หอการค้าไทย-จีน เผย Q4 เศรษฐกิจไทยฟื้น คาดทั้งปีโต 3.3% เร่งดึงดูดลงทุน EEC

หอการค้าไทย-จีน

หอการค้าไทย-จีน เผยไตรมาส 4 เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว คาดขยายตัว 3.3% ในปีนี้แต่ยังคงกังวลการถดถอยของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งของชาติมหาอำนาจ และเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ กระทุ้งรัฐเร่งเครื่องการลงทุน EEC

วันที่ 31 สิงหาคม 2565 นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน เปิดเผยว่า หอการค้าไทย-จีน และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นจากคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการบริหาร และสมาชิกหอการค้าไทย-จีน และประธาน ผู้บริหาร กรรมการสมาพันธ์หอการค้าไทยจีน และกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่หอการค้าไทยจีน จำนวน 305 คน ระหว่างวันที่ 16 ถึง 18 สิงหาคม 2565 เพื่อคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ได้ดังนี้

จากการสำรวจความมั่นใจต่อข่าวที่สื่อต่าง ๆ นำเสนอว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ และในปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตร้อยละ 3.3 ผู้ตอบการสำรวจร้อยละ 39.7 คิดว่าเป็นไปได้มาก แต่ร้อยละ 56.7 เห็นว่าเป็นไปได้น้อย ที่เหลือคิดว่าเป็นไปไม่ได้ อุปสรรคที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างไม่ราบรื่น

ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล
ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล

ในลำดับแรกคือ การถดถอยของเศรษฐกิจโลก ตามด้วยอีก 5 ประการคือ แรงกดดันจากเงินเฟ้อ เสถียรภาพการเมืองในประเทศ หนี้ครัวเรือน และวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า  ต่อเนื่องจากความกังวลที่เกี่ยวกับการถดถอยของเศรษฐกิจโลกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

การประเมินความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจโลกก่อนสิ้นปี 2565 ร้อยละ 33.1 คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะถดถอยเล็กน้อยต่อจากไตรมาสปัจจุบัน และร้อยละ 25.2 คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะถดถอยเป็นอย่างมาก มีส่วนน้อยร้อยละ 12.5 ที่คิดว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะวิกฤต ในทางตรงกันข้ามร้อยละ 19.8 คิดว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว

ส่วนปัจจัยทางด้านการเงิน ร้อยละ 65.4 คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย น่าจะมีการปรับขึ้นอีกก่อนสิ้นปี 2565 แต่จากการสำรวจ การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนั้นไม่เป็นประเด็นที่สำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างไม่ราบรื่น

ความกังวลต่อความขัดแย้งของชาติมหาอำนาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ร้อยละ 41.6 คิดว่า มีผลต่อเศรษฐกิจไทยพอสมควร ส่วนร้อยละ 20.7 และ 9.2 มีความเห็นว่ามีผลกระทบมากและมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ที่เหลือไม่มีความกังวลเพราะคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ชาติมหาอำนาจขัดแย้งกัน อีกทั้งบางส่วนเห็นว่าโอกาสเพราะเราไม่อยู่ในความขัดแย้งใด ๆ

เมื่อพิจารณาถึงโอกาสในการส่งออกไปจีนในสถานการณ์ปัจจุบันร้อยละ 54.4 ยังมีความมั่นใจพอประมาณ และร้อยละ 31.5 มั่นใจมากที่สุดว่า จีนยังเป็นตลาดส่งออกที่ไทยพึ่งพาได้ แต่จะหวังนักท่องเที่ยวจากจีนคงหวังได้ยาก โดยที่ร้อยละ 80.3 คิดว่านักท่องเที่ยวจีนจะลดลงจากที่คาดหวังไว้ล่วงหน้า ด้วยสถานการณ์ของประเทศจีนเอง ทั้งนี้ในสัดส่วนนั้น ร้อยละ 58.7 คาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะลดลงมากถึงมากที่สุด

เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและไทย จากการสำรวจพบว่าร้อยละ 40.7 คาดว่าเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนโดยรวมของจีนในไตรมาสที่ 4 จะดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ในขณะที่ร้อยละ 25.2 คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะทรง ๆ ส่วนร้อยละ 31.5 มีความเห็นว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะเติบโตช้าลง ซึ่งผลการประเมินดังกล่าวได้สะท้อนถึงการคาดคะเนการส่งออกของไทยไปยังประเทศจีนในไตรมาสที่ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบัน กล่าวคือ ร้อยละ 43.6 คาดว่าการส่งออกของไทยไปยังจีนจะเพิ่มขึ้น

และร้อยละ 31.5 ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน การคาดคะเนการนำเข้านั้น ร้อยละ 48.5 คาดว่าการนำเข้าจากจีนจะเพิ่มสูงขึ้น และร้อยละ 28.5 การนำเข้าจะทรงตัว ส่วนผลของการสอบถามความคิดเห็น ด้านการลงทุนของจีนในไทย พบว่า ร้อยละ 42 ของผู้ให้ข้อมูลคิดว่าการลงทุนจากจีนในไทยในไตรมาสที่ 4 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 3 จะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 30.8 ของผู้ให้ข้อมูลคาดว่าการลงทุนจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน

การสำรวจการคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ของไทยโดยรวม ในไตรมาสที่ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบัน สรุปได้ว่าร้อยละ 40.3 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น ร้อยละ 30.8 คาดว่า จะทรง ๆ ขณะที่ร้อยละ 26.2 จะชะลอตัวลงอีก ทั้งนี้ภาคธุรกิจที่ยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสหน้า คือ ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจออนไลน์ ธุรกิจบริการสุขภาพ พืชผลการเกษตร ธุรกิจบริการสุขภาพ ธุรกิจโลจิสติกส์ และสินค้าเกษตรแปรรูป

และส่วนธุรกิจที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ ธุรกิจการท่องเที่ยว พืชผลการเกษตร พลังงานและสาธารณูปโภค อสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง และอุตสาหกรรมการผลิต การสอบถามเพิ่มเติมในส่วนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พบว่าเป็นอุตสาหกรรมเป็นโอกาสของประเทศไทยที่สำคัญและจะนำไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หากได้รับการแก้ไขอุปสรรคอย่างรวดเร็ว

การคาดการณ์ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาสที่ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบัน ผู้ให้ข้อมูลมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปในทิศทางการปรับตัวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทำไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน ส่วนแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาสหน้านั้น เสียงส่วนใหญ่ร้อยละ 34.4 คาดว่าเงินบาทจะมีค่าแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอเมริกา และอีกร้อยละ 36.1 คิดว่าถ้าเงินบาทจะทรงตัวในช่วง 35.59 ถึง 36.09 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยไปยังจีนยังมีโอกาสอีกมาก โดยเฉพาะหมวดสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร (เช่น อาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง) ซึ่งยังมีอัตราการขยายตัวที่ 6.53% และ 23.44% ตามลำดับ แต่เนื่องจากค่าระวางเรือมีแนวโน้มลดลง ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง และมีความต้องการอาหารเพื่อบริโภคในประเทศจีน

ทั้งนี้ต้องมีการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงอาร์เซป (RCEP) และการส่งเสริมการค้าระดับมณฑลของจีน ซึ่งคาดว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

ส่วนด้านการลงทุนของจีนในประเทศไทยนั้น คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับสถิติการยื่นของบีโอไอของนักลงทุนจีน ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ได้รับการอนุมัติ รวม 48 โครงการ มีมูลค่าการลงทุน 24,620 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 3 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (อันดับ 1 คือ ไต้หวัน อันดับ 2 คือ ญี่ปุ่น)

ทั้งนี้ จากการหารือกับผู้ประกอบการจีนในประเทศไทยส่วนหนึ่ง คาดว่าจะมีนักเรียนนักศึกษาจีน เดินทางเข้ามาศึกษาหลักสูตรนานาชาติของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในประเทศไทย เพิ่มสูงขึ้น จะเกิดการใช้จ่ายในสินค้าอุปโภคบริโภค และที่อยู่อาศัย ซึ่งคาดว่ากำลังซื้อของคนจีนเหล่านี้จะช่วยให้ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยฟื้นตัวขึ้นมาได้ระดับหนึ่ง

โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมและวิลล่าเฮาส์ที่มีมูลค่าสูง หลังวิกฤตโควิด-19 นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะนักลงทุนชาวจีน จะหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จะมีผลสำคัญในการฟื้นตัวและการพัฒนาตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยต่อไป

“ผมมองว่า สุดท้ายแล้วประเทศที่มีความเจริญอย่างจีนก็ต้องออกมาลงทุนต่างประเทศ มั่นใจว่านักลงทุนจีนจะขยายการลงทุนแน่นอน เพื่อลดความเสี่ยงต้นทุน ขณะที่ต้องคอยจับตาเวียดนาม มาเลเซีย จะเป็นคู่แข่ง ไทยต้องเร่งมือการลงทุน EEC ภาครัฐต้องชัดเจน และกระตุ้นให้ไวขึ้น”