ดรุโณทัย วัชโรทัย ผนวกความงามมรดกตระกูลเก่า-ดีไซน์ใหม่ สร้างแบรนด์ไฟน์จิวเวลรี่

ในเมืองไทยถ้าได้ยินนามสกุล “วัชโรทัย” ต่อท้ายชื่อใคร ก็แทบไม่ต้องถามถึงความเป็นมาหรือเส้นทางความสำเร็จอะไรกันแล้ว เพราะว่านามสกุลดีมีชัยไปกว่าครึ่ง แต่สำหรับ ดรุโณทัย วัชโรทัย หรือ มะปราง หญิงสาวนามสกุลดังที่เพิ่งเปิดตัวแบรนด์เครื่องประดับไฟน์จิวเวลรี่ (Fine Jewelry) ชื่อแบรนด์ “ดรุโณทัย” (Darunotai) เป็นหนึ่งคนที่น่าจะยกเว้นไว้ แล้วฟังเรื่องราวของเธอสักหน่อย

ถึงแม้มีนามสกุลดังก็จริง แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอสร้างธุรกิจของตัวเองไม่ได้เกิดขึ้นที่เมืองไทย แต่เกิดขึ้นที่ลอนดอน ที่ซึ่งไม่มีใครสนใจว่าเธอนามสกุลดังมาจากไหน แต่สนใจผลงานจริง ๆ

ดรุโณทัย วัชโรทัย เป็นลูกคนเล็กของ พันตรีอาณันย์ วัชโรทัย อดีต ส.ส. และข้าราชการการเมือง คุณทวดของเธอคือ พระยาราชโกษา ตำแหน่งเจ้าพนักงานภูษามาลาในรัชกาลที่ 6

ส่วนเส้นทางการออกแบบจิวเวลรี่จนมาเป็นแบรนด์ของตัวเอง มะปรางเล่าว่า ตั้งแต่อายุ 15 ขณะเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมฯ พี่สาวเรียนจุฬาฯ หลังเลิกเรียนเธอและพี่สาวเดินสยาม จนสนใจแฟชั่น ที่ชอบมากที่สุดคือ แฟนซีจิวเวลรี่

จากนั้นเธอขอเรียนด้านนี้ แต่พ่อแม่บอกว่าอยากให้เรียนตามปกติก่อน ถ้าเรียนจบปริญญาตรีแล้วยังชอบอยู่ค่อยไปเรียนอีกหนึ่งใบ เธอจึงเอนทรานซ์เข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เอกภาษาอังกฤษ พอเรียนจบจึงคุยกับที่บ้านว่าขอเรียนเป็นกิจจะลักษณะได้ไหม

เมื่อที่บ้านไฟเขียว เธอบินสู่ลอนดอนไปเรียนที่ เซ็นทรัล เซนต์ มาร์ตินส์ (Central Saint Martins) สถาบันด้านการออกแบบแฟชั่นอันดับ 1 ของโลก

“การเรียนที่นู่น ไม่เหมือนการเรียนที่นี่เลยสักอย่างเดียวค่ะ มันต่างกันด้วยวิชาที่เรียน และบริบทของประเทศ หลายอย่าง การเรียนที่นี่ปรางอยู่กับหนังสือ ส่วนที่โน่นไม่มีหนังสือสักเล่ม มาถึงอาจารย์แจกชีต นี่เป็นลิสต์พิพิธภัณฑ์ นี่เป็นหัวข้อ ไปพิพิธภัณฑ์นะ ไปหาแรงบันดาลใจ เดี๋ยวกลับมาเล่าว่าอยากสร้างชิ้นงานอะไร เพื่อที่จะตอบโจทย์ที่ให้ไป การเรียนทุกอย่างตัวต่อตัว เขาจะคุยและเขาฟังเพื่อค้นหาอัตลักษณ์ในการดีไซน์ของเรา เขาพยายามกลั่นกรองตรงนั้นและปั้นให้ชัดเจน แต่เขาก็ไม่ขวางทางว่าต้องทำอย่างนั้นนะ ต้องทำอย่างนี้นะ” เจ้าตัวเล่า

“ความยากคือปรางเกลียดการวาดรูปมาก แต่ทักษะที่สำคัญในการดีไซน์คือการวาดรูป ขัดแย้งสุด ๆ แรก ๆ วาดไม่สวย เราก็ไม่อยากวาด แต่มันขึ้นอยู่กับการฝึก วาดทุกวันก็คล่องตัวไปเอง”

สไตล์เฉพาะตัวเป็นสิ่งสำคัญมากในการทำงานดีไซน์ ซึ่งดรุโณทัยไม่รู้ตัวว่าสไตล์ของตัวเองคืออะไรจนกระทั่งมีเพื่อนทัก

“มันออกไปโดยอินเนอร์ แต่เราไม่รู้ตัว จนกระทั่งปีสอง เพื่อนสนิทถามว่าโปรเจ็กต์นี้ทำอะไร เราก็ให้เขาดู เขาก็บอกว่า เนี่ยโซยูนะ อ้าว โซมี แล้ววอทอิสมี เขาก็บอกว่า ยูออกแบบทุกอย่างเป็นสัตว์ ยูไม่รู้ตัวหรือ แล้วยูก็แต่งเรื่องประกอบของยูไปเรื่อย เราก็คิด…จริงด้วย ไม่มีอันไหนไม่เป็นสัตว์เลย ก็น่าจะใช่ ที่บ้านค่อนข้างอินกับสัตว์มาก ทั้งเลี้ยงสัตว์ ไปสวนสัตว์ ดูสารคดีสัตว์ ก็คงวนเวียนซึมซับโดยไม่รู้ตัว”

“ตอนแรก ๆ อาจารย์พยายามดึงเราออกมาก่อน ไม่อยากให้เราทำแต่อย่างนี้ อยากให้พัฒนาทักษะและการดีไซน์ออกไปหลายทาง ตัวสุดท้ายของปีสองก็ออกแบบแค่ลายเส้นอย่างเดียว ไม่ใช่สัตว์ พอปีสาม ลายเส้นก็มาเจอกับสัตว์อยู่ดี ก็ออกมาเป็นคอลเล็กชั่นนี้”

คอลเล็กชั่นที่ว่าคือ “ลอสต์ แอท ซี (Lost at Sea)” ลายเส้นสรีระ ปลาหมึกที่เป็นโปรเจ็กต์ในปีสุดท้าย แล้วถูกพัฒนามาเป็นคอลเล็กชั่นเปิดตัวของแบรนด์ดรุโณทัย แต่ช่วงเวลาจากที่เรียนจบปี 2013 มาถึงการเปิดตัวแบรนด์ มีเรื่องราวมากมาย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แบรนด์นี้เกิดขึ้นมา

“ตอนไปเรียนก็อยากทำแบรนด์ แต่ตอนเรียนจบมันอิ่มตัว อยากพัก ก็หันไปทำกระเป๋าแฟชั่น เรียนจบก็กลับมาเมืองไทยเลย แต่ตอนจะจบมีห้างที่อังกฤษถามว่าสนใจเอาผลงานไปโชว์ในห้างไหม ก็ไป ช่วงที่ไปติดตั้งผลงานที่อังกฤษต้องบินมาญี่ปุ่น เอางานไปขายในงานแฟชั่นดีไซเนอร์วีกที่ญี่ปุ่น ขายดีมาก เทน้ำเทท่า จากนั้นได้อีเมล์จากการไปโชว์ที่อังกฤษ 2 อีเมล์ อีเมล์แรกลูกค้าถามว่าสตูดิโออยู่ที่ไหน จะไปซื้องาน อีเมล์ที่สองจากนิตยสารวอลเปเปอร์ (Wallpaper) เขาอยากให้เราไปร่วม 1 ใน 14 ดีไซเนอร์ที่น่าจับตามอง เราก็ดีใจมาก ก็ไปร่วม แต่ไป ๆ มา ๆ เขาจะยุบเซ็กชั่นเครื่องประดับและนาฬิกา แต่ บ.ก.ไปไฟต์จนได้ไปรวมอยู่กับแฟชั่นทั้งหมด เราก็เลยกลายเป็นดีไซเนอร์ที่เพิ่งเรียนจบจิวเวลรี่คนเดียวที่น่าจับตามองใน เกาะอังกฤษ ที่เหลือเป็นหมวดหมู่อื่น ซึ่งวอลเปเปอร์เป็นนิตยสารที่มีอิทธิพลต่อไลฟ์สไตล์ของที่นู่นพอสมควร”

ผ่านมา 4 ปี ดรุโณทัยบอกว่า คอลเล็กชั่นนี้ได้รับความสนใจเสมอ ได้รับการติดต่อมาตลอด จึงคิดว่าน่าจะจับมาปัดฝุ่นทำแบรนดิ้ง เพื่อออกมาเป็นแบรนด์ และเป็นการพัฒนาตัวเองในฐานะนักออกแบบ ซึ่งปลาหมึกในคอลเล็กชั่นแรกนี้ถูกใช้เป็นโลโก้ของแบรนด์ และกลายเป็นไอคอนของแบรนด์ไปโดยปริยาย

นอกจากแบรนด์ที่ใช้ชื่อตัว เองแล้ว ดรุโณทัยบอกว่าเธอมีทั้งหมด 4 แบรนด์ ยังไม่ได้เปิดตัวอีก 2 ซึ่งไฮไลต์อยู่ที่แบรนด์ “มายาลักษณา” ที่ตั้งใจให้เป็นแบรนด์ไฟน์จิวเวลรี่ระดับไฮเอนด์

“มายาลักษณา เป็นแบรนด์ใหญ่ที่สุด ได้แรงบันดาลใจมาจากสัตว์หิมพานต์ เป็นแบรนด์ที่สะท้อนความเป็นไทย สะท้อนถึงแบ็กกราวนด์ของปรางด้วย เนื่องจากวัชโรทัยเป็นตระกูลที่ค่อนข้างเก่า ปรางมีโอกาสได้สัมผัสจิวเวลรี่ที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่สมัยรัชกาลต้น ๆ และปรางอยากเอาความรู้ของดีไซน์ที่ปรางได้เห็นมาผนึกรวมกับความรู้เรื่องการ ดีไซน์ที่ปรางได้เรียนมา กลั่นกรองมาเป็นจิวเวลรี่ของปรางเอง”

สำหรับตลาดต่างประเทศ เธอบอกว่าตอนนี้ยังขายทางออนไลน์อยู่ แต่ปลายปีนี้จะเอาดรุโณทัย และอีกหนึ่งแบรนด์ที่เปิดตัวแล้วไปปารีสแฟชั่นวีก เพื่อดีลการซื้อขายต่างประเทศ และต้นปีหน้าจะไปญี่ปุ่น ที่สำคัญคือชิ้นงานทั้งหมดของทั้ง 4 แบรนด์ผลิตในเมืองไทย

“ปราง ตั้งใจให้เป็นอย่างนั้นค่ะ เพราะว่าฝีมือของไทยเป็นฝีมือที่โลกยอมรับ และติดอยู่ท็อปทรีของการผลิตไฟน์จิวเวลรี่ เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจมาก ปรางภูมิใจที่จะประทับบนชิ้นงานว่า เมด อิน ไทยแลนด์” สาวหน้าหวานเสียงหวานยิ้มภูมิใจในผลงานดีไซน์ของตัวเองและภูมิใจในฝีมือคนไทย