7 เยาวชน นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมอุดมการณ์กับ เกรต้า ธันเบิร์ก

TURIN, ITALY - DECEMBER 13: Greta Thunberg Attends Fridays For Future Strike In Turin on December 13, 2019 in Turin, Italy. (Photo by Stefano Guidi/Getty Images)

ภาคิน วลัยวรางกูร : เรื่อง

เมื่อพูดถึงนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในปีนี้ ชื่อของ เกรต้า ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) เด็กสาวอายุ 16 ปี จากประเทศสวีเดน น่าจะเป็นชื่อแรกที่หลายคนนึกถึง ด้วยประโยค “How dare you ?” ที่เธอกล่าวอย่างดุดันในงานประชุมผู้นำโลกเรื่องสภาวะอากาศ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่สำคัญ เธอเพิ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นบุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์ (Time) ประจำปี ค.ศ. 2019 ซึ่งในปีก่อนหน้า นิตยสารไทม์ก็ได้ยกย่องให้เธอเป็น 1 ใน 25 ผู้ทรงอิทธิพลอายุไม่เกิน 20 ปี ประจำปี 2018


จุดเริ่มต้นที่ทำให้ เกรต้า ธันเบิร์ก ตระหนักถึงเรื่องวิกฤตการณ์โลกร้อน คือ ตอนที่เธออายุ 8 ขวบ เธอได้ยินเรื่องราวเหล่านี้ และไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีคนใส่ใจเรื่องนี้เป็นจำนวนน้อยนัก เมื่อเธอเรียนอยู่ระดับชั้นเกรด 9 (เทียบเท่าชั้น ม.3) เป็นช่วงเวลาที่ประเทศสวีเดนเผชิญกับฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดในรอบ 262 ปี เธอตัดสินใจโดดเรียนไปนั่งประท้วงที่หน้ารัฐสภาสวีเดน พร้อมชูแผ่นป้ายที่เขียนด้วยลายมือตัวเองว่า “Skolstrejk for klimatet” แปลว่า “โดดเรียนเพื่อประท้วงโลกร้อน” เป็นเวลา 3 สัปดาห์ และลดระดับมาเป็นทุกวันศุกร์ เป็นการเคลื่อนไหวในชื่อ “Fridays for Future” ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดสำคัญที่ทำให้ผู้คนเริ่มหันมามองปัญหานี้อย่างจริงจังอีกครั้ง

(Photo by Stefano Guidi/Getty Images)

เธอเดินหน้าทำกิจกรรมเพื่อโลกใบนี้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในงานประชุมระดับผู้นำโลก เรื่องสภาวะอากาศ (UN Climate Action Summit) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในเมืองนิวยอร์ก ตามที่เกริ่นไป ซึ่งนับเป็นหนึ่งแรงกระเพื่อมต่อสังคมที่หนักหน่วงและทรงพลังที่สุด

ก่อนหน้าปรากฏการณ์ How dare you ? อันลือลั่นนั้นไม่กี่เดือน ได้มีการรวบรวม 11 สุนทรพจน์ของเธอ ว่าด้วยเรื่องภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ ออกมาเป็นหนังสือชื่อ “No One Is Too Small to Make a Difference” ที่มีความหมายว่า “ไม่มีใครเด็กเกินจะสร้างความเปลี่ยนแปลง”

ด้วยวีรกรรมของสาวน้อย เกรต้า ธันเบิร์ก และชื่อหนังสือเล่มที่ว่านี้เอง ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” อยากสำรวจดูว่าทั่วโลกมีเยาวชนที่เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมอยู่มากน้อยแค่ไหน นักเคลื่อนไหวคนไหนที่น่าสนใจ และกำลังมีส่วนในความเปลี่ยนแปลงนี้บ้าง

(Photo by Erik McGregor/LightRocket via Getty Images)

ชิเย บัสติดา (Xiye Bastida) อายุ 17 ปี

จุดเริ่มต้นความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมของเธอเกิดจากการที่ประเทศเม็กซิโกเป็นประเทศที่มีฝนตกหนักและน้ำท่วมเป็นปกติ ทำให้ชิเยเห็นว่าชาวพื้นเมืองได้รับผลกระทบจากความเสื่อมของสิ่งแวดล้อมมากเพียงไร เมื่อเธอย้ายมาเรียนที่นิวยอร์ก เธอก็ยังต้องเห็นภาพพายุเฮอริเคนแซนดี้ อันเป็นหนึ่งในภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายร้ายแรงที่สุดในสหรัฐอเมริกา ในบริเวณชายฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะชายฝั่งรัฐนิวเจอร์ซีย์ และนิวยอร์ก

ชิเยไม่อยู่เฉย เธอเข้าร่วมกับเกรต้า และเป็นหนึ่งในผู้นำการประท้วงด้วยการโดดเรียนทุกวันศุกร์เช่นเดียวกันกับการเคลื่อนไหว Fridays for Future ที่สร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนทั่วโลก

“คนที่ได้รับผลกระทบเป็นคนแรก ๆ คือ เหล่าชนพื้นเมือง ที่ต้องระหกระเหินเพราะสิ่งก่อสร้างและความไม่เคารพต่อผืนแผ่นดิน ไม่ใช่แค่คนผิวดำ ผิวเหลือง หรือชนพื้นเมืองเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อของมลพิษจากอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล แต่เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งกว่านั้นมาก พวกเขาใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกพื้นที่ให้มีการปนเปื้อนและปลูกสิ่งก่อสร้างตั้งแต่แรก” เธอกล่าว

(Photo by Amy Sussman/Getty Images)

อิสรา เฮอร์ซี (Isra Hirsi) อายุ 16 ปี

อิลฮาน โอมาร์ (Ilhan Omar) แม่ของอิสราเป็นนักการเมืองมุสลิมคนแรกในสภาคองเกรส และยังสนับสนุนแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ “Green New Deal” และริเริ่มโครงการ “Zero Waste Act” ในประเทศสหรัฐอเมริกา

เชื้อย่อมไม่ทิ้งแถว อิสราเองก็เป็นหนึ่งในผู้นำการหยุดเรียนเพื่อประท้วงภาวะโลกร้อนร่วมกับเกรต้า นักเคลื่อนไหวชาวมุสลิมรายนี้ ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหาร “U.S. Youth Climate Strike” ซึ่งเป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้แผน Green New Deal เพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในการบริหารประเทศเพื่อลดปัญหาสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง

“เราเหลือเวลาไม่มากแล้ว ปัญหาโลกร้อนยังคงมีอยู่และขยายตัวอย่างต่อเนื่อง พวกเราต้องปกป้องโลกเพื่ออนาคตของพวกเรา” ลูกสาวนักการเมืองผู้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมกล่าว

Photo by SUMY SADURNI / AFP

ลีอาห์ นามูเกอร์วา (Leah Namugerwa) อายุ 15 ปี

ในปี ค.ศ. 2018 เด็กสาวจากยูกันดาได้ยินเรื่องราวของเกรต้า เธอเล่าว่า “ตอนแรกหนูไม่เข้าใจว่าเกรต้ากำลังทำอะไรอยู่ เพราะคำว่า ‘ประท้วง’ เป็นคำที่รุนแรงมากในยูกันดา หนูถามพ่อว่าการหยุดเรียนเพื่อประท้วงปัญหาโลกร้อนคืออะไร พ่อบอกว่า เกรต้าโดดเรียนทุกวันศุกร์เพื่อต่อต้านความนิ่งเฉยของรัฐบาลต่อสิ่งแวดล้อม หนูถามพ่อว่าหนูจะทำอย่างเดียวกันในบ้านเราได้ไหม พ่อตอบว่า ได้”

พ่อของเธอยังบอกว่า เกรต้าอายุมากกว่าเธอแค่ปีกว่า นั่นหมายความว่า เธอก็สามารถทำสิ่งที่เกรต้ากำลังทำได้

เธอได้รับแรงบันดาลใจจากเกรต้าเป็นอย่างมาก แต่ยังไม่ได้เริ่มต้นทำอะไร จนกระทั่งเธอได้ฟังข่าวภัยแล้งและหินถล่มในประเทศของเธอที่มีต้นตอมาจากปัญหาโลกร้อน เธอจึงเริ่มเคลื่อนไหว เธอสมัครทวิตเตอร์กดติดตามเกรต้า และเริ่มการประท้วงเพื่อสิ่งแวดล้อมในทุกวันศุกร์ ตามรอยผู้เป็นแรงบันดาลใจของเธอ

ริดฮิมา ปานเดย์ (Ridhima Pandey) อายุ 12 ปี

ริดฮิมาในวัย 5 ปี เริ่มสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมในตอนที่เกิดเหตุน้ำท่วมที่รัฐอุตตราขัณฑ์ ประเทศอินเดีย เหตุการณ์ดังกล่าวคร่าชีวิตผู้คนกว่า 5,000 ชีวิต สร้างความเสียหายอีกกว่า 4,000 หมู่บ้าน

4 ปีต่อมา เธอฟ้องร้องรัฐบาลอินเดียในข้อหานิ่งเฉยต่อสภาวะอากาศเปลี่ยน ริดฮิมาเรียกร้องต่อศาลให้รัฐบาลปันงบประมาณเพื่อใช้ในการตรวจสอบปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และคิดแผนการเพื่อฟื้นฟูปัญหาที่มีผลจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะภูมิอากาศ

ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เธอก็อยู่ในงานประชุมระดับผู้นำโลกเรื่องสภาวะอากาศ ร่วมกับเกรต้าอีกด้วย

(Photo by Jim Watson / AFP)

มาริ โคเปนี (Mari Copeny) อายุ 12 ปี

ในปี ค.ศ. 2016 มาริ เด็กหญิงวัย 8 ปี จากเมืองฟลินต์ (Flint) รัฐมิชิแกน เขียนจดหมายถึงประธานาธิบดีบารัก โอบามา เกี่ยวกับวิกฤตการณ์แหล่งน้ำในเมืองของเธอ

วันที่ 24 เมษายน ปีเดียวกัน ประธานาธิบดีตอบจดหมายเธอ ในจดหมายระบุว่า เขากำลังจะเดินทางไปจัดการเรื่องนี้ด้วยตัวเอง โอบามาทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “จดหมายจากเด็ก ๆ อย่างหนู ทำให้น้ามองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับอนาคตได้อีกเยอะ หวังว่าจะได้พบกันในสัปดาห์หน้า”

หนึ่งปีต่อมา เธอยังคงดำเนินตามแนวทาง มาริปรากฏตัวในคลิปวิดีโอโปรโมตกิจกรรม “People Climate March” มีถ้อยความระบุว่า “หนูออกเดินเพื่อน้ำที่ดื่มได้”

ปัจจุบัน เธอมีแฮชแท็ก #WednesdaysForWater ในทวิตเตอร์ ให้ผู้คนร่วมแชร์สถานที่ที่ต้องการน้ำดื่มที่สะอาดในทุกวันพุธ เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือ นอกจากนั้น เธอทำงานร่วมกับบริษัทเครื่องกรองน้ำเพื่อติดตั้งให้แก่ชุมชนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำที่สะอาดได้


เอลิซาเบธ แกดสดัน (Elizabeth Gadsdon) อายุ 11 ปี

เด็กสาวจากประเทศอังกฤษที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชนของตัวเอง เมื่อตอนอายุ 6 ปี เธอเห็นคนทิ้งขยะออกมาจากหน้าต่างรถ ทำให้เธอรู้สึกไม่ดี และเธอคิดว่า เธอควรจะต้องเริ่มทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเหลือโลกใบนี้ เธอจึงเริ่มภารกิจการเก็บขยะในบริเวณชุมชนเวียร์รัล (Wirral) ที่เธออาศัยอยู่ ภารกิจของเธอขยายตัว มีเด็กมาเข้าร่วมมากขึ้น ด้วยความร่วมมือจากสวนสาธารณะเบอร์เคนเฮด (Birkenhead Park) จึงเกิดเป็นกลุ่ม “The Little Collector Crew” (TLC) หรือ “นักเก็บตัวจิ๋ว” ขึ้นมา ในช่วงสุดสัปดาห์ พวกเขาจะรวมกลุ่มกันออกมาอาสาเก็บขยะตามบริเวณชายหาด และพื้นที่โดยรอบ

เอลิซาเบธมีความตั้งใจ 3 ประการ ได้แก่ 1.ทำให้ถนนและชายหาดในชุมชนของเธอเป็นพื้นที่ปลอดขยะเท่าที่จะทำได้ 2.กลุ่ม TLC ต้องการแสดงให้เห็นว่า เด็ก ๆ มีความใส่ใจต่อโลกแค่ไหน พวกเขาจะปกป้องโลก 3.เพื่อลดขยะในที่พักอาศัย หลีกเลี่ยงการใช้พลาสติก และปฏิเสธการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง รวมถึงช่วยเหลือแนะนำให้ผู้คนทำแบบเดียวกัน

เธอกล่าวว่า “หนูอยากให้เวียร์รัลเป็นเมืองที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน หนูเก็บขยะเพื่อปกป้องสัตว์ป่าและท้องทะเล และเพื่อให้โลกเป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็น”

(Photo by Mladen ANTONOV / AFP) / TO GO WITH UN-climate-Environment-plastic-Thailand-youth, FEATURE,FEATURE by Sophie DEVILLER

ระริน สถิตธนาสาร (Ralyn Satidtanasarn) อายุ 11 ปี

ปิดท้ายด้วยน้องเล็กลูกครึ่งสหรัฐอเมริกา-ไทย ระริน หรือ “ลิลลี่” เพิ่งได้รับรางวัล Yunus & Youth Ambassador 2019 ด้านสิ่งแวดล้อม จากศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนูส (Muhammad Yunus) นักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

ตอนอายุ 8 ปี เธอมีโอกาสได้มาเที่ยวทะเลที่เมืองไทยเป็นครั้งแรก เธอตกใจมากที่เห็นเนินขยะปริมาณมหาศาล เธอแสดงความรู้สึกว่า “หนูตกใจมากว่าทำไมชายหาดถึงดูแย่ขนาดนั้น ไม่เห็นจะเหมือนในรูปเลย”

จากนั้นไม่นาน เธอทำเรื่องขอเข้าพบกับผู้บริหารธุรกิจกลุ่มเซ็นทรัล เพื่อเสนอให้ลดการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง การเข้าพบในวันนั้นมีส่วนที่ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลตัดสินใจรณรงค์ให้มีวันงดใช้ถุงพลาสติก ไม่นานนัก ห้างในกลุ่มอื่นก็เริ่มปฏิบัติตาม

“หนูอายุแค่ 11 ปี หนูยังทำได้ ถ้าหากหนูทำได้ พวกคุณก็ทำได้เช่นเดียวกัน นี่เป็นเรื่องเล็กน้อยที่เราสามารถทำได้ เพื่อไปถึงเป้าหมายที่ทำให้โลกสะอาดขึ้น” นักเคลื่อนไหวตัวน้อยกล่าว

เรื่องราวของเยาวชนทั้ง 7 คนที่ได้แบ่งปัน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเยาวชนในปัจจุบันที่มองเห็นปัญหา และเริ่มลงมือทำอะไรบางอย่าง ก่อนที่วิกฤตการณ์โลกจะไปถึงจุดที่ไม่สามารถจะแก้ไขอะไรได้อีกต่อไป

ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในช่วงงานประชุมระดับผู้นำโลกเรื่องสภาวะอากาศที่เกรต้ากล่าวสุนทรพจน์ต่อผู้นำโลกอย่างดุเดือดนั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการลุกขึ้นมาประท้วงของบรรดานักเรียนมากกว่า 4,000,000 คน จาก 150 ประเทศทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ที่นักเรียนกว่า 200 คน ไปรวมตัวกันที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทำท่าแกล้งตาย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ถึงผลกระทบร้ายแรงที่เกิดจากปัญหาโลกร้อน จากแรงกระเพื่อมทั้งหมดนี้ ทำให้เราเห็นว่า “ไม่มีใครเด็กเกินจะสร้างความเปลี่ยนแปลง” จริง ๆ