แมวศุภลักษณ์ กับความเชื่อคนไทย 1 ใน 17 แมวมงคลตามตำรา

แมวศุภลักษณ์
ภาพจาก WCF Thailand by ARC

รู้จัก “แมวศุภลักษณ์” หรือ “แมวทองแดง” 1 ใน 17 แมวมงคลตามตำราแมวไทยโบราณ เชื่อกันว่าผู้ใดได้เลี้ยงจะมียศฐา เป็นอำมาตย์มนตรี

สืบเนื่องจากข่าวดีที่ “สหพันธ์แมวโลก” (World Cat Federation : WCF) ได้ให้การรับรองแมวสายพันธุ์ “ศุภลักษณ์” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ไทยโบราณอย่างเป็นทางการแล้ว ในการประชุมใหญ่ WCF General Assembly 2024 ที่เยอรมนี

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทำความรู้จักแมวศุภลักษณ์ให้มากยิ่งขึ้น โดยเจ้าเหมียวสายพันธุ์นี้อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน และเป็น 1 ใน 17 แมวมงคลในตำราแมวไทยด้วย

แมวศุภลักษณ์ หรืออีกชื่อหนึ่ง “แมวทองแดง” ลักษณะประจำสายพันธุ์ มีขนสั้น สีน้ำตาลเข้มคล้ายสีสนิม หรือสีทองแดง โดยส่วนหู ใบหน้า ปลายขา และหางจะมีสีน้ำตาลเข้มกว่าบริเวณลำตัวทั่วไป มีหัวค่อนข้างกลมและกว้าง ส่วนหนวดมีสีเหมือนลวดทองแดง หูตั้งใหญ่ มีนัยน์ตาสีเหลืองอำพัน หางยาว ปลายหางแหลมชี้ตรง โคนหางใหญ่และค่อย ๆ เล็กเรียวกลมไปจนสุดปลายหาง ขายาวเรียวได้สัดส่วนกับลำตัว

ศิลปวัฒนธรรม” ระบุว่า แมวศุภลักษณ์ถือเป็นสายพันธุ์แมวโบราณของไทย โดยปรากฏใน “สมุดข่อยตำราแมวไทยโบราณ” ที่ได้มีการบันทึกชนิดของแมวไว้ พร้อมจัดจำแนกประเภทเป็น “แมวดี” และ “แมวร้าย” ซึ่งแมวศุภลักษณ์เป็น 1 ใน 17 ชนิดของประเภทแมวดี

โดยแมวไทยโบราณตามตำรา ที่มีลักษณะดีและให้คุณทั้ง 17 ชนิด ได้แก่ นิลรัตน์, วิลาศ, ศุภลักษณ์หรือทองแดง, เก้าแต้ม, มาเลศหรือดอกเลา, แซมเศวต, รัตนกัมพล, วิเชียรมาส, นิลจักร, มุลิลา, กรอบแว่นหรืออานม้า, ปัตเศวต หรือปัดตลอด, กระจอก, สิงหเสพย์, การะเวก, จตุบท และโกญจา

ADVERTISMENT

ในตำรากล่าวถึงแมวศุภลักษณ์หรือทองแดงไว้ว่า “หนึ่งนามทองแดงแสงใส เล็บลิ้นฟันใน นั้นทองแดงดั่งแกล้งย้อมทา ใครเลี้ยงจะได้ยศฐา ยิ่งพ้นพรรณา เป็นที่อำมาตย์มนตรี”

ดังนั้น แมวศุภลักษณ์จึงถือเป็นแมวดีตามความเชื่อของคนไทยโบราณ ผู้ใดได้เลี้ยงแมวศุภลักษณ์จะมียศฐา เป็นอำมาตย์ มนตรี ตามที่ว่าไว้ในบันทึกสมุดข่อย

ADVERTISMENT

อีกทั้งคำว่า “ศุภ” ในภาษาสันสกฤตยังหมายถึง “ดี” และ “งาม” ส่วนคำว่า “ลักษณ์” หมายถึง “ลักษณะ” ศุภลักษณ์จึงแปลว่า “มีลักษณะดีงาม”

นอกจากนี้ ใน พ.ศ. 2546 กรมศิลปากรได้เรียบเรียงตำราเกี่ยวกับสัตว์ ตีพิมพ์ในชื่อว่า “ภูมิปัญญาไทย : ว่าด้วยเรื่องตำราคชลักษณ์ ตำราดูลักษณะม้า ตำราดูนกเขาชวา ตำราดูแมว” ซึ่งได้จำแนกแมวดี-แมวร้าย เช่นกัน ซึ่งแมวศุภลักษณ์ยังคงปรากฏในลักษณะแมวดี โดยระบุไว้ว่า “เป็นแมวที่มีขนกาย เล็บ ลิ้น สีทองแดง และดวงตาสีใสเป็นประกาย บางตำราว่า ตาเป็นสีทับทิมและหนวดสีขาว”

ทั้งนี้ แมวศุภลักษณ์หรือแมวทองแดงนั้น ถือเป็นแมวที่หายากที่สุดในบรรดาแมวไทยโบราณทั้งหมด ทั้งยังมีความเสี่ยงใกล้จะสูญพันธุ์มากที่สุดด้วย

โดย “สำนักพิมพ์มติชน” ระบุว่า ตามความเชื่อที่ทำให้แมวศุภลักษณ์กลายเป็นแมวหายากในปัจจุบัน เนื่องจากเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แมวศุภลักษณ์บางส่วนได้ย้ายถิ่นฐานไปยังพม่า ตามเจ้านายที่ถูกกวาดต้อนไป อีกทั้งบางส่วนก็ถูกชาวพม่ากวาดต้อนไป แต่เรื่องนี้เป็นเพียงการทึกทักเท่านั้น