ทฤษฎีกบในหม้อต้ม ปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย

รศ.ดร.พิภพ อุดร
รศ.ดร.พิภพ อุดร

เมื่อโครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงจากจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และโลกเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ มิหนำซ้ำเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันผู้คนมากขึ้น ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ขึ้นมา จึงเป็นเหตุผลที่ธุรกิจการศึกษาในวันนี้ต้องเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง เพราะหากไม่ทำอะไรเลยอาจจะอยู่ไม่รอด

“รศ.ดร.พิภพ อุดร” รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า ตอนนี้ธุรกิจการศึกษากำลังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะความท้าทายเรื่องประชากรศาสตร์ที่จำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลงเรื่อย ๆ และคนจะอายุยืนมากขึ้น ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้เกิดความรู้ใหม่ ๆ ที่คนต้องอัพเดต เพราะจะส่งผลต่อตลาดงานในอนาคต

“ปัจจัยเหล่านี้ สถาบันอุดมศึกษาจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ ฉะนั้นจะต้องปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์โลก ภาพการเรียนการสอนแบบเดิมอาจจะหายไป อีกเรื่องที่น่าคิดคือเรากำลังอยู่ในยุคที่ความรู้อายุสั้น แต่คนอายุยาว

เพราะว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ อะไรที่เคยใช้งานได้ ตอนนี้อาจจะใช้งานไม่ได้ หลายเรื่องล้าสมัยไปแล้ว ในขณะที่คนกลับอายุยาวขึ้น มีการคาดการณ์ว่าคนจะอายุยืนแตะ 100 ปี ฉะนั้น คำถามคือเมื่อคนเกษียณที่อายุ 60 ปี แล้วอีก 40 ปีที่เหลือจะทำอะไร”

ขณะที่เด็กที่จบมหาวิทยาลัยอายุ 22-23 ปี เขาไม่มีทางที่จะทำงานเดิม ๆ ไปจนถึงวันเกษียณหรอก เพราะความรู้เปลี่ยนเร็ว จึงเป็นประเด็นว่ามหาวิทยาลัยไทยต้องตระหนักแล้วว่าลูกค้าของเขาจะไม่ใช่เด็กมัธยมอีกต่อไป แต่จะเป็นลูกค้าจากทุกช่วงวัย

Advertisment

ดังนั้น บทบาทของมหาวิทยาลัยคือการพัฒนาหลักสูตรให้คนทุกวัยเข้ามาเรียนรู้ และหลักสูตรต้องทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า โดยต้องเลือกความเชี่ยวชาญของตัวเองว่ามีจุดเด่น หรือเชี่ยวชาญด้านอะไร และลงทุนด้านนั้น ๆ แต่จะไม่ไปลงทุนในเรื่องที่ตนเองไม่ถนัด กลับใช้วิธีการร่วมกับพาร์ตเนอร์ ทำงานร่วมกัน และต้องมีบทบาทในการเป็นตัวกลางสร้างเครือข่ายให้ลูกค้าของเขาเติบโตในวิชาชีพต่าง ๆ ได้

“รศ.ดร.พิภพ” กล่าวต่อว่า อนาคตภาพการเรียนการสอนแบบเดิมอาจจะหายไป มหาวิทยาลัยต้องพัฒนาเครดิตแบงก์ในรูปแบบการนำประสบการณ์มาเทียบโอนเป็นหน่วยกิตได้ ใครอยากเรียน ป.โท ก็นำประสบการณ์มาเทียบโอนแล้วเรียนต่ออีกนิดหน่อย ก็จบแล้ว เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะไปเริ่มต้นเรียนซ้ำ เพราะสิ่งที่เราทำมาทั้งหมดมีหลักฐานว่าเรามีผลงาน เชี่ยวชาญ จะให้เรียนซ้ำทำไม

“ผมมีคอนเซ็ปต์ที่เรียกว่า Design your own degree เพราะต่อไปในอนาคตจะมีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งยังเป็นอาชีพที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น อินฟลูเอนเซอร์ ติ๊กต๊อกเกอร์ อาชีพนี้ไม่เคยมีมาก่อน ฉะนั้น มหาวิทยาลัยจะไปออกหลักสูตรล่วงหน้าสำหรับอาชีพในอนาคตไม่ได้

เพราะยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้น อนาคตระบบการศึกษาต้องมีความยืดหยุ่นสูง เปิดโอกาสผู้เรียน ผสมผสานวิชาเองได้ ด้วยการนำประสบการณ์ และความสำเร็จมาเทียบได้ เพื่อให้กลายเป็นดีกรีที่เขาสนใจ โดยที่มหาวิทยาลัยไม่ต้องไปออกแบบล่วงหน้า”

Advertisment

จากรายงานของ World Economic Forum ล่าสุดระบุว่า ใน 5 ปีข้างหน้า ตำแหน่งงานจะหายไป 85 ล้านตำแหน่งทั่วโลก แต่จะมีงานใหม่เพิ่มขึ้นอีก 97 ล้านตำแหน่ง แปลว่าที่งอกใหม่เยอะกว่าที่หายไปอีก ดังนั้น งานที่หายไปทำคนตกงานแน่นอน หมายความว่าคนจำนวนหนึ่งไม่มีงานทำแน่ ๆ

ฉะนั้น เราต้องเทรนทักษะใหม่ ๆ เพื่อเข้าไปทำงานใหม่ ๆ ได้ เช่นเรื่อง Cyber security ทุกที่มีปัญหาหมด แต่ว่าคนด้านนี้หายากมาก กลายเป็นว่าคนไม่มีงานทำ งานก็ไม่มีคนทำ

ดังนั้น สถาบันการศึกษาโดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาต้องปรับตัว ตอบโจทย์โลกอนาคต ไม่จำเป็นต้องรอให้คนเรียนจบ ป.ตรี แล้วมาต่อ ป.โทเป็นรอบ ๆ แต่คนจะมาเรียนตอนไหนก็ได้ เรียนเก็บไว้ได้ สะสมได้

“รศ.ดร.พิภพ” กล่าวต่อว่า ผมขอยกทฤษฎีกบในหม้อต้ม หมายความว่า โดยธรรมชาติกบสามารถปรับตัวได้ ถ้าเราโยนกบลงไปในหม้อต้มที่มีน้ำเดือด มันจะกระโดดหนีทันที แต่ถ้าเรานำมันลงไปในหม้อที่น้ำเย็น แล้วตั้งบนไฟที่ค่อย ๆ ร้อนขึ้น กบจะค่อย ๆ ปรับตัวเข้ากับน้ำที่ค่อย ๆ ร้อนขึ้น ไม่กระโดดหนี จนมันสุกอยู่ในหม้อ ก็เหมือนกับองค์กรต่าง ๆ ถ้าไม่รู้สึกถึงภัยคุกคามที่เข้ามาเรื่อย ๆ จะปรับตัวไม่ทันแน่นอน และก็จะไม่รอด

“ตรงนี้คือประเด็นใหญ่ที่เราต้องตั้งคำถามก่อนว่า เรากำลังเป็นกบในหม้อต้มแบบไหน เช่น เด็กน้อยลงเรื่อย ๆ มหาวิทยาลัยใหญ่ทั้งหมดแทบไม่กระทบเลย เขาไม่รู้สึกหรอกว่าเด็กน้อยลง ไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ แต่ประเด็นคือปัญหาเด็กน้อยลงมันจะค่อย ๆ เกิด เพียงแต่มหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ ได้รับผลกระทบช้าเท่านั้น เพราะยังได้รับงบประมาณจากรัฐ ยังมีเด็กอยากเข้ามาเรียน ดังนั้น คนที่เดือดร้อนกว่าจะเป็นสถาบันเล็ก ๆ”

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยรัฐไม่สามารถพึ่งพิงงบประมาณจากรัฐ หรือรายได้จากการจัดการเรียนการสอนเพียงอย่างเดียว มหาวิทยาลัยต้องมีแหล่งรายได้อื่น เพราะถ้าจำนวนเด็กลดลง มหาวิทยาลัยตายแน่ ดังนั้น จึงต้องปรับพอร์ตรายได้ ซึ่งอาจจะมาจาก 4 ทางหลัก ๆ คือ

หนึ่ง จากการจัดการเรียนการสอน

สอง ฝึกอบรม หรือการจัดทำ non degree

สาม ทำวิจัย สร้างงานนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง เมื่อก่อนสร้างวิจัยเพื่อตีพิมพ์ ตอนนี้ต้องนำงานวิจัยมาใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น เพื่อให้ใช้ในชีวิตจริง ขายได้ ทั้งยังเป็นแหล่งรายได้ให้กับมหาวิทยาลัยอีกด้วย

สี่ การลงทุนในบรรดาสินทรัพย์อื่น ๆ ที่มหาวิทยาลัยมีให้เกิดประโยชน์ เช่น ห้องประชุม การให้พื้นที่ทางการค้า สนามกีฬา ด้วยการนำพื้นที่เหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในการหารายได้ เก็บไว้เฉย ๆ ไม่ได้แล้ว

ซึ่งทั้งหมดนี้คือการปรับตัวของมหา’ลัยไทยเมื่อถึงจุดเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน