แก้ค่าไฟฟ้าแพง สภาองค์กรของผู้บริโภค ถก กกพ. หนุนติดโซลาร์เซลล์

แผงโซลาร์เซลล์

สภาองค์กรของผู้บริโภคหารือ กกพ. เสนอแนวทางจูงใจคนติดโซลาร์เซลล์แบบหักลบกลบหน่วย แก้ค่าไฟฟ้าแพง แนะลดสำรองไฟฟ้าที่ล้นระบบมาใช้ช่วยลดค่าไฟได้ พร้อมเสนอจัดสรรก๊าซในอ่าวไทยผลิตไฟให้ ปชช.ก่อน หวังลดค่าไฟฟ้าลง 20 สตางค์ต่อหน่วย

วันที่ 10 ตุลาคม 2565 น.ส.รสนา โตสิตระกูลรจนา อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเข้าพบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาค่าไฟแพง ในฐานะตัวแทนสภาองค์กรของผู้บริโภคว่า สภาต้องการเสนอแนวทางการจูงใจให้ประชาชนหันมาติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์ เซลล์)

โดยให้ กกพ.วางนโยบายใช้ระบบหักลบกลบหน่วย หรือ Net Metering สามารถลดค่าใช้จ่ายจากค่าไฟฟ้าของครัวเรือนได้

เช่น หากประชาชนผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ 100 หน่วย ในช่วงกลางวัน ก็ให้นำ 100 หน่วยมาหักลบไฟฟ้าในเวลากลางคืน ซึ่งสามารถดำเนินการได้เลย เพราะไม่ใช่การขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้า

ที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานที่ศึกษาวิจัยโครงการดังกล่าว แต่ยังไม่ได้ถูกผลักดัน ทำให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และ การไฟฟ้านครหลวง (MEA) ไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะกังวลในเรื่องการจัดเก็บภาษี เพราะการหักจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ในต่างประเทศไม่มีการจัดเก็บภาษีส่วนนี้

นอกจากนี้ ยังต้องการให้ กกพ.เจรจากับกระทรวงมหาดไทย ในการอนุมัติใบอนุญาตติดตั้งโซลาร์เซลล์ ที่ต้องรับรองโดยช่างวิศวกร มีค่าใช้จ่ายราว 10,000 บาทต่อครั้ง เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงและล่าช้า ขณะที่ครัวเรือนใช้ปริมาณไฟฟ้าไม่สูงเหมือนโรงงาน เฉลี่ยปริมาณการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนอยู่ที่ 2 กิโลวัตต์ จะมีค่าใช้จ่ายติดตั้งโซลาร์ราว 1 แสนบาท หากรัฐบาลสามารถผ่อนผันจุดนี้ได้น่าจะจูงใจให้คนติดตั้งโซลาร์บรรเทาความเดือดร้อนจากค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น

สำหรับเกณฑ์การสำรองไฟฟ้าเพื่อรักษาเสถียรภาพในประเทศ มองว่าปัจจุบันโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่เข้าระบบมีมากถึงกว่า 51,943 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการใชไฟฟ้าสูงสุดของไทยไม่เกิน 30,000 เมกะวัตต์ สะท้อนว่ามีกำลังผลิตไฟฟ้าเหลืออยู่ในระบบมาก

จึงอยากให้รัฐบาลนำไฟฟ้าที่ล้นระบบอยู่กว่า 23,000 เมกะวัตต์ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อแก้ปัญหาราคาไฟฟ้าให้ประชาชน รวมถึงจัดสรรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้ประชาชนก่อน เพื่อทดแทนการนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศ จากปัจจุบันที่จัดสรรให้เอกชนใช้ภาคปิโตรเลียมจำนวนมาก จะสามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 20 สตางค์ต่อหน่วย