กางแผนสกัดน้ำท่วมกรุงเทพฯ “ประวิตร” ไฟเขียว 2 โปรเจ็กต์ของบปี’67

น้ำท่วม กทม.

“ประวิตร” ไฟเขียว โครงการระบายน้ำฝั่งตะวันออก กทม. หวังลดผลกระทบน้ำท่วมระยะยาว พร้อมสั่งกรมชลประทานลุยโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี เร่งประสานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ขอใช้พื้นที่

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2565ว่า วันนี้เป็นการประชุมครั้งแรกภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ชุดใหม่ ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อพิจารณาขับเคลื่อนแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี

โดยได้เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของ กทม.ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อช่วยเหลือประชาชนพ้นจากปัญหาน้ำท่วมใน 2 กลุ่มโครงการ คือ 1.การปรับปรุงระบบระบายน้ำในพื้นที่ กทม. แบ่งเป็นระยะที่ 1 (เร่งด่วน) เช่น งานปรับปรุงระบบสูบน้ำ ระบบไฟฟ้า และระบบเก็บขยะ สถานีสูบน้ำพระโขนง โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กจากคลองหนองบอน

และคลองมะขามเทศ เชื่อมโยงกับคลองประเวศบุรีรมย์ ระยะที่ 2 เป็นการปรับปรุงเครื่องสูบน้ำของสถานีสูบน้ำพระโขนงให้มีประสิทธิภาพ และการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กใน คลองสายสำคัญที่เชื่อมต่อกับคลองประเวศบุรีรมย์ เช่น คลองจระเข้ขบ คลองสองต้นนุ่น คลองทับยาว เพื่อให้ระบายน้ำได้มากขึ้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดโครงการ

2.การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่รอยต่อ กทม. เช่น โครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่วนต่อขยายจากบึงหนองบอนถึงคลองประเวศบุรีรมย์และประตูระบายน้ำลาดกระบัง โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำสำโรง โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กคลองลำปลาทิว เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี กทม. และ จ.สมุทรปราการ ทั้งยังเป็นการรองรับการขยายตัวของเมืองในพื้นที่นอกคันกั้นน้ำพระราชดำริ

ทั้งนี้ ยังได้สั่งการให้ กทม.เร่งรัดดำเนินการแผนงานในกลุ่มที่ 1 ระยะที่ 1 (เร่งด่วน) เพื่อเสนอขอรับงบประมาณในปี 2567 รวมทั้งให้เร่งศึกษาภาพรวมการระบายน้ำพื้นที่ กทม.ฝั่งตะวันออก ให้เชื่อมโยงสอดคล้องกับแผนงานโครงการของหน่วยงานอื่น เช่น โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างของกรมชลประทาน และแผนงานระบบระบายน้ำของเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ จ.สมุทรปราการ เพื่อให้ระบบการระบายน้ำมีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกัน เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ทันท่วงที

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ที่ประชุมให้กรมชลประทานเร่งประสานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อขอใช้พื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรีโดยเร็ว พร้อมทั้งเห็นชอบร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปรับปรุงช่วงที่ 1 พ.ศ. 2566-2580) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ปัจจุบัน และอนาคต

สำหรับสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ มีปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 65,181 ลบ.ม. (79%) เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 57,262 ล้าน ลบ.ม. (80%) มีเขื่อน เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 23 แห่งได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม แม่มอก แควน้อยบำรุงแดน ทับเสลา ป่าสักชลสิทธิ์ กระเสียว ห้วยหลวง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแชะ ลำนางรอง สิรินธร ขุนด่านปราการชล คลองสียัด บางพระ หนองปลาไหล นฤบดินทรจินดา และบึงบอระเพ็ด

ปัจจุบันยังมี 19 จังหวัดที่ประสบภัย ได้แก่ เพชรบูรณ์ ตาก พิจิตร นครสวรรค์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ขอนแก่น เลย ชัยภูมิ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ลพบุรี ปราจีนบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี

ทั้งนี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ยังคงเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งปริมาณน้ำจะไหลมารวมกับแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขาไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา โดยกรมชลประทานได้พิจารณารับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกเต็มศักยภาพคลองที่สามารถรองรับน้ำได้

ขณะที่น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยากรมชลประทานจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในอัตรามากกว่า 2,900-3,000 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่ 8 ต.ค.2565 ประกอบกับกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือ กรุงเทพฯ ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ จ.สมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียงเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ

โดยระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.90-2.20 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ในช่วงวันที่ 8-13 ต.ค. 2565 จึงขอให้เฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ตั้งแต่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อ.อินทร์บุรี เมืองสิงห์บุรี และพรหมบุรี จ.สิงห์บุรี อ.ป่าโมก และไชโย คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล อ.เสนา และผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.10-0.15 ม. และบริเวณตั้งแต่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นจากเดิม 0.15-0.30 ม.