รถไฟฟ้า…มาช้านะเธอ สรุปปัญหา BTS ใครผิด ใครแพะ?

โดย รุ่งนภา พิมมะศรี
เป็นปัญหาใหญ่ของชาวกรุงที่เดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ เมื่อรถไฟฟ้าบีทีเอสเกิดปัญหาระลอกใหม่ (ก่อนนี้ก็มีปัญหาเรื่อย ๆ อยู่แล้ว) ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และเกิดถี่กว่าที่เคย ส่งผลให้การเดินรถล่าช้า ทำชีวิตคนกรุงป่วนต่อเนื่องหลายวัน ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน เป็นต้นมา จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่สามารถไว้เนื้อเชื่อใจได้

วันแรกที่เกิดปัญหาการเดินรถล่าช้า ส่งผลกระทบต่อการเดินทางของผู้ใช้บริการ บีทีเอสแจ้งสาเหตุที่รถไฟฟ้าขัดข้องว่า “เนื่องจากระบบอาณัติสัญญาณขัดข้อง ทำให้ขบวนรถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วต่ำ” ก่อนจะมีคำอธิบายเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ทำให้ระบบอาณัติสัญญาณขัดข้อง เพราะโดนคลื่นวิทยุสื่อสารรบกวน

“ระบบอาณัติสัญญาณ” คืออะไร ?

ก่อนจะเข้าประเด็นว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรกับปัญหานี้บ้าง มาทำความรู้จักกันก่อนว่า “ระบบอาณัติสัญญาณ” คืออะไร

ระบบอาณัติสัญญาณ คือ ระบบจัดความปลอดภัยในการเดินรถไฟ เป็นระบบกลไกสัญญาณไฟ หรือระบบคอมพิวเตอร์ในการเดินขบวนรถไฟแจ้งให้พนักงานขับรถทราบสภาพเส้นทาง เพื่อให้การเดินรถดำเนินไปได้อย่างปลอดภัย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันบีทีเอสใช้ระบบอาณัติสัญญาณของ “บอมบาร์ดิเอร์” ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลก โดยใช้คลื่นความถี่ 2400 MHz ในการสื่อสาร

บีทีเอสเปิดประเด็น “โดนคลื่นสื่อสารรบกวน”

หลังจากเกิดปัญหา บีทีเอสบอกว่าสาเหตุหลักที่การเดินรถและระบบอาณัติสัญญาณรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้อง เกิดจากบริษัทกำลังปรับเปลี่ยนระบบวิทยุสื่อสาร ซึ่งการปรับเปลี่ยนจะแล้วเสร็จในวันที่ 29 มิถุนายน

ขณะเดียวกัน บีทีเอสเปิดประเด็นว่า มีคลื่นวิทยุสื่อสารจากภายนอกที่ความเข้มสัญญาณสูงรบกวน โดยเฉพาะบริเวณสถานีพร้อมพงษ์ สถานีอโศก และสถานีสยาม ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อระหว่างสายสีลมและสายสุขุมวิท ทำให้บริเวณดังกล่าวไม่สามารถเดินรถได้ด้วยความเร็วตามปกติ

ชี้เป้าคลื่นรบกวนเป็นของ “ดีแทค”

จากนั้นมีข่าวออกมาว่า คลื่นที่ตรวจสอบพบว่ารบกวนระบบอาณัติสัญญาณของบีทีเอสนั้น เป็นคลื่น 2300 MHz ที่มีแรงสูงถึง 20 วัตต์ ซึ่งมี 2 เจ้าที่ใช้คลื่นนี้อยู่ คือ ดีแทค และทีโอที

จากนั้น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ส่งรถตรวจสอบการใช้งานคลื่นความถี่วิทยุและการใช้งานโทรศัพท์ออกตรวจสอบสัญญาณในช่วงเช้าวันที่ 26 มิถุนายน และได้เชิญ ทีโอที ดีแทค และบีทีเอส เข้าร่วมประชุมหารือกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา

ปิดสัญญาณดีแทค แต่บีทีเอสยังขัดข้อง

หลังการประชุมหารือ บีทีเอสขยับไปใช้ช่วงคลื่นที่ไกลจาก 2300 MHz ที่คิดว่าเป็นสาเหตุ

ฝั่งดีแทคชี้แจงว่า การใช้งานบนคลื่นความถี่ 2300 MHz ของดีแทค และทีโอที ไม่ได้ส่งคลื่นใด ๆ ออกมา นอกเหนือจากแบนด์วิดท์ที่ได้รับจัดสรรจาก กสทช. จึงไม่น่าเป็นสาเหตุทำให้บีทีเอสขัดข้องตามที่เป็นข่าว

หลังจากร่วมประชุมและวิเคราะห์หาสาเหตุปัญหา นำไปสู่การทดลองปิดเสาส่งสัญญาณดีแทค และทีโอที คลื่นความถี่ 2300 MHz ในวันที่ 29 มิถุนายน แต่ปรากฏว่าระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าบีทีเอสก็ยังขัดข้องอีก รูปการณ์จึงเปลี่ยนไป ดูเหมือนว่า ดีแทค จะเป็นเพียง “แพะ”

สรุปใครผิดอะไรตรงไหนบ้าง ?

ดีแทคและทีโอที รีบให้พิสูจน์หลักฐาน และรอดตัว ได้ออกจากปัญหาไปก่อน

ส่วนใครผิด ? แน่นอนล่ะว่า บีทีเอสยังไงก็แก้ตัวไม่ขึ้นสำหรับปัญหาและความบกพร่อง เพราะปัญหามันเริ่มจากบีทีเอสใช้คลื่นย่าน 2400 MHz เป็นคลื่นอันไลเซนส์แบนด์ ที่ไม่ต้องขออนุญาตและไม่ต้องจ่ายค่าใช้คลื่น จึงเป็นคลื่นที่ใช้กันเยอะ ทั้งไวไฟ โทรศัพท์บ้านไร้สาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ

บีทีเอสใช้คลื่นย่านนี้มานานหลายปี ก่อนที่ กสทช.จะเกิด ในยุคนั้นกรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นผู้ดูแลคลื่นความถี่ พูดได้ว่าใช้ตามสะดวก ไม่ต้องขอ ไม่ต้องจ่าย ไม่มีใครกำกับดูแล

สรุป บีทีเอสผิดที่ 1.ไม่ลงทุนเช่าคลื่นความถี่เฉพาะ จึงต้องรับมือปัญหาที่ตามมา 2.ทั้งที่รู้ว่าตัวเองไม่ได้ใช้คลื่นความถี่เฉพาะ เสี่ยงต่อการโดนคลื่นอื่นรบกวน แต่ก็ไม่ยอมลงทุนติดตั้งระบบป้องกันคลื่นรบกวน จึงเท่ากับว่าไม่คำนึงถึงประสิทธิภาพในการให้บริการถึง 2 ชั้น (ยังไม่นับปัญหายิบย่อยอื่น ๆ)

ล่าสุดหลังจากมีปัญหา บีทีเอสได้ซื้ออุปกรณ์รับส่งสัญญาณใหม่ และอุปกรณ์กรองสัญญาณเพื่อป้องกันคลื่นรบกวนจากภายนอก เป็นการแก้ไขปัญหาแล้ว ซึ่งทำช้าก็ยังดีกว่าไม่ทำ

หลังจากสรุปว่าบีทีเอสผิดอย่างไรแล้ว ดูข้อจำกัดของบีทีเอสบ้าง…

นอกจากคลื่นย่าน 2400 MHz แล้ว บีทีเอสยังมีคลื่นย่าน 800-900 MHz ที่ใช้เป็นระบบสื่อสาร trunk radio ซึ่งจ่ายค่าคลื่นให้ กสทช.ทุกปี แต่ที่ใช้คลื่นย่าน 2400 MHz ในการรับส่งในระบบอาณัติสัญญาณนั้นเป็นมาตรฐานของระบบบอมบาร์ดิเอร์ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกใช้กัน หากต้องย้ายช่วงคลื่น บีทีเอสก็ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ทั้งหมด เป็นเงินหลักพันล้าน ซึ่งก็น่าเห็นใจอยู่เหมือนกัน เพราะตอนที่ซื้อระบบนี้มาก็ลงทุนไปมหาศาลแล้ว

นอกจากนั้น กรณีปัญหาบีทีเอสครั้งนี้ยังนำไปสู่การเปิดประเด็นใหญ่ และน่าสนใจกว่า คือ ปัญหานี้ทำให้รู้ว่าประเทศไทยไม่เคยมีการจัดสรรและสงวนช่วงคลื่นสำหรับกิจการขนส่งทางราง อย่างที่ประเทศพัฒนาแล้ว หรือประเทศที่พัฒนากว่าเราเขามีกัน และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีแผนแม่บทใด ๆ สำหรับอนาคต มีเพียงการอนุมัติคลื่นสำหรับรถไฟความเร็วสูงเมื่อปีที่แล้ว

…และส่วนนี้จะเป็นความผิดใครอื่นไม่ได้ นอกจากภาครัฐ