กดเงินไม่ใช้บัตร ATM พุ่ง 3 เท่า แห่เปิดใช้ข้ามแบงก์-เพิ่มค่าฟี

atm

ธนาคารใหญ่เร่งแผนจับมือเชื่อมระบบเปิดบริการ “กดเงินไม่ใช้บัตร” ข้ามธนาคาร ครอบคลุมทั้งระบบแบงก์-น็อนแบงก์ในปีนี้ เพิ่มทางเลือกบริการลูกค้า-หนุนรายได้ค่าฟี SCB เชื่อม “กสิกรไทย” คาดไตรมาส 4 แล้วเสร็จ หนุนค่าฟีเอทีเอ็มเพิ่ม 2-3 เท่า “กสิกรไทย” นำร่องจับมือแบงก์กรุงเทพเริ่มคิดค่าฟี 1 มิ.ย. ชี้ช่วยลดต้นทุนบริหารเงินสด ข้อมูล ธปท.ชี้สัดส่วนถอนเงินไม่ใช้บัตรเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า

SCB จับมือเคแบงก์

ดร.ชาลี อัศวธีระธรรม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าบริหาร กลุ่มงาน Digital Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ธนาคารไทยพาณิชย์อยู่ระหว่างพัฒนาบริการ “กดเงินไม่ใช้บัตร” ระหว่างธนาคาร ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย เพื่อเพิ่มความสะดวกและยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้าที่ใช้โมบายแบงกิ้ง SCB Easy และลูกค้า K PLUS ให้มีทางเลือกในการกดเงินไม่ใช้บัตรมากขึ้น ซึ่งการร่วมมือกันก็ทำให้ลูกค้ามีเครื่องเอทีเอ็มที่ให้บริการเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว โดยแผนพัฒนาบริการ “กดเงินไม่ใช้บัตร” ข้ามแบงก์กับธนาคารกสิกรไทย คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้

นอกจากความร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย ยังจะมีแผนความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย รวมทั้งมีแผนขยายการให้บริการน็อนแบงก์รายอื่น ๆ อาทิ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, เงินติดล้อ และ A Money เป็นต้น

โดยปัจจุบันไทยพาณิชย์ให้บริการกดเงินไม่ใช้บัตร ข้ามแบงก์กับธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี), ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารไทยเครดิต รวมทั้งกลุ่มน็อนแบงก์ต่าง ๆ อาทิ Umay+, AEON, Cashmallow (Korea e-Wallet)

ลดต้นทุน-เพิ่มรายได้

ดร.ชาลีกล่าวว่า ความร่วมมือบริการ “กดเงินไม่ใช้บัตร” ข้ามแบงก์ สามารถช่วยลดต้นทุนการให้บริการด้านการเงินในภาพรวมได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากผู้ให้บริการด้านการเงินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารหรือน็อนแบงก์ สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งตู้ ATM ไม่ว่าจะเป็นค่าเครื่อง, ค่าเช่า, ค่าบริหารจัดการเงินสดในตู้, ค่าดูแลรักษา ATM และค่าซ่อมบำรุงต่าง ๆ เป็นต้น

Advertisment

ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมให้กับธนาคาร รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการขายผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ของธนาคารให้กับลูกค้าของกลุ่มพันธมิตรที่มาใช้บริการ “กดเงินไม่ใช้บัตร” ผ่านตู้ ATM ของธนาคารอีกด้วย

นอกจากนี้ ตู้เอทีเอ็มไทยพาณิชย์ยังรองรับการให้บริการกดเงินจากบัตรกดเงินสดของผู้ให้บริการรายต่าง ๆ อาทิ CardX SPEEDY CASH, เงินไชโย, Umay+, AEON, เงินติดล้อ และ Kashjoy Easy Card เป็นต้น

ค่าฟี 10-15 บาทต่อรายการ

ดร.พิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การกดเงินไม่ใช้บัตรข้ามธนาคาร ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้ามีช่องทางในการถอนเงินไม่ใช้บัตรเพิ่มขึ้น ขณะที่เคแบงก์อยู่ระหว่างการพูดคุยกับธนาคารแห่งอื่น ๆ ทั้งในกลุ่มธนาคารพาณิชย์กันเอง และน็อนแบงก์ ในการเชื่อมระบบการถอนเงินข้ามธนาคาร หลังจากที่ได้เริ่มทำกับธนาคารกรุงเทพแล้ว ซึ่งขณะนี้ยังเปิดให้ใช้บริการฟรี ไม่คิดค่าบริการจนถึง 31 พ.ค.นี้ โดยความร่วมมือให้บริการดังกล่าวจะทยอยออกมาให้เห็นเพิ่มขึ้นภายในปีนี้

ทั้งนี้ โมเดล “การถอนเงินไม่ใช้บัตรข้ามธนาคาร” จะเป็นโมเดลหลักเพื่อรองรับพฤติกรรมการทำธุรกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป เนื่องจากลูกค้ากดเงินสดน้อยลง และหันไปใช้จ่ายผ่านการสแกน QR Code แทน ซึ่งโมเดลนี้จะช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการเงินสดทั้งระบบ และลดค่าใช้จ่ายในการดูแลเครื่องเอทีเอ็มของแต่ละธนาคารได้

Advertisment

ดร.พิพัฒน์พงศ์กล่าวว่า อัตราการคิดค่าธรรมเนียมในการใช้บริการ “กดเงินไม่ใช้บัตรข้ามธนาคาร” จะขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างคู่ธนาคาร เนื่องจากฐานลูกค้า และจำนวนเครื่องเอทีเอ็มแต่ละแห่งไม่เท่ากัน โดยเฉลี่ยจะอยู่ตั้งแต่ 10-15 บาทต่อรายการ เป็นต้น ซึ่งส่วนหนึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมให้ธนาคาร และส่วนหนึ่งก็ลดค่าใช้จ่าย เช่น ธนาคารกสิกรไทย มีเครื่องเอทีเอ็มกว่า 10,000 เครื่อง หลังจากนี้หากเครื่องเอทีเอ็มหมดอายุอาจจะไม่ได้ซื้อเครื่องใหม่ เพราะสามารถใช้งานร่วมกัน ทำให้ภาพรวมเครื่องเอทีเอ็มจะทยอยปรับลดลง แต่จะไม่ได้หายไปทั้งหมด

“เราจะใช้โมเดลการถอนเงินไม่ใช้บัตรข้ามธนาคาร มาเป็นโมเดลในการบริหารจัดการเครื่องเอทีเอ็ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและลดค่าใช้จ่ายของแต่ละแบงก์ จากเดิมที่จะใช้โมเดล ตู้เอทีเอ็มสีขาว แต่เนื่องจากอิมพลีเมนต์ค่อนข้างยากและซับซ้อน เพราะมีเรื่องของต้นทุนและโครงสร้างรายได้ที่แตกต่างกัน โดยหลังจากนี้ธนาคารจะมีการคุยกันเป็นคู่ ๆ เนื่องจากจะต้องมีการปรับระบบเพื่อให้การถอนเงินข้ามธนาคารสามารถเชื่อมกันได้ ส่วนค่าธรรมเนียมขึ้นกับการตกลงของเจ้าของบัตรและเจ้าของเครื่อง เช่น K PLUS กดที่ตู้แบงก์กรุงเทพยังฟรีค่าธรรมเนียมจนถึง 31 พ.ค.นี้”

แบงก์พาเหรดจับมือ

ขณะที่นางสาวกมลวรรณ อิ่มฤทัยเจริญโชค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานผลิตภัณฑ์การลงทุนและผลิตภัณฑ์รายย่อย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แบงก์กรุงศรีฯมีแผนความร่วมมือกับธนาคารและน็อนแบงก์ในการเชื่อมต่อให้บริการ “กดเงินไม่ใช้บัตร” ข้ามธนาคาร โดยอยู่ระหว่างหารือร่วมกัน และเตรียมพัฒนาระบบเพื่อเปิดให้บริการเร็ว ๆ นี้

ทั้งนี้ ธนาคารมองว่าบริการ “กดเงินไม่ใช้บัตร” จะช่วยส่งเสริม Digital Payment ในภาพรวมของประเทศ เป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานด้าน e-Payment ร่วมกัน และสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมให้กับธนาคาร โดยการคิดค่าธรรมเนียมก็เป็นการสะท้อนต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการใช้บริการของธนาคาร และเพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้า

สอดคล้องกับ นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์และธนาคารดิจิทัล และรักษาการผู้บริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างพูดคุยกับธนาคารรายใหญ่ในการเชื่อมระบบให้บริการ “กดเงินไม่ใช้บัตร” ข้ามธนาคาร ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกและทางเลือกให้ลูกค้า และเชื่อว่าธนาคารใหญ่จะทำระบบรองรับการให้บริการนี้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายจากเครื่องเอทีเอ็ม เนื่องจากเอทีเอ็มเปรียบเหมือนสาขาธนาคารเช่นกัน

กดเงินสดไม่ใช้บัตรพุ่ง 3 เท่า

จากรายงานข้อมูลสถิติและเครื่องชี้ธุรกรรมการชำระเงินที่สำคัญของไทย (Payment Data Indicators) จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ประเทศไทยมีเครื่องเอทีเอ็มทั้งสิ้น 58,800 เครื่อง มีปริมาณการถอนเงินสดเฉลี่ยอยู่ที่ 3,080 บาทต่อรายการ โดยในเดือนกุมภาพันธ์มีธุรกรรมจำนวน 155.9 ล้านรายการ ลดลง -5.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าอยู่ที่ 4.79 แสนล้านบาท ปรับลดลง -6.3% โดย 4 ธนาคารใหญ่ที่มีตู้เอทีเอ็มมากสุด คือ ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย

นอกจากนี้ พบว่าพฤติกรรมการใช้ดิจิทัลเพย์เมนต์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนธุรกรรมถอนเงินลดลง 12% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2562 การถอนเงินสดอยู่ที่ 2,413 ล้านรายการ ซึ่งลดลงเหลือเพียง 2,118 ล้านรายการในปี 2566 และมูลค่าการถอนเงินลดลง 25% จาก 32,977 พันล้านบาท เหลือ 24,834 พันล้านบาท ขณะที่สัดส่วนการถอนเงินไม่ใช้บัตรเพิ่มสูงขึ้นกว่า 3 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากสัดส่วน 10.2% เพิ่มเป็น 37.9%