เปิดกฎหมายแบงก์ชาติ บทบาทหน้าที่เป็นอิสระแค่ไหน ?

แบงก์ชาติ

เปิดบทบาทหน้าที่การรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ และการทำงานของ ธปท. ภายใต้ขอบเขต พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 มีอำนาจอะไรบ้าง และทำงานภายใต้ใครบ้าง

วันที่ 6 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) พูดบนเวทีในงาน “10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10” ตอนหนึ่งว่า…

“ตอนนี้กฎหมายพยายามจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระจากรัฐบาล เรื่องนี้เป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญมาก ๆ ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะนโยบายด้านการคลังถูกใช้งานข้างเดียวมาตลอด และประเทศเรามีหนี้สูงมากขึ้น และมากขึ้นทุกปี จากการตั้งงบประมาณขาดดุล ถ้านโยบายการเงินที่บริหารโดยธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ยอมเข้าใจและไม่ยอมให้ความร่วมมือ ประเทศจะไม่มีทางลดเพดานหนี้ได้เลย”

เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุถึงกฎหมาย และบทบาทและหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ไว้ว่า “ธปท. มีบทบาทหน้าที่หลักในการบริหารจัดการให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน”

Advertisment

หน้าที่หลักแบงก์ชาติ

เว็บไซต์แบงก์ชาติ ระบุว่า หน้าที่หลักของแบงก์ชาติ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ส่งผลต่อความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืนของประชาชนนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมถึงการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศที่ดี ซึ่งตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน ดังนี้

    1. ออกและจัดการธนบัตรและบัตรธนาคาร
    2. กำหนดและดำเนินนโยบายการเงิน
    3. บริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท.
    4. เป็นนายธนาคารและนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล
    5. เป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน
    6. จัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงิน
    7. กำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน
    8. บริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงิน รวมทั้งบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตรา
    9. ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน

กำหนดและดำเนินนโยบายการเงิน

หน้าที่ของธนาคารกลางทุกแห่ง คือ การกำหนดนโยบายการเงิน เพื่อสร้างระบบทางการเงินที่มีเสถียรภาพ รักษาระดับราคาของสินค้าและบริการไม่เปลี่ยนแปลงอย่างเร็วและมากจนเกินไป จนส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนได้

รักษาเสถียรภาพระบบการเงิน

การรักษาความมั่นคงของระบบการเงินเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบการเงินที่มีเสถียรภาพจึงมีความสำคัญ เพราะหากขาดเสถียรภาพอาจสามารถลุกลามเป็นวิกฤตการเงิน (financial crisis) ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชน

กำกับระบบสถาบันการเงิน

กำหนดกลยุทธ์การพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และนโยบาย หลักเกณฑ์ รวมถึงกำกับตรวจสอบการดำเนินงาน และการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงิน เพื่อให้ระบบสถาบันการเงินมีประสิทธิภาพ ฐานะมั่นคง สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างมีเสถียรภาพ

Advertisment

ความสำคัญของเสถียรภาพระบบการเงิน

เสถียรภาพระบบการเงิน (Financial Stability) คือระบบการเงินที่มีสุขภาพดี สามารถทำหน้าที่ให้บริการทางการเงินได้อย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมทางการเงิน การลงทุน และการระดมทุนของภาคส่วนต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจ ระบบการเงินที่มีเสถียรภาพจะต้องมีภูมิคุ้มกันที่สามารถทนทาน (resilient) ต่อแรงกดดันจากปัจจัยไม่คาดฝันต่าง ๆ (shocks) ได้ดี

ทำไมจึงต้องดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน

เสถียรภาพระบบการเงิน หรือระบบการเงินที่มีสุขภาพดี จะสามารถทำหน้าที่ให้บริการทางการเงินได้อย่างราบรื่น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตทางเศรษฐกิจของไทย ดังนี้

1.ระบบการเงินที่มีสุขภาพดี จะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจที่รุนแรง

เพราะในโลกเศรษฐกิจการเงิน หากระบบการเงินมีความเปราะบางแม้เพียงจุดเล็กจุดเดียว ก็สามารถลุกลามไปสู่ปัญหาเชิงระบบ (systemic risk) ได้ เช่น เมื่อเกิดฟองสบู่ขนาดใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ จนทำให้ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หากฟองสบู่แตก ผลกระทบจะไม่ได้อยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์เพียงอย่างเดียว แต่อาจลุกลามไปยังภาคการเงิน ตลอดจนภาคธุรกิจเกี่ยวเนื่อง จนทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในที่สุดและส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง

2.ระบบการเงินที่มีสุขภาพดี จะช่วยให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ไม่แน่นอน ซับซ้อน และไม่ชัดเจน (Volatility, Uncertainty, Complexity and Ambiguity : VUCA) ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนทั่วโลก ราคาน้ำมันที่ผันผวนสูง และการลงทุนในสินทรัพย์รูปแบบใหม่ ทำให้ระบบการเงินโลกมีความเชื่อมโยงและซับซ้อนมากขึ้น กล่าวได้ว่า ยิ่งสถานการณ์โลกคาดเดาได้ยากมากขึ้นเท่าไร การรักษาเสถียรภาพทางการเงินก็ยิ่งมีความสำคัญและจำเป็นต่อการสนับสนุนเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนมากขึ้นเท่านั้น

ขอบเขตการทำงาน ธปท.ภายใต้ กฎหมาย ธปท.

สำหรับพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 กำหนดวัตถุประสงค์ ขอบเขตการทำงาน และโครงสร้างของธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ดำเนินการตามมาตรฐานสากลของธนาคารกลาง เพื่อให้ระบบการเงิน ระบบสถาบันการเงิน และระบบการชำระเงินมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ และมีกระบวนการตัดสินใจด้วยความโปร่งใส รอบคอบ

สรุปสาระสำคัญและคำอธิบาย พ.ร.บ.ธปท. ดังนี้

1.ความมุ่งหมายของกฎหมาย กฎหมายฉบับนี้มีขึ้นเพื่อจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยให้ทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางของ ประเทศดูแลเสถียรภาพทางการเงิน เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และเสถียรภาพระบบ การชำระเงินของประเทศ นอกจากนี้ ได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบัน การเงินให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่ฟื้นฟูและพัฒนา ระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ

2.สรุปสาระสำคัญของกฎหมาย

2.1 กำหนดวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งต้องดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงิน เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน (มาตรา 7) และอำนาจในการกระทำกิจการต่าง ๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ (มาตรา 8) และกำหนดข้อห้ามมิให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกระทำการในเรื่องต่าง ๆ (มาตรา 9)

2.2 กำหนดกระบวนการได้มา องค์ประกอบ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม การประชุม และองค์ประชุม วาระในการดำรงตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ และการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (หมวด 4) ได้แก่ คณะกรรมการธนาคาร แห่งประเทศไทย (มาตรา 24 ถึงมาตรา 28/5) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (มาตรา 28/6 ถึงมาตรา 28/8) คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (มาตรา 28/9 ถึงมาตรา 28/10) และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน (มาตรา 28/11 ถึงมาตรา 28/12)

2.3 กำหนดกระบวนการคัดเลือกคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าการ รวมทั้งกำหนดให้ผู้ว่าการมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ กิจการของ ธปท. รวมทั้งข้อห้ามมิให้ผู้ว่าการซึ่งพ้นจากตำแหน่งไปดำรงตำแหน่งใดในสถาบันการเงิน ใดภายในระยะเวลา 2 ปีนับแต่พ้นจากตำแหน่ง (หมวด 5)

2.4 กำหนดสถานะ วัตถุประสงค์ ที่มาของแหล่งเงิน และอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน องค์ประกอบ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การประชุมและองค์ประชุม อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจัดการกองทุน (หมวด 5 ทวิ)

2.5 กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ด้านต่าง ๆ ได้แก่ การออกธนบัตรของรัฐบาลและบัตรธนาคาร การดำเนินนโยบายการเงิน 1 คำอธิบายนี้มีขึ้นเพื่อประโยชน์ในการเข้าใจสาระสำคัญของกฎหมายเท่านั้น ส่วนการจะปฏิบัติตามกฎหมายให้เป็นไปอย่าง ถูกต้องนั้น ประชาชนจะต้องศึกษา ทำความเข้าใจ ตรวจสอบ และยึดถือตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ 2 การบริหารจัดการสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย การเป็นนายธนาคารและนายทะเบียน หลักทรัพย์ของรัฐบาล การเป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน การรักษาเสถียรภาพของระบบ เศรษฐกิจและระบบการเงิน การจัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงิน (หมวด 6)

2.6 กำหนดข้อห้ามมิให้ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานและลูกจ้างกระทำการอันใดที่ขัดหรือ แย้งระหว่างผลประโยชน์ของตนและผลประโยชน์ของ ธปท. หรือขัดแย้งกับการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง รวมทั้งให้พนักงานหรือลูกจ้างเปิดเผยข้อมูลส่วนได้ส่วนเสียของตนในการปฏิบัติหน้าที่ และห้ามพนักงานหรือลูกจ้างที่มีส่วนได้ส่วนเสียพิจารณาหรือเข้าร่วมการประชุมในเรื่องที่ตนมีส่วนได้ส่วนเสีย และห้ามพนักงานและลูกจ้างดำรงตำแหน่งรับจ้างหรือทำงานในสถาบันการเงิน เว้นแต่เป็นไปตามข้อบังคับของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (มาตรา 46 ถึงมาตรา 48)

2.7 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของธนาคารแห่งประเทศไทย และให้ธนาคารแห่งประเทศไทยหารือเป็นครั้งคราวร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อประโยชน์ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเงิน หรือระบบสถาบันการเงิน

โดยกรณีมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายอย่างรุนแรง ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานข้อเท็จจริง ประเมินผลกระทบหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น วิเคราะห์ปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไขต่อรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีอาจให้ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานข้อเท็จจริง วิเคราะห์ปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายอย่างรุนแรงก็ได้รวมถึงให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานต่อรัฐมนตรี โดยเร็วในกรณีฐานะสุทธิของเงินสำรองระหว่างประเทศของทางการต่ำกว่าระดับที่จำเป็นต่อการรักษาเสถียรภาพทางการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา (หมวด 8)

2.8 กำหนดให้การบัญชีของธนาคารแห่งประเทศจัดทำตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป เว้นแต่คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดเฉพาะเรื่องเป็นอย่างอื่นเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติของธนาคารกลางอื่นได้ (มาตรา 54) และให้มีคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อทำหน้าที่กำกับ ดูแลการตรวจสอบกิจการของธนาคารแห่งประเทศไทย (มาตรา 55)

2.9 กำหนดโทษทางอาญาสำหรับบุคคลที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมาย ฉบับนี้กำหนด (มาตรา 62) และสำหรับผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างที่กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายฉบับนี้กำหนด (มาตรา 64 และมาตรา 66 ถึงมาตรา 75) และกำหนดโทษปรับทางพินัยสำหรับบุคคลและสถาบันการเงินที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายฉบับนี้กำหนด (มาตรา 63 และมาตรา 65)