3 ความสุข 3 ความทุกข์ “สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ตลอดการทำงาน 23 ปีที่เอไอเอส

 รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง/ธนศักดิ์ ธรรมบุตร : ภาพ

“ความภาคภูมิใจของชาวเอไอเอสตลอด 30 ปีที่ผ่านมา นอกจากสร้างดิจิทัลอินฟราสตรักเจอร์ให้แก่คนไทยแล้ว ยังได้ส่งมอบเงินให้กับภาครัฐต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มูลค่ากว่า 915,000 ล้านบาท…ยังไม่รวมการลงทุนกว่า 1.1 ล้านล้านบาท และการจ้างพนักงานมาทำงานร่วมกับบริษัทตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันกว่า 50,000 คน…”

นี่เป็นข้อมูลจากหน้าแรก ๆ ของหนังสือ “30 ปี เอไอเอส…ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา” หนังสือเล่มใหม่ที่ออกมาในวาระครบรอบ 30 ปีการก่อตั้งเอไอเอส ซึ่งมีการเปิดตัวหนังสือในวันที่ 28 กันยายนนี้

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้พูดแค่เรื่องราว 30 ปีของเอไอเอส แต่ยังให้ข้อมูลภาพรวมการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของประเทศไทย ตั้งแต่เริ่มบุกเบิกในสมัยรัชกาลที่ 5 มาจนถึงปัจจุบัน

ผู้ที่เขียนหนังสือบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ย่อมไม่ใช่ใครอื่นไกล เขาคือ สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือซีอีโอคนปัจจุบันของเอไอเอสที่เป็น “ลูกหม้อ” ทำงานอยู่กับเอไอเอสมานานถึง 23 ปี และ 8 ปีก่อนที่จะมาทำงานกับเอไอเอส เขาทำงานอยู่ที่บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ดังนั้น นับรวมเวลาที่เขาทำงานให้กับบริษัทในเครือนี้ก็เป็นเวลานานถึง 31 ปีแล้ว

สมชัยยึด “ปรัชญา 3 คำ” ในการทำทุกอย่าง ทั้งการดำเนินชีวิตของตัวเอง และในการทำงาน เขาให้เหตุผลว่า 3 คำกำลังดี ไม่มาก ไม่น้อย จำง่าย และมีตรงกลาง เช่น มีมาก มีน้อย มีตรงกลาง และมีซ้าย มีขวา มีตรงกลาง เขาเปิดเผยด้วยว่า คำ 3 คำที่เขายึดถือปฏิบัติมาตั้งแต่เด็ก คือ “ขยัน ซื่อสัตย์ พัฒนาตัวเอง”

ในชีวิตการทำงานยาวนาน 23 ปี ย่อมต้องผ่านมาทั้งความสุขและความทุกข์ ดังนั้น เพื่อให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ “ปรัชญา 3 คำ” ที่เขายึดถือมาตลอด “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จึงขอให้สมชัย เลิศสุทธิวงค์ เลือกเหตุการณ์ที่เป็น 3 ความสุขที่สุด และ 3 ความทุกข์ที่สุด ตลอดการทำงาน 23 ปีที่เอไอเอส มาเล่าให้ฟัง ซึ่งในเรื่องราวความสุขและความทุกข์ของผู้บริหารเอไอเอสน่าจะทำให้เห็นภาพการต่อสู้ในอุตสาหกรรมนี้ด้วย

และต่อไปนี้คือความสุขและความทุกข์ 3 อันดับแรก ที่ซีอีโอ “เอไอเอส” จัดอันดับและเล่าออกมาอย่างสนุกสนาน

3 ความสุข

ความสุขที่ 1 : เปิดให้บริการโทรศัพท์เติมเงินได้

ความสุขอันดับที่ 1 ที่สมชัยเลือกมา คือ การมีส่วนในการนำเสนอให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) แก้ไข “สัญญาร่วมการงาน” ให้สามารถเปิดให้บริการ prepaid ได้

หลังจากปลดล็อกข้อจำกัดได้แล้ว เอไอเอสได้ออกแบรนด์ใหม่สำหรับบริการ prepaid หรือที่เรียกกันว่า โทรศัพท์มือถือระบบเติมเงิน ในชื่อ “วัน-ทู-คอล” เมื่อปี 2542 นั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงการใช้โทรศัพท์มือถือได้มากขึ้น และทำให้เอไอเอสมีฐานลูกค้าทิ้งห่างคู่แข่งรายสำคัญอย่าง “ดีแทค” มากขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นผู้นำแบบนำโด่ง

“เราสามารถขยายบริการ ทำให้ลูกค้าสามารถเข้ามาใช้บริการได้มากมายขึ้น ทำให้โทรศัพท์มือถือเติบโตเพราะสามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการได้อย่างเต็มที่จริง ๆ นี่คือความสุขแรก ในการทำงานที่เอไอเอส”

ความสุขที่ 2 : เปิดตัว “น้องอุ่นใจ” ได้เห็นพลังของทีม

ความสุขลำดับที่ 2 ของซีอีโอ “เอไอเอส” เกิดขึ้นเมื่อปี 2548 ตอนที่เอไอเอสเปิดตัวมาสคอตชื่อน่ารักว่า “น้องอุ่นใจ” สืบเนื่องจากเอไอเอสรู้ตัวว่าแบรนด์เอไอเอสเริ่มแก่ ตอนนั้นสมชัยในตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการสายงานฝ่ายการตลาด มีแนวคิดว่าอยากมีอะไรมาเป็นตัวเชื่อมระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค จึงออกมาเป็นมาสคอตชื่อ “น้องอุ่นใจ” ตัวสีน้ำเงิน (ตอนหลังเปลี่ยนเป็นสีเขียว) ที่มาพร้อมสโลแกน “อยู่เคียงข้างคุณ”

“ความสุขที่ 2 คือตอนที่เราเปิดตัว ‘น้องอุ่นใจ’ สีน้ำเงิน เป็นตอนที่แชลเลนจ์มาก ๆ เลย ที่ผมมีความสุข ไม่ใช่แค่เพราะน้องอุ่นใจเป็นที่รับรู้ เป็นที่ติดตลาด แต่เพราะได้เห็นพลังของเอไอเอสว่าเวลาเราอยากทำอะไรขึ้นมา ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันทำ ตอนนั้นทุกฝ่ายทุกแผนกออกมาเต้นระบำน้องอุ่นใจ และเราจัดการร้องเพลงที่สยามสแควร์ เอานักร้องดัง ๆ มาหลายคน เป็นอีเวนต์ที่เป็น talk of the town เป็น event marketing อีกแบบหนึ่งที่ไม่ใช่มีแค่เวทีคอนเสิร์ตเวทีเดียว แต่เรามีหลากหลายเวที ซึ่งเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วเรารู้สึกว่าดีมาก”

ความสุขที่ 3 : ประมูลคลื่น 5G ได้เต็มไม้เต็มมือ

“ความสุขที่ 3 ก็คือการประมูลคลื่นความถี่ที่เราไปประมูลมา ถึงแม้ว่าจะมีการแข่งขันราคาขึ้นสูงบ้าง แต่ก็ไม่ได้สูงแบบไร้เหตุผล และการที่เราประมูลในวันนั้นทำให้คู่แข่งโชคดีด้วยซ้ำเพราะ CAT หมดแรงก็ทำให้คลื่น 2600 MHz เบาบางลง ทำให้อุตสาหกรรมโดยรวมดี” สมชัยบอกกกับประชาชาติธุรกิจ

สมชัยเล่าไว้ในหนังสือว่า นับตั้งแต่ที่เขาขึ้นมาเป็นซีอีโอ เอไอเอส เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่แล้วทั้งหมด 5 ครั้ง ช่วง 2 ปีแรกของการเป็นซีอีโอเขาต้องยุ่งอยู่กับการประมูลคลื่นความถี่ และดูแลลูกค้าในช่วงเปลี่ยนผ่านจาก “สัญญาร่วมการงาน” มาสู่ระบบ “ใบอนุญาต” ปีที่ 3 จึงเป็นช่วงที่เร่งสร้างเน็ตเวิร์ก 4G และสรรหาสิ่งดี ๆ ให้ลูกค้า

การประมูลครั้งล่าสุดที่เป็นความสุขอันดับที่ 3 ของเขา คือ การประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz หรือที่เรียกกันว่า การประมูลคลื่น 5G เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเอไอเอสเป็นโอเปอเรเตอร์เพียงเจ้าเดียวที่คว้าใบอนุญาตมาได้ครบทั้ง 3 คลื่นความถี่

3 ความทุกข์

ความทุกข์ที่ 1 : พลาดคลื่น 900 (เกือบ) ต้องปล่อยซิมดับ 10 ล้านเลขหมาย

“คลื่นความถี่เป็นปัญหารบกวนจิตใจการทำงานของเอไอเอสมานาน ต้องสูญเสียเวลาและสมาธิในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาบ่อย ๆ” สมชัยเล่าไว้ในหนังสือ ซึ่งความทุกข์อันดับที่ 1 ของเขาก็คือเรื่องนี้นี่เอง

“ความทุกข์อันแรกแน่นอน ก็คือ การประมูลคลื่น 900 MHz ซึ่งเราไม่เคยคิดเลยว่ามันจะเกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นมา หนึ่งคือ ราคาสูงโดยไม่สมเหตุสมผล เราเชื่อว่าเราเองเป็นคนที่ให้ราคาสูงได้มากที่สุดแล้ว เพราะเรามีฐานลูกค้ามากที่สุด แต่ทำไมคนอื่นเขาสามารถให้ได้สูงกว่าเรา อันนี้ถือว่าไม่สมเหตุสมผลมาก แต่ธุรกิจก็ต้องเดินต่อไป และเราก็รู้ว่ามันไม่จริงหรอก ราคาอย่างนี้มันเหมือนติดกระดุมผิดเม็ดแล้วก็ต้องถือ ๆ กันไป แล้วก็ต้องมี ม.44 มาแก้ไข แสดงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้นมันบิดอุตสาหกรรมมาก อันนี้ก็คือความทุกข์อันหนึ่งซึ่งก็ต้องแก้ไขไป” สมชัยกล่าว

การประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz เกิดขึ้นไล่เลี่ยกันในช่วงปลายปี 2558 เอไอเอสต้องการคลื่นทั้งสองช่วงความถี่ หลังจากประมูลคลื่น 1800 MHz ผ่านไปแล้ว ยังเหลือคลื่น 900 MHz ที่ต้องคว้ามาให้ได้ เพราะถ้าเอไอเอสไม่มีใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ลูกค้าของเอไอเอสเกือบ 10 ล้านคนจะมีปัญหาการสื่อสาร และถูกปิดซิมในที่สุด

ในการประมูลครั้งนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีใครคาดคิด คือ การเคาะราคาเพิ่มขึ้นสูงมากจนเกิน 75,000 ล้านบาท เอไอเอสสู้ราคาไม่ไหวต้องตัดใจกลับออกมามือเปล่า แม้จะต้องการใช้คลื่น 900 MHz มากเพียงใดก็ตาม !

ความทุกข์ที่ 2 : ข้อพิพาทละเมิดสิทธิ์บอลโลก 2018

“ความทุกข์ที่ 2 คือ ตอนที่ กสทช.สั่งให้เราเป็น Must Carry ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 เราก็ทำการ Must Carry ออกไป เพื่อให้เป็นประโยชน์ของประชาชน ขณะเดียวกัน อีกหลายหน่วยงานบอกว่าทำแบบนี้ไม่ได้ อันนี้เป็นความทุกข์ที่ว่าขนาดบริษัทเราใหญ่ขนาดนี้ยังโดนแบบนี้ แต่งานนี้ก็ดีนะทำให้ผมมีมิตรเต็มไปหมด”

กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2561 เรื่องราวมีอยู่ว่า AIS PLAY และ AIS PLAY BOX ได้ออกอากาศสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ตามประกาศของ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (ประกาศ Must Carry) แต่ทางบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 แย้งว่า AIS PLAY เป็น OTT หรือคอนเทนต์ทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งประกาศ Must Carry ไม่ได้ครอบคลุมถึงบริการประเภทนี้ จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้เอไอเอสยุติแพร่ภาพ ต่อมาศาลมีคำสั่งให้เอไอเอสยุติการแพร่ภาพ ข้อพิพาทจึงจบลงที่เอไอเอสยอมจอดำตามคำสั่งศาล

ความทุกข์ที่ 3 : การบริหารคน การเปลี่ยนแปลงองค์กรช้ากว่าที่คิด

สมชัยพูดมาหลายปีว่า เขาอยากเปลี่ยนแปลงองค์กรให้เป็นองค์กรของรุ่นใหม่ แต่เรื่องนี้ไม่ง่าย มันจึงกลายเป็นความทุกข์อันดับที่ 3 ของเขา

“ความทุกข์ที่ 3 คือเรื่องการบริหารคน ผมตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงองค์กรให้เสร็จภายใน 5 ปี แต่ผ่านมา 6 ปีแล้วผมยังทำไม่ได้ถึงครึ่งหนึ่งเลย เหตุผลเพราะว่าเอไอเอสเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จมาก การไปบอกให้คนที่ประสบความสำเร็จเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ยากมาก นี่ขนาดผมทำเพียง 50% เพื่อจะพยายามรักษาคนรุ่นเก่า ๆ เอาไว้ให้มากที่สุด ผลสะท้อนกลับมาก็คือ คนรุ่นเก่า ๆ ไม่เข้าใจสิ่งที่ผมทำ พูดง่าย ๆ คือ ผมผิดหวังที่ผมทำไม่สำเร็จ และผลของการทำไม่สำเร็จคือ แทนที่จะได้รับการชื่นชมว่าเราดูแลเขา กลับไม่ใช่อย่างนั้น หลายคนยังมองผมด้วยสายตาที่แปลก ๆ ไป”

เมื่อพูดถึงความทุกข์แล้วก็อดถามถึงวิธีคลายทุกข์ไม่ได้ แน่ล่ะว่าปัญหาขององค์กรใหญ่ขนาดนี้ ย่อมไม่สามารถแก้ได้ภายในวันสองวัน แล้วระหว่างที่ต้องอยู่กับปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ ซีอีโออย่างเขาคลายความเครียดและลดความทุกข์ของตัวเองอย่างไร

“ผมเองอาจจะโชคดีว่าผมเป็นคนไม่ยึดติด” ซีอีโอเอไอเอสตอบทันที

แล้วอธิบายต่อว่า “อย่างตอนที่ผมอกหัก มันแย่สุด ๆ เลย โทรมหมดเลย แย่มากเลย แต่พอถึงเวลากินผมก็หิวข้าว ผมก็ต้องกิน พอกินเสร็จผมก็อกหัก เศร้า แต่ว่าถึงเวลานอนผมก็นอน หลับสนิทไม่ได้เป็นอะไร แต่ว่าตื่นมาก็อกหักต่อ ไม่ได้เป็นแบบกินไม่ได้นอนไม่หลับ นี่คือแบ็กกราวนด์ของผม ผมเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่หนุ่ม ๆ เหมือนกันกับตอนที่ผมเครียด ๆ เรื่องซิมดับ เรื่องอะไรต่าง ๆ แต่ถึงบ้านผมก็นอน ไม่มีอะไร ผมเป็นคนที่ไม่ยึดติดมาก เป็นคนปล่อยวาง อะไรจะเกิดก็เกิด”

นี่คือ 3 ความสุข และ 3 ความทุกข์ ของซีอีโอบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมซึ่งแข่งขันกันอย่างดุเดือด พร้อมด้วยวิธีการคลายความทุกข์แบบธรรมดาที่ไม่ธรรมดา เหมือนจะง่ายแต่ไม่ง่าย … (แค่) ปล่อยวาง ไม่ยึดติด