“พระราชวังเดิม” วังกรุงธนบุรี ที่ประทับกษัตริย์-เจ้านาย 2 ราชธานี

พระราชวังเดิม เปิดให้เข้าชม
 รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง-ภาพ, วรพงศ์ เจริญผล : ภาพ

หากย้อนดูประวัติศาสตร์บนผืนแผ่นดินไทยของเรา เมื่อมีการย้ายราชธานีใหม่ก็ต้องมีการสร้างบ้านแปงเมืองและสร้างพระราชวังใหม่เสมอ ไล่เรียงไทม์ไลน์จากสมัยกรุงศรีอยุธยา มาสู่กรุงธนบุรี จนมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ละราชธานีล้วนมีพระราชวังประจำราชธานีนั้น ๆ แต่ประเด็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ เมื่อมีการย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมาเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ และสถาปนาราชวงศ์จักรีแล้ว พระราชวังกรุงธนบุรี หรือที่ในเวลาต่อมาเรียกว่า “พระราชวังเดิม” ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญ ถูกใช้เป็นที่ประทับของเจ้านายชั้นสูงในราชวงศ์จักรีอยู่ จึงอาจจะเรียกว่า “วัง 2 ราชธานี” ก็ยังได้

พระราชวังเดิม หรือพระราชวังกรุงธนบุรี สร้างขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2310 หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกอบกู้เอกราชจากพม่าได้แล้ว พระองค์ทรงสถาปนาราชธานีขึ้นในบริเวณเมืองธนบุรี หรือเมืองบางกอก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเป็นเมืองมาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ใช่เมืองที่เพิ่งสร้างเมื่อสถาปนากรุงธนบุรี

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ พระราชวังเดิม
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

เมืองธนบุรีหรือเมืองบางกอกมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านกลางเมือง พื้นที่เมืองฝั่งตะวันออกคือฝั่งพระนครในปัจจุบันนั่นเอง ส่วนพื้นที่ที่ทรงเลือกสร้างพระราชวังนั้นเป็นจวนเจ้าเมืองบางกอกในสมัยกรุงศรีอยุธยา นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาข้อมูลยุคกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์สันนิษฐานว่า พระเจ้าตากทรงสร้างพระราชวังกรุงธนบุรีเพื่อใช้งานชั่วคราว และมีความตั้งใจจะย้ายพระราชวังมายังฝั่งตะวันออกอยู่แล้ว แต่เนื่องจากช่วงระยะเวลาที่พระองค์ทรงปกครองแผ่นดินนั้นสั้นเพียง 15 ปี จึงไม่ทันได้ย้ายพระราชวังก็เกิดการสถาปนาราชวงศ์ใหม่และการย้ายราชธานีเสียก่อน

หลังจากที่เจ้าพระยาจักรี ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ (รัชกาลที่ 1) พร้อมสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์และราชวงศ์จักรีในปี พ.ศ. 2325 และได้สร้างพระราชวังใหม่ คือ พระบรมมหาราชวังแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ตลอดเวลาหลายสิบปีในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ราชวงศ์จักรีก็ยังไม่ได้ละทิ้งพระราชวังกรุงธนบุรี

หลังย้ายราชธานีแล้ว รัชกาลที่ 1 ทรงกำหนดเขตของพระราชวังกรุงธนบุรีให้แคบกว่าเดิม โดยให้วัดอรุณราชวรารามและวัดโมลีโลกยารามที่เคยเป็นวัดในพระราชวังเป็นวัดนอกพระราชวัง รวมทั้งให้รื้อตำหนักแดง ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแล้วนำไปปลูกสร้างเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ที่วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) และโปรดเกล้าฯให้พระราชวงศ์ชั้นสูงที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยไปประทับที่พระราชวังเดิม เนื่องจากพระราชวังเดิมและกรุงธนบุรีมีความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์ จึงจำเป็นต้องมีผู้ดูแลรักษา

บรรยากาศ พระราชวังเดิม

รายพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้โปรดเกล้าฯให้มาประทับที่พระราชวังเดิมมีดังนี้

สมัยรัชกาลที่ 1 มีพระบรมวงศานุวงศ์ประทับ 2 พระองค์ คือ เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศร์บดินทร์ ประทับระหว่าง พ.ศ. 2325-2328 และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (ต่อมาคือรัชกาลที่ 2) ประทับระหว่าง พ.ศ. 2328-2352 ซึ่งในระหว่างนั้นพระราชโอรสและพระราชธิดาหลายพระองค์ประสูติ ณ พระราชวังเดิมแห่งนี้ รวมถึงรัชกาลที่ 3, รัชกาลที่ 4 และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมัยรัชกาลที่ 2 มีพระบรมวงศานุวงศ์ประทับ 2 พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ประทับระหว่าง พ.ศ. 2354-2365 และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฏ (ต่อมาคือรัชกาลที่ 4) ประทับระหว่าง พ.ศ. 2366-2367

สมัยรัชกาลที่ 3 มีพระบรมวงศานุวงศ์ประทับ 1 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศเรศรังสรรค์ (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ประทับระหว่าง พ.ศ. 2367-2394

สมัยรัชกาลที่ 4 มีพระบรมวงศานุวงศ์ประทับ 1 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ประทับระหว่าง พ.ศ. 2394-2413

สมัยรัชกาลที่ 5 มีพระบรมวงศานุวงศ์ประทับ 1 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมีกรมพระจักรพรรดิพงศ์

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้พระราชทานพื้นที่พระราชวังเดิมให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2443 โรงเรียนนายเรือตั้งอยู่ที่พระราชวังเดิมเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2487 จึงได้ย้ายไปอยู่ที่สัตหีบ ในเวลาต่อมาพื้นที่พระราชวังเดิมถูกใช้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพเรือมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับโบราณสถานในพระราชวังเดิมที่ยังปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน ได้แก่

บริเวณ ท้องพระโรง พระราชวังเดิม
ท้องพระโรง
ท้องพระโรงของ พระราชวังเดิม
ท้องพระโรง

ท้องพระโรง เป็นสิ่งปลูกสร้างเพียงอาคารเดียวในสมัยกรุงธนบุรีที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2310 พร้อมกับการสร้างพระราชวังกรุงธนบุรี ท้องพระโรงเป็นสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาแต่ไม่มียอดปราสาท เดิมเป็นอาคารไม้ แต่สันนิษฐานว่ามีการบูรณะให้เป็นอาคารปูนในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯประทับอยู่ในพระราชวังเดิม โดยบูรณะตามโครงสร้างที่มีมาแต่เดิม ประกอบด้วยพระที่นั่งสององค์เชื่อมต่อกัน คือ พระที่นั่งองค์ทิศเหนือ ใช้เป็นที่ออกว่าราชการกับเหล่าขุนนาง ส่วนพระที่นั่งองค์ทิศใต้ หรือที่เรียกว่า “พระที่นั่งขวาง” เป็นส่วนที่ประทับส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์

 พระราชวังเดิม
หลังเล็ก (ซ้าย) หลังใหญ่ (ขวา)

อาคารเก๋งคู่หลังเล็ก สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2367-2394 ได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารนี้พร้อมกับสร้างอาคารเก๋งคู่หลังใหญ่ ปัจจุบันภายในอาคารจัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจด้านการรบของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

อาคารเก๋งคู่หลังใหญ่ สร้างขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2367-2394 พร้อมกับการซ่อมแซมปรับปรุงอาคารเก๋งคู่หลังเล็ก ปัจจุบันภายในอาคารใช้เป็นที่จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในด้านสังคม เศรษฐกิจ ศาสนา และศิลปกรรม

อาคารเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชวังเดิม

อาคารเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2367-2394 อาคารนี้ถือเป็นอาคารแบบตะวันตกหลังแรกที่สร้างขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ชั้นบนเคยเป็นที่ประทับของเจ้านาย ส่วนชั้นล่างเป็นที่อยู่ของข้าราชบริพาร ปัจจุบันชั้นบนเป็นที่จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นห้องสมุด

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ภายในศาลประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ศาลหลังปัจจุบันสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2424-2443 แทนศาลหลังเก่าที่มีสภาพทรุดโทรม

ศาลศีรษะปลาวาฬ
ศาลศีรษะปลาวาฬ

ศาลศีรษะปลาวาฬ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2542 บนฐานของศาลหลังเดิมที่พบขณะทำการขุดสำรวจทางโบราณคดีก่อนการบูรณะครั้งใหญ่ปี พ.ศ. 2538 ใช้เป็นที่จัดแสดงกระดูกศีรษะปลาวาฬ ซึ่งพบโดยบังเอิญใต้ถุนศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ป้อมวิไชยประสิทธิ์
ป้อมวิไชยประสิทธิ์

ป้อมวิไชยประสิทธิ์ เดิมชื่อป้อมวิไชยเยนทร์ สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดฯให้สร้างพระราชวังหลวงพร้อมกับสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ได้พระราชทานนามใหม่ว่า “ป้อมวิไชยประสิทธิ์”

เรือนเขียว ณ พระราชวังเดิม
เรือนเขียว

เรือนเขียว เป็นอาคารโรงพยาบาลเดิมของโรงเรียนนายเรือ สร้างในราวปี พ.ศ. 2443-2449 ในช่วงที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์เสด็จประทับ ณ พระราชวังเดิม

พระราชวังเดิมเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย…เนื่องจากพื้นที่พระราชวังเดิมถูกใช้เป็นที่ทำการของหน่วยงานราชการที่มีความสำคัญในเรื่องความมั่นคงอย่างกองทัพเรือ การจะเข้า-ออกพื้นที่พระราชวังเดิมจึงทำได้ไม่ง่ายนัก แม้ว่าจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ แต่ก็ต้องเข้าชมเป็นหมู่คณะโดยต้องทำหนังสือขออนุญาตอย่างเป็นทางการล่วงหน้า จึงไม่สะดวกที่บุคคลทั่วไปจะเข้าไปเยี่ยมชมและศึกษา รวมถึงยังมีพื้นที่บางส่วนในพระราชวังเดิมที่ไม่เคยถูกขุดค้นศึกษา เราจึงไม่รู้ว่าพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้มีความลับอะไรที่ยังไม่ถูกค้นพบอีกบ้าง

อย่างไรก็ตาม ในหนึ่งปีก็มีโอกาสดีอยู่หนึ่งครั้งที่เราจะได้เข้าเยี่ยมชมพระราชวังเดิมได้โดยไม่ต้องทำหนังสือขออนุญาตล่วงหน้า และไม่มีค่าใช้จ่าย โดยในปีนี้กองทัพเรือร่วมกับมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิมจะเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมได้ในระหว่างวันที่ 14-28 ธันวาคม 2562 สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม โทร.0-2475-4117 หรือ www.facebook.com/wangdermpalace