เปิดมุมมอง “บิ๊กธุรกิจ” ไทยได้อะไร Data Center “ไมโครซอฟท์”

big business
สัตยา นาเดลลา-พชร อารยะการกุล-ปฐมา จันทรักษ์-ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์

การมาเยือนไทยในรอบ 8 ปีของ สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ซีอีโอบิ๊กเทคระดับโลกอย่าง “ไมโครซอฟท์” ในงาน Microsoft Build : AI Day ที่จัดเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มาพร้อมการประกาศตั้ง “Azure Region” หรือดาต้าเซ็นเตอร์เต็มรูปแบบแห่งแรกในประเทศไทย สืบเนื่องจากการลงนามความร่วมมือระหว่างไมโครซอฟท์และรัฐบาลไทยในการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เมื่อกลางเดือน พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา

นายสัตยากล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพโดดเด่นและโอกาสในการสร้าง
อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมดิจิทัลและ AI การเปิดดาต้าเซ็นเตอร์ระดับภูมิภาคแห่งใหม่ ควบคู่ไปกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ รวมถึงการเสริมสร้างทักษะด้าน AI ล้วนเป็นแผนงานที่ต่อยอดพันธกิจของไมโครซอฟท์ เพื่อช่วยให้องค์กรไทย ทั้งในภาครัฐและ
ภาคเอกชนเติบโต สร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ให้กับประเทศไทย

ข้อมูลของงานวิจัยจากบริษัทที่ปรึกษา Kearney ระบุว่า AI จะช่วยเพิ่มมูลค่า GDP ของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (37 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2573 โดยในจำนวนนี้คิดเป็นยอด GDP ของประเทศไทยที่จะเพิ่มขึ้นถึง 117,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (4.3 ล้านล้านบาท)

จุดพลุ “ไทย” ศูนย์กลางภูมิภาค

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า AI เป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่มีพลังมากที่สุดในทศวรรษนี้ ทั้งเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต สถานที่ทำงาน และวิธีการดำเนินธุรกิจ โดยไทยมีความพร้อมสนับสนุนให้อุตสาหกรรม AI เติบโต เพราะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ โครงข่ายมือถือ โครงสร้างพื้นฐาน 5G และโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ

“ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งได้ดำเนินนโยบายสำคัญหลายประการ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับสถานะไทยในโลก โดยรัฐบาลกำลังขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ ระยะที่ 2 ช่วงปี 2567-2570 โดยใช้ประโยชน์จากพลังของ
AI และการประมวลผลแบบคลาวด์ในประเทศ เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมระบบนิเวศ AI ของไทย”

Advertisment

โดยวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” ที่ได้ประกาศเมื่อเดือน ก.พ. 2567 สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคใน 8 อุตสาหกรรมหลัก รวมถึงเศรษฐกิจดิจิทัล การท่องเที่ยว สุขภาพและการแพทย์ อาหาร การบิน ขนส่ง ยานยนต์แห่งอนาคต และการเงิน ซึ่งเกี่ยวกับการดึงเม็ดเงินการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเข้าสู่ประเทศ เพื่อรักษาระบบนิเวศดิจิทัลที่ปลอดภัยและจัดการโครงสร้างพื้นฐาน

“การประกาศความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ในครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญของเราบนเส้นทางสู่วิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND มุ่งสร้างโอกาสให้คนไทยทุกคนได้เติบโต สร้างสรรค์นวัตกรรม และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น”

ปลดล็อกศักยภาพรัฐ-เอกชน

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ของไมโครซอฟท์ช่วยปลดล็อกข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ เพราะการมีดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย จะทำให้ข้อมูลที่เกิดในไทยอยู่แค่ในไทย ไม่หลุดไปอยู่บนดาต้าเซ็นเตอร์ที่ประเทศอื่น ซึ่งเกินความสามารถที่เราจะไปกำกับดูแลและควบคุมขอบเขตการใช้ข้อมูลได้

“กิจกรรมหรือการประชุมบางอย่างของรัฐต้องเป็นความลับ และมีกฎควบคุมว่าต้องเก็บรักษาข้อมูลให้อยู่แค่ในประเทศเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถจัดเก็บข้อมูลเหล่านั้นผ่านระบบคลาวด์ได้ เพราะมีการส่งข้อมูลไปที่ดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศอื่น ส่งผลให้การทำงานผ่านระบบดิจิทัลทุกขั้นตอนเกิดขึ้นได้ยาก”

Advertisment

ดร.ชัยชนะกล่าวต่อว่า ดาต้าเซ็นเตอร์จะมีส่วนช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากดิจิทัลได้รับอานิสงส์การเติบโตและมีโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานที่มีความเกี่ยวข้องกับดาต้าเซ็นเตอร์โดยตรง รวมถึงเป็นโอกาสในการนำความรู้ใหม่ ๆ เข้าสู่ประเทศ เช่น การรักษาความปลอดภัยดาต้าเซ็นเตอร์ เป็นต้น

“โอกาสจากดาต้าเซ็นเตอร์ยังมีอีกมาก เพราะความต้องการใช้ดาต้าเพิ่มขึ้นทุกวัน และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้เกิดการต่อยอดสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งสิ่งที่ควรทำควบคู่ไปพร้อมกัน คือการส่งเสริมอีโคซิสเต็มการใช้งานดาต้าเซ็นเตอร์ให้แข็งแรง เช่น ผลักดันให้เกิดการใช้งานในวงกว้าง และเพิ่มทักษะการจัดการดาต้า เป็นต้น”

สร้างอาชีพ-ธุรกิจใหม่

นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัทที่ปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยจะช่วยลดปัญหาเรื่องถิ่นที่อยู่ของข้อมูล (Data Residency) เวลาเกิดข้อพิพาททางการเมืองต่าง ๆ ซึ่งมีผลต่อความปลอดภัยของข้อมูล ช่วยให้หลาย ๆ องค์กรเชื่อมั่นในการใช้งานคลาวด์มากขึ้น 
ถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการขยายสเกลทางธุรกิจด้วย

“องค์กรในไทยยังมีความกังวลที่จะใช้คลาวด์ โดยองค์กรที่ใช้คลาวด์ 100% มีสัดส่วนน้อยมาก ๆ ส่วนใหญ่ยังเก็บข้อมูลแบบ On-Premise หรือตั้งเซิร์ฟเวอร์ของตนเอง ซึ่งมีข้อจำกัดในการขยายสเกล และจัดการกับข้อมูลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

นายพชรกล่าวต่อว่า การตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศยังช่วยลดปัญหาด้านความหน่วง (Latency) เพราะระยะทางในการรับ-ส่งข้อมูลสั้นลง ทำให้ใช้เวลาน้อยลงตามไปด้วย จากที่เคยใช้เวลาส่งข้อมูลขาไปและขากลับรอบละ 100 มิลลิวินาที รวมเป็น 200 มิลลิวินาที อาจเหลือเพียงรอบละ 50 มิลลิวินาที รวมเป็น 100 มิลลิวินาที ซึ่งความต่างตรงนี้มีผลต่อการสั่งงานแบบเรียลไทม์มาก ๆ ยิ่งระบบมีความหน่วงต่ำ จะยิ่งพัฒนาเทคโนโลยีที่มีโอกาสต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่ ๆ ได้มากขึ้น เช่น หุ่นยนต์อัตโนมัติ ที่ต้องอาศัยการสั่งการผ่านการรับ-ส่งข้อมูลอย่างรวดเร็ว เป็นต้น

“นอกจากจะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ การตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยยังช่วยเพิ่มการจ้างงานด้านดิจิทัลด้วย โดยเฉพาะตำแหน่ง System Administrator หรือคนที่ดูแลระบบหลังบ้าน ซึ่งมองว่านี่คือโอกาสสำหรับทาเลนต์ไทยที่มีความสามารถอยู่แล้ว”

สะท้อนความเชื่อมั่น “ไทย”

นางสาวปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและธุรกิจ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การมีดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยจะช่วยให้โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศแข็งแรงยิ่งขึ้น พร้อมต่อการเป็น Digital Hub ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบในการนำเทคโนโลยีมาใช้อยู่แล้ว โดยเฉพาะบริการทางการเงินที่ปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ยุคบล็อกเชนเป็นต้นมา

“การตัดสินใจของไมโครซอฟท์ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในการลงทุนกับไทยอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งบริษัทมีดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศใกล้ ๆ กับไทยอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมาลงทุนเพิ่มก็ได้ เพราะอาจจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน แต่เขาก็ยังเลือกมาไทย เพราะ 3 สิ่งที่เล็งเห็น ได้แก่ 1.มีโอกาสและศักยภาพในการเติบโต 2.ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยเป็นอย่างดี และ 3.ทิศทางการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยมีความชัดเจน”