถึงความเป็นอิสระของแบงก์ชาติในการดำเนินนโยบายเพื่อให้มีเสถียรภาพของราคา แปลว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของแบงก์ชาติที่ 1-3% ต้องอยู่ในกรอบ ซึ่งวันนี้เงินเฟ้อไม่ได้อยู่ในกรอบ และอยู่ต่ำกว่ากรอบมาก เพราะเศรษฐกิจก็ไม่ได้โตดี โตแค่เพียง 1.5%
ดังนั้นอิสระที่ว่า คืออิสระในการดำเนินนโยบายการเงินให้มีเสถีรภาพทางด้านราคา หมายความว่าเงินเฟ้อไม่ต่ำเกินไป และไม่สูงจนเกินไป และมีหน้าที่อื่น ๆ ของแบงก์ชาติอีก อย่างเช่น การดูแลสถาบันทางการเงิน แต่เรื่องนี้บางประเทศเป็นกระทรวงการคลังดูแลไม่ใช่แบงก์ชาติ ก็ไม่ว่ากัน ความเป็นอิสระในการดูแลสถาบันการเงินก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ลักษณะก็คือต้องการให้เกิดเสถียรภาพ มีความมั่นคงกับสถาบันการเงินเหมือนกัน นั่นคือภาพโดยรวม ฉะนั้นอิสระที่ว่าเป็นอิสระของการดำเนินนโยบายการเงิน
“คราวนี้มาถึงกฎหมายการดำเนินนโยบายของ ธปท. หากไปอ่านดูจะเห็นว่าในกฎหมาย ไม่มีสักคำเดียว ที่ใช้คำว่าอิสระ ไม่มีสักคำ ที่ว่าแบงก์ชาติต้องแข็งแรง แต่มาตรา 4 บอกว่า รัฐมนตรีคลังเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตราที่ 5 ธปท.เป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ที่ไม่ใช่เป็นส่วนราชการในเชิงของกฎหมายงบประมาณแปลว่า เขาใช้วิธีงบประมาณของเขาเองได้ แต่ตอนจบแล้วแบงก์ชาติเอง ถ้าหากดูมาตรา 56 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ก็เป็นผู้สอบบัญชีของแบงก์ชาติ
ฉะนั้น ถ้าจะบอกว่าเป็นอิสระไหม ถ้าอ่านแบบนี้ คือไม่ใช่ เป็นหน่วยงานของรัฐ และมีภารกิจเพื่อเป็นงานของธนาคารกลาง ก็คือทำงานในหน่วยงานรัฐ และคนที่คุมอยู่ทุกอย่าง อย่างเช่นไปดูหมวดที่ 8 การกำกับดูแลก็คือ รัฐมนตรี รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการของ ธปท. ถ้าไปดูก็จะเป็นแบบนั้นหมดเลย”
ดร.ศุภวุฒิกล่าวอีกว่า ประเด็นจริง ๆ ถ้าไปดูว่าแบงก์ชาติมีหน้าที่ทำอะไร คือหน้าที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับพอดี โดยคำนึงถึงแนวนโยบายของรัฐ คำว่า “โดยคำนึงถึงนโยบายแห่งรัฐ” ใช้ประมาณ 3 ครั้ง ในกฎหมาย ฉะนั้น ต้องเกี่ยวโยงอยู่แล้ว และถ้าไปอ่านในสาระจะเห็นว่าส่วนใหญ่ จะพูดถึงว่า แบงก์ชาติจะต้องพูดคุยกับรัฐบาล เพื่อกำหนดเป้านโยบายเงินเฟ้อร่วมกัน และมีหลายมาตราเลยที่พูดถึงว่าต้องไปรายงานให้รัฐบาลทราบ ต้องตกลงกับรัฐมนตรี ต้องไปส่งให้ ครม.เห็นชอบ
“เพราะฉะนั้นจะบอกว่าเป็นอิสระจากรัฐบาล มันไม่ใช่ มันต้องทำงานร่วมกันจริง ๆ และทำงานภายใต้รัฐบาลด้วยซ้ำ แต่ที่กฎหมายฉบับนี้ มันมีความแตกต่าง ก็คือ การปลดผู้ว่าการ ทำได้ยากมาก แต่ประเด็นการทำงาน มันไม่ได้มีว่า แบงก์ชาติเป็นอิสระเลย ไม่มีคำว่าอิสระสักคำเดียว ฉะนั้นสิ่งที่แตกต่างในสาระสำคัญจริง ๆ คือ กฎหมายที่เขียนในเรื่องของการปลดผู้ว่าการ แต่พูดถึงการทำงานแล้วดูตามสาระของกฎหมายแล้วจริง ๆ แบงก์ชาติทำงานภายใต้รัฐบาลด้วยซ้ำ เพื่อดูแลเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับเหมาะสม”
โดยตามกฎหมาย การจะปลดผู้ว่าการได้มีได้ 2 กรณีเท่านั้น จริง ๆ คือ ผู้ว่าการไม่มีศักยภาพในการทำงาน หรือผู้ว่าการทุจริต ทำความผิดที่ร้ายแรง โดยหลักจะเป็นแบบนั้น ซึ่งในอดีต ที่มีการปลดผู้ว่าการ ด้วยความเห็นไม่ตรงกัน แต่ว่าในกรณีนี้จะทำไม่ได้ เพราะว่ากฎหมายเขียนแบบนี้
“ดูเจตนารมณ์ของกฎหมายชัดเจน ว่าแบงก์ชาติต้องร่วมทำงานกับรัฐบาล แล้วก็ร่วมกันกำหนดเป้าเงินเฟ้อด้วยซ้ำ แล้วถ้าไม่เข้าเป้า แบงก์ชาติมีหน้าที่ต้องอธิบาย แต่ที่ผ่านมา จะเห็นว่าที่จริงกระทรวงการคลังเขาก็เห็นว่าเขาก็ให้ความยืดหยุ่นกับแบงก์ชาติมาก แบงก์ชาติจะเปลี่ยนเป้าเงินเฟ้อกี่ครั้ง 2-3 ครั้งก็ปล่อยให้เปลี่ยน แม้กระทั่งเปลี่ยนไปแล้ว เป้าตอนนี้ก็ยังไม่เข้าเป้าเลยนะ”
ดร.ศุภวุฒิกล่าวอีกว่า สมมุติว่าปลายปีนี้เงินเฟ้อไม่กระเตื้องขึ้นเลย เศรษฐกิจฟื้นขึ้นไม่ได้ แบงก์ชาติก็จะรู้ ทุกคนก็จะรู้ว่าเศรษฐกิจภายใต้ดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ว่าสูงเกินไป แล้วแบงก์ชาติก็จะต้องยอมลดดอกเบี้ยภายหลัง แต่ปัญหาคือคำว่าภายหลัง ก็จะสายเกินไปแล้ว เศรษฐกิจค่อนข้างที่จะตกต่ำเกินไปมากและการสูญเสียศักยภาพทางเศรษฐกิจ แทนที่ GDP จะโตได้ 3% ก็โตได้แค่ 0.5% ซึ่ง 1.5% ที่หายไป ก็ประมาณ 2 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว
“ก็อยากจะให้แบงก์ชาติคิดให้ดีเหมือนกัน ว่าแนวคิดที่คิดไปมันถูกไหม จะเป็นอย่างไร แล้วมองไปข้างหน้าความไม่แน่นอนสูงในเศรษฐกิจโลกด้วยอย่างที่เราทราบกัน เศรษฐกิจโลกไม่ได้แปลว่าฟื้นตัวดี ส่งออกเราก็โตแค่ 1-2% เท่านั้นเอง ผมไม่แน่ใจว่านโยบายดอกเบี้ยจริงที่สูงมากขนาดนี้ มันเหมาะสมยังไง ซึ่งผมคิดว่าทุกคนมีสิทธิที่จะตั้งคำถามไปถึงแบงก์ชาติได้ เพราะว่านโยบายกระทบทุกคน” ดร.ศุภวุฒิกล่าว