จ่อรื้อแนวทางสิ้นสิทธิที่ดิน ส.ป.ก. ขีดเส้น 60 วันจบ

ที่ดิน ส.ป.ก.

ส.ป.ก. เตรียมปรับแก้แนวทางการสิ้นสิทธิในที่ดิน พร้อมหลักเกณฑ์ขึ้นบัญชีเกษตรกรขอที่ดินทำกิน เคาะแผนจ่ายเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปี 2566 กว่า 4,100 ล้านบาท พัฒนาที่ดินไม่เหมาะสมที่ได้จากการยึดคืนพื้นที่ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 36/2559

วันที่ 20 สิงหาคม 2565 นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมของ ส.ป.ก. เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565 มีมติเห็นชอบหลักการจัดทำแนวทางการสั่งให้เกษตรกรสิ้นสิทธิการเข้าทำประโยชน์ (ระงับสิทธิ) ในที่ดินที่รับมอบจาก ส.ป.ก.

วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข
วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข

โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณากฎหมายและระเบียบพิจารณากลั่นกรองเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ก่อนนำเสนอ คปก. เพื่อพิจารณากำหนดเป็นแนวทางการดำเนินงาน

“สาเหตุที่ต้องจัดทำแนวทางสิ้นสิทธิ เพราะปัจจุบันที่ดินที่ได้มาส่วนหนึ่งไม่เหมาะสมทำการเกษตร แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ และยังมีข้อจำกัดในการแบ่งแยกและโอนสิทธิตามกลไกกฎหมายเดิม ขณะที่สภาพเศรษฐกิจและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การปรับปรุงกฎหมาย การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันเพื่อประโยชน์ของเกษตรกร ตามที่ ส.ป.ก. ตั้งใจจะขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน”

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการจะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมและความจำเป็นของเกษตรกรมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกษตรกรต้องได้รับความเดือดร้อนจนเกินไปจากการถูกสั่งให้สิ้นสิทธิตามแนวทางเดิมที่ต้องสูญเสียทั้งที่ดินทำกินและที่ดินอยู่อาศัยทั้งหมด

โดย ส.ป.ก. จะแจ้งสิทธิและหน้าที่ให้เกษตรกรดังกล่าวได้รับทราบ ตลอดจนให้โอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานที่จำเป็นและเพียงพอแก่การพิสูจน์ข้อเท็จจริง

พร้อมกันนี้ คปก.ยังเห็นชอบในหลักการให้จัดทำหลักเกณฑ์การจัดทำบัญชีเกษตรกรผู้ขึ้นทะเบียนที่ได้รับการคัดเลือก ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อจัดลำดับในการช่วยเหลือเกษตรกรให้เป็นไปตามระเบียบ โดยจะนำความเห็นและข้อสังเกตของคณะกรรมการไปปรับแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าว และนำเสนอคณะกรรมการพิจารณา เพื่อเป็นแนวทางการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรต่อไป

และได้มีมติ เห็นชอบแผนการใช้จ่ายเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กว่า 4,100 ล้านบาท เพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการบริหารเงินกองทุนฯ

โดยแบ่งเป็นรายจ่ายหมุนเวียน เช่น การจัดหาที่ดิน สินเชื่อพัฒนาอาชีพและเพิ่มรายได้เกษตรกร สินเชื่อ ตามนโยบาย เงินค้ำประกันสินเชื่อ ธ.ก.ส. และรายจ่ายขาด เช่น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจัดหาที่ดิน โครงการพัฒนาศักยภาพพื้นที่และการผลิต โครงการพัฒนาแปลงที่ดินที่ได้จากการยึดคืนพื้นที่ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 36/2559 เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ อยู่ดี และมีความสุขในเขตปฏิรูปที่ดินอย่างยั่งยืน