ไฮสปีด 3 สนามบินมีทางออก EEC เปิดช่อง “เอรา วัน” ขอสิทธิแทน BOI ได้

รถไฟไฮสปีด.
แฟ้มภาพ

EEC เผย “ซี.พี.” ยื่นอุทธรณ์ขอบีโอไอต่ออายุออกบัตรส่งเสริมการลงทุน รอฟังคำตอบสัปดาห์หน้า แนะทางออกยื่นขอสิทธิประโยชน์จากกฎหมาย EEC ได้ยกเว้นภาษีสูงสุดถึง 13 ปี บวกฟรีวีซ่า Work Permit เชื่อเอกชน-ร.ฟ.ท.ไม่ยกเลิกสัญญาระหว่างทางหวั่นถูกฟ้อง ห่วงกระทบโครงการอื่นลากยาวตาม

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ EEC) กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) หรือไฮสปีด ว่าหลังจากที่โครงการได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไปตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ยอมรับว่าโครงการยังคงล่าช้า และยังไม่เริ่มนับ 1 เนื่องจากยังไม่มีการลงทุนใด ๆ บวกกับอุปสรรคเรื่องของการออกบัตรส่งเสริมที่ได้หมดอายุไปแล้ว

จุฬา สุขมานพ
จุฬา สุขมานพ

โดยทางบีโอไอไม่ขยายเวลาให้กับผู้ชนะการประมูลคือ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (เครือ ซี.พี.) ซึ่งล่าสุดทางบริษัทเอรา วัน ได้ยื่นอุทธรณ์ ขอให้บีโอไอขยายเวลาการออกบัตรส่งเสริมให้ ระหว่างนี้จึงรอคำตอบจากทางบีโอไอ ซึ่งคาดว่าจะได้คำตอบภายในสัปดาห์หน้า

เมื่อได้คำตอบแล้วว่า หากบีโอไอยังคงยืนยันไม่ต่ออายุออกบัตรส่งเสริมให้ทางบริษัทเอรา วัน สามารถยื่นขอสิทธิประโยชน์จาก EEC ได้ หรือที่เรียกว่า “สัญญาสิทธิประโยชน์” เนื่องจากใน พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2561 ได้ให้สิทธิประโยชน์ไว้ครอบคลุมทั้งเรื่องของภาษี ซึ่งจะได้ยืนพื้นที่การยกเว้นภาษีที่ 8 ปี และจะบวกเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้อีกตามประเภทกิจการ

โดยเฉพาะหากเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ทำตามเงื่อนไข เช่น การวิจัย การจ้างคน ลงทุนในพื้นที่เขตส่งเสริมที่ประกาศทั้ง 37 เขต จะได้รับการยกเว้นภาษีเพิ่มอีกถึง 5 ปี ดังนั้น สิทธิประโยชน์จาก EEC จึงได้เรื่องของภาษีสูงสุดที่ 13 ปี และยังได้สิทธิประโยชน์ด้านอื่น ๆ อีก เช่น ฟรีวีซ่า การเช่าที่ดิน ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ทั้งนี้ ยังอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนแบบที่เดียวจบ (One Stop Service) ซึ่งแน่อนว่าสูงกว่าบีโอไอ

“ขึ้นอยู่กับว่าทางบริษัทเอรา วัน เขาอยากจะขอสิทธิประโยชน์ของบีโอไอใหม่หรือไม่ ถ้าเขาอยากได้สิทธิตรงนั้น เขาก็ยื่นขอใหม่ ก็เริ่มกระบวนการขอใหม่ แต่ถ้าไม่อยากได้ก็มาขอสิทธิกับทางเรา EEC ก็มีให้ หรือถ้าเขาไม่อยากได้สิทธิอะไรเลยก็ไม่ต้องขอก็ได้ เพราะมันไม่ได้กระทบการเดินหน้าโครงการลงทุนอยู่แล้ว เขาก็แค่ไม่ได้สิทธิเรื่องของภาษีในตอนที่เขาเกิดมีรายได้ขึ้นมา”

ในสเต็ปถัดไปเมื่อบีโอไอชัดเจนแล้ว ว่าหากไม่ต่ออายุออกบัตรส่งเสริมให้ ก็จะแจ้งไปกับทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการที่ร่วมลงทุนอยู่ในสัญญารับทราบ เพื่อยกเลิกข้อที่ระบุในสัญญาเรื่องสิทธิประโยชน์ตัดออกไป จากนั้นก็จะสั่งให้บริษัทเอรา วัน เริ่มลงทุน เนื่องจากไม่มีปัญหาเรื่องบัตรส่งเสริมแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากเกิดกรณีว่า ร.ฟ.ท.ขอยกเลิกสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ก็จะเข้าไปสู่กระบวนฟ้องร้องกันอย่างแน่นอน เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นการลงทุนในรูปแบบร่วมลงทุนรัฐและเอกชน (PPP) ซึ่งการจะบอกยกเลิกสัญญาไม่ว่าจะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ย่อมเกิดการฟ้องร้องขึ้นแน่นอน

ทั้งนี้ ในส่วนของบริษัทเอรา วัน การเดินหน้าโครงการต่อ EEC ไม่สามารถตอบแทนเอกชนได้ แต่ยังคงยันยันว่าไฮสปีดต้องเดินหน้าต่อ เพราะเป็นโครงการที่เชื่อมกับสนามบินอู่ตะเภา หากล่าช้าออกไปมากกว่านี้อาจกระทบโครงการอื่น

“ในสัญญาที่เอกชนเขาได้รับสัมปทานมันมีระบุไว้ในเรื่องว่าต้องได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ แต่อย่างที่ทราบว่าเมื่อบีโอไอไม่ต่ออายุให้ ทางออกก็คือให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่จะมีการแก้ไขสัญญาในส่วนนี้ ว่าหากไม่มีบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ก็สามารถที่จะออกใบอนุญาตเข้าพื้นที่ก่อสร้าง (NTP) ให้กับเอกชนก่อนได้”