30 ปี ซีเล็คทูน่า กางแผน 3 ปี ปั๊มยอด บุก CLMV

ศรัณย์ รัตนรุ่งเรืองชัย
สัมภาษณ์

ในโอกาสครบรอบ 30 ปี แบรนด์ซีเล็ค (SEALECT) ผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องฝีมือคนไทย ในกลุ่มบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ทียู ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตและส่งออกทูน่ากระป๋องอันดับหนึ่งของโลก “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ศรัณย์ รัตนรุ่งเรืองชัย” ผู้จัดการทั่วไป บริหารกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ทียู ถึงแนวโน้มทิศทางธุรกิจ

กลยุทธ์ดันยอดโต 5-6%

ปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายเพิ่มขึ้น 5-6% จากปีที่ผ่านมาเติบโตประมาณ 10% จากภาวะการแพร่ระบาดของโควิดทำให้ประชาชนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ในปีก่อนบริษัทจึงได้มีเริ่มพัฒนาแพ็กเกจจิ้ง ด้วยการซื้อลิขสิทธิ์ แคแร็กเตอร์การ์ตูนโดราเอมอน 3 ตัว มาพิมพ์ลายลงกระป๋อง

เพราะเป็นการ์ตูนที่ผูกพันกับคนไทย ยอดขายบรรลุเป้าหมายเร็วกว่าเป้า ที่ตั้งไว้ 3 เดือน แต่แค่เพียง 1.5 เดือนก็ขายหมดแล้ว ยอดขายจากจุดนั้นเพิ่มขึ้น 30% ปีนี้เราได้ขยายโครงการ เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบ 30 ปี

ด้วยการซื้อลิขสิทธิ์แคแร็กเตอร์ 5 ตัวการ์ตูนโดราเอมอน พิมพ์ลายบนกระป๋อง คอลแลบส์ “ซีเล็คทูน่า x โดราเอมอน” จะเริ่มจำหน่าย 1 ก.ย. 65 เป็นเวลา 3 เดือน

กลยุทธ์ซีเล็คทูน่าจากนี้จะใช้นวัตกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ออกมาใหม่ โดยจะแตกไลน์สินค้าเป็น 4 กลุ่ม ภายใต้กรอบ 4B คือ brain-อาหารสมอง, body-สรีระ, burn-เผาผลาญ และ beauty-ผิวพรรณ ความสวยงาม เพื่อส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ดี มีประโยชน์ และทานอาหารแทนยา

“เราตั้งเป้าจะออกสินค้าใหม่ให้ได้ปีละประมาณ 3-4 รายการสินค้าเป็นอย่างน้อย ซึ่งในปีนี้จะมีทูน่าในน้ำมันมะกอกที่มีส่วนผสมของคอลลาเจนในไตรมาส 4 บริษัทเตรียมวางตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่ระดับพรีเมี่ยม เราใช้ทูน่าเยลโล่ฟินซึ่งเป็นหนึ่ง 1 ใน 2 ชนิดที่ทั่วโลกนิยมใช้ มาทำเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมปรุง (ready to cook)

เนื้อทูน่านี้จะมีสีขาวน่ารับประทาน และเราเพิ่มส่วนผสมคอลลาเจน เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้นด้วย แต่เราขายราคาเทียบกับผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยมไม่ปรับราคาขึ้น”

ผลกระทบจากต้นทุนปรับขึ้น

ปัจจุบันบริษัทซีเล็คทูน่า ครองส่วนแบ่งทางการตลาดในไทยราว 58% จากมูลค่าตลาดประมาณ 1,000 ล้านบาท หรือประมาณ 600 ล้านบาท

โดยมีอัตราการเติบโตในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 8% โดยมีผลิตภัณฑ์ 40 รายการสินค้า แบ่งเป็น 2 กลุ่มสินค้าหลัก คือ กลุ่มทูน่าพร้อมปรุง (RTC) สัดส่วน 75% เช่น ทูน่าในน้ำแร่ ในน้ำเกลือ ในน้ำมัน แบ่งเป็น 2 กลุ่มราคา กลุ่มราคาประหยัด กระป๋องละ 35-40 บาท กลุ่มพรีเมี่ยม กระป๋องละ 45-52 บาท

และอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มทูน่าพร้อมทานมีสัดส่วน 25% โดยเราทำตลาดในประเทศเป็นหลัก 95% ทำตลาดผ่านช่องทางรีเทล 70% และฟู้ดเซอร์วิส 30%

“ในช่วงครึ่งปีหลังจะไม่มีการปรับราคาสินค้าในประเทศ เราจะตรึงราคาให้นานที่สุด แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงงาน 5% และค่าไฟฟ้า แต่ก็จะไม่มีการปรับขึ้นราคาสินค้าจากในช่วงที่ผ่านมาเราได้ปรับเพิ่มขึ้น 3% แล้ว โดยปัญหาต้นทุนวัตถุดิบ ปลาปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้ 20% เช่น

ปลาสคิปแจ็กเป็น 1,600-1,800 เหรียญสหรัฐต่อตัน ปลาเยลโลฟิน ราคา 2,000-2,500 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตอนนี้ปรับลดลงมาแล้ว แพงกว่าก่อนมีวิกฤต10%

ส่วนแพ็กเกจจิ้งกระป๋องปรับขึ้น 38% ก็ได้ปรับรูปแบบใหม่เป็นถุงเพาช์ ส่วนปัจจัยเรื่องค่าบาทอ่อนค่าไม่กระทบ เพราะได้มีการนำเข้าวัตถุดิบมาผลิต และมีการส่งออกถัวเฉลี่ยกันไป”

กางแผน 3 ปี

บริษัทดำเนินธุรกิจ 3 ปี ระหว่างปี 2565-2568 จากแนวโน้มตลาดทูน่าจะเติบโตได้ต่อเนื่อง เพราะเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพของคนไทย หากเทียบข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคไทย บริโภคไก่ 24 กก.ต่อคนต่อปี ทูน่า 50 กรัมต่อคนต่อปี ขณะที่คนยุโรป บริโภคไก่ 1.25 กก./คน/ปี ทูน่า 30 กก./คน/ปี เราจึงมองว่ายังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก แต่ต้องสร้างการรับรู้มากขึ้น

“บริษัทมุ่งดำเนินงานแนวคิด Healthy Living, Healthy Oceans โดยจะดำเนินการ 3 ด้าน คือ จะสร้างรายได้ให้เติบโตโดยเน้นการผลิตสินค้ากลุ่มพรีเมี่ยม และจะเพิ่มสัดส่วนสินค้ากลุ่มพร้อมปรุงและกลุ่มพร้อมทานให้เป็นอย่างละ 50% เท่ากัน จากปัจจุบัน 75 ต่อ 25 และที่สำคัญจากแนวคิดด้านการสร้างความยั่งยืน

จึงได้พัฒนานวัตกรรม เช่น ปรับจากกระป๋องเป็นถุงเพาช์แบบย่อยสลายได้ ตอนนี้ทำไป 90% น่าจะครอบคลุม 100% ใน 2 ปีข้างหน้า ขณะที่ปลาทูน่าจะต้องจับจากน่านน้ำอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วย คาดว่าจากนี้สามารถสร้างยอดขายเพิ่มจาก 600 เป็น 800-900 ล้านบาทในปี 2025”

รุกตลาดใหม่ “เวียดนาม”

ปีหน้าเรามีแผนจะขยายการทำตลาดส่งออกใหม่ (emerging market) ในกลุ่ม CLMV โดยอยู่ระหว่างจดทะเบียนในประเทศเวียดนาม เป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ คาดว่าจะเริ่มทำตลาดในปี 2566 จากที่ก่อนหน้านี้ได้นำไปจำหน่ายใน สปป.ลาวและกัมพูชา ส่วนที่เมียนมายังติดปัญหาภายในประเทศจึงได้ชะลอไว้ก่อน ภาพของตลาดต่างประเทศปัจจุบัน สัดส่วน 5% แต่ในอนาคตก็มีโอกาสจะขยายมากขึ้น

เพิ่มกำลังผลิต ผุดโรงงานใหม่

ด้านการผลิตบริษัทได้ลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตสินค้าพร้อมทาน แห่งที่ 5 มีความคืบหน้า 70-80% คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในต้นปี 2565 เมื่อรวมกับปัจจุบันที่มี 4 โรงงาน ที่มหาชัย 3 โรงงาน และสงขลา 1 โรงงาน จะทำให้มีกำลังการผลิตสามารถรองรับความต้องการได้ยาวนาน 10 ปี


“ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ขณะนี้ได้คลี่คลายลงไปมากจากก่อนหน้าที่แรงงานเดินทางกลับประเทศในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด ตอนนี้โควิดคลายตัว ก็เริ่มเดินทางกลับมา ส่วนการปรับค่าแรงงานรอบใหม่นั้น เราได้ปรับล่วงหน้าไปก่อนแล้ว”