วงจรอุบาทว์

คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

สมรภูมิตลาดรถอีวีที่สร้างกระแสร้อนแรงตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จากนโยบายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) ของไทย

และแถมด้วยนโยบายแพ็กเกจอีวี 3.0 (ส่วนลด 1.5 แสนบาท) และอีวี 3.5 (ส่วนลด 1 แสนบาท) พร้อมเงื่อนไขการลงทุนของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา

เปิดประตูและดึงดูดให้ค่ายอีวีจีนเข้ามาเปิดตัวทำตลาดในเมืองไทย

ทำให้ตลาดรถอีวีในเมืองไทยเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ยิ่งเป็นแรงดึงดูดให้ค่ายอีวีจีนพาเหรดเข้ามาบุกตลาดไทยร่วม 10 แบรนด์

ด้วยปัจจัยสำคัญคือราคาที่ต่ำในระดับใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาป (รถใช้น้ำมัน) เรียกว่าจูงใจผู้บริโภคคนไทยอย่างมาก

Advertisment

และจุดขายที่ต้นทุนชาร์จพลังงานไฟฟ้าที่ต่ำกว่าราคาน้ำมัน ทำให้กระแสรถอีวีในไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี ในขณะที่ผู้เล่นอีวีจีนแห่เข้ามาทำตลาดด้วยเกม “สงครามราคา”

ซึ่งมีกระแสว่า เนื่องจากอีวีจีนมีกำลังการผลิตส่วนเกินจากประเทศจีนจนล้นตลาด ทำให้มีการส่งมาระบายสต๊อกในเมืองไทย จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ลดราคาแบบ “ลดแล้วลดอีก” แบบที่ไม่เคยเห็นในตลาดรถยนต์ญี่ปุ่น

และกลายเป็นปรากฏการณ์ของตลาดรถยนต์ที่ว่า “ซื้อทีหลังถูกกว่า” ทำให้คนซื้อก่อนจ่ายแพงเป็นราคา “ติดดอย”

Advertisment

ในงานมอเตอร์โชว์เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เห็นภาพของสงครามอีวีดุเดือด จนทำให้ค่ายรถสันดาปของญี่ปุ่นต้องปรับตัวเล่นเกมราคาไปด้วย

บรรดาค่ายอีวีจีนพาเหรดกันหั่นราคา ทั้งบีวายดี, ฉางอาน, เอ็มจี, เนต้า, ไอออน เป็นต้น

แต่สถานการณ์ตลาดอีวีในประเทศไทยช่วงปี 2567 ค่อนข้างพลิกผันเข้าสู่โหมด “ชะลอตัว” ไม่ร้อนแรงเหมือนปี 2566 ที่ผ่านมา

มีการคาดการณ์ว่ายอดขายรถอีวีในปี 2567 จะอยู่ที่ระดับ 100,000 คัน ซึ่งแม้ว่าจะสูงกว่ายอดขายปีที่แล้ว 76,538 คัน แต่ก็เป็นอัตราการเติบโตที่ช้ากว่ามาก

ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถอีวีไตรมาสแรกปี 2567 อยู่ที่ 22,289 คัน โดยเดือนมกราคมอยู่ที่ 13,658 คัน เดือนกุมภาพันธ์ 3,635 คัน และเดือนมีนาคม 5,001 คัน

ซึ่งเห็นสัญญาณชัดว่าเป็นทิศทางตลาด “ขาลง” ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการสิ้นสุดมาตรการสนับสนุนรถ EV 3.0 เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา

ที่สำคัญคือกำลังซื้อที่อ่อนแรงจากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า แม้อุปทานล้นตลาดจากที่ค่ายอีวีจีนที่ทะลักเข้ามาจำนวนมาก และเกิดปรากฏการณ์ดัมพ์ราคา แต่กลับพบว่ายอดขายก็ไม่ได้ร้อนแรง อีกปัจจัยสำคัญก็คือปัญหา “หนี้เสียรถ” ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ยอดการปฏิเสธสินเชื่อเช่าซื้อรถเพิ่มขึ้นจากระดับ 15% ปีนี้ ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 30% ก็ยิ่งเป็นอุปสรรคในการขายรถ

นิกเคอิ เอเชียใช้คำว่า “วงจรอุบาทว์” กำลังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมรถอีวีในประเทศไทย ที่ผลักให้แต่ละแบรนด์ทำสงครามราคาเพื่อชิงยอดขาย

อย่างไรก็ตาม ภาวะตลาดที่ซบเซาไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะรถอีวี แต่เป็นภาพรวมของอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศไทยที่กำลังเกิดปัญหา ทำให้พี่ใหญ่โตโยต้ามีการปรับลดคาดการณ์ยอดขายรถรวมปี 2567 อยู่ที่เพียง 7.3 แสนคัน หดตัวจากปี 2566 ตลาดรวมอยู่ที่ 7.75 แสนคัน

ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดข้อมูลตัวเลขผลิตรถยนต์ในไทยช่วงมกราคม-มีนาคม 2567 จำนวน 414,123 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.45% นอกจากเป็นผลจากตลาดส่งออกรถยนต์ชะลอตัวแล้ว อีกด้านหนึ่งก็เป็นเพราะยอดขาย “รถอีวี” ในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา เป็นรถนำเข้าจากจีนเกือบทั้งหมด เท่ากับว่าเป็นการแยกส่วนแบ่งตลาดจากรถสันดาปที่ผลิตในประเทศไทยกันเอง

หมายความว่าวันนี้ยิ่งอีวีจีนขายได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งกระทบอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย เพราะส่วนใหญ่ยังเป็นรถนำเข้าทั้งหมด เนื่องจากฐานการผลิตอีวีจีนในไทยเพิ่งเริ่มต้น

ขณะที่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทย กล่าวกันว่านโยบายส่งเสริมการลงทุนของอีวีจีนในประเทศไทยก็ไม่ต่างกับ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ”