กรมชลฯ เกาะติดสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ ลุ่มน้ำชี-มูล จ.อุบลฯ มีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง

สถานการณ์น้ำ

กรมชลประทานเกาะติดสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ เร่งระบายน้ำสายหลักอย่างต่อเนื่อง ลุ่มน้ำชี-มูล จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตราสูงถึง 3,939 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ยังมีแนวโน้มระดับน้ำเพิ่มขึ้น ขณะที่เจ้าพระยา อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 2,929 ลบ.ม./วินาที กอนช.เฝ้าระวังปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ เก็บกักน้ำ 17 แห่ง

วันที่ 30 กันยายน 2565 รายงานข่าวระบุว่า ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโนรู ที่ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกแผ่กระจายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ปัจจุบัน (30 ก.ย. 65) สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี-มูล ที่สถานีวัดน้ำ M7 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 3,939 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที แนวโน้มระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้น

กรมชลประทาน โดยสำนักเครื่องจักรกล และสำนักงานชลประทานที่ 7 ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติมบริเวณสะพานโขงเจียม อ.โขงเจียม อีก 86 เครื่อง เพื่อเร่งระบายในลำน้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงได้ประมาณวันละ 442 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังต่ำกว่าระดับน้ำในแม่น้ำมูลประมาณ 1.90 เมตร

ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,598 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.37 เมตร แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ก่อนที่ปริมาณน้ำนี้จะไหลไปรวมกับน้ำที่มาจากเเม่น้ำสะแกกรังผ่านสถานีวัดน้ำ Ct.19 จ.อุทัยธานี วัดได้ 310 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น จำเป็นต้องปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,500 ลบ.ม./วินาที

ส่วนพื้นที่ตอนล่างที่สถานีวัดน้ำ C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 2,929 ลบ.ม./วินาที

ทั้งนี้ อธิบดีกรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่งตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของตัวเขื่อนให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมให้พิจารณาปรับการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง

รวมทั้งได้กำชับให้ถอดบทเรียนจากสถานการณ์น้ำหลาก จ.อุบลราชธานี ในปี 2562 มาเป็นแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด สิ่งสำคัญคือให้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนต่อไป

สำหรับแม่น้ำเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง กองอำนวยการทรัพยากรน้ำ (กอนช.) ระบุ ได้แก่ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำสาย แม่น้ำกก แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำเลย แม่น้ำชี ลำน้ำเชิญ ลำน้ำพรม ลำน้ำพอง แม่น้ำมูล แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำตราด

ส่วนการเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด 17 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล แม่มอก บึงบอระเพ็ด ทับเสลา กระเสียว ห้วยหลวง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำนางรอง ขุนด่านปราการชล คลองสียัด บางพระ หนองปลาไหล และนฤบดินทรจินดา รวมทั้งอ่างฯขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น