ราคาน้ำมันดิบ (22 ก.พ. 66) ปรับลด กังวลต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ย FED

ราคาน้ำมันดิบ

ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED และการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคา ดังนี้ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสและเบรนต์ปรับตัวลดลง หลังมีความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) โดยนักลงทุนคาดว่าอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน มี.ค., พ.ค. และ มิ.ย. 66 ครั้งละ 0.25% สู่ระดับสูงสุดที่ 5.25-5.50% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน

โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 21 ก.พ. 2566 อยู่ที่ 76.16 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -0.18 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 83.05 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -1.02 เหรียญสหรัฐ

ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ โดยดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นอีก 6 สกุล ปรับเพิ่มขึ้น 0.3% สู่ระดับที่ 104.2

นักวิเคราะห์คาดการณ์สต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐอาจปรับเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 9 ติดต่อกัน โดยสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 17 ก.พ. 66 คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงจับตาการเปิดเผยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐจากสถาบันปิโตรเลียมสหรัฐ (API)

สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันของจีน อาจปรับเพิ่มขึ้นอีก 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี’66 ซึ่งจะทำให้อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับสูงสุดที่ 101.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี’66

ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นสวนทางราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปสงค์น้ำมันเบนซินของอินโดนีเซียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเดือน มี.ค. 66 อย่างไรก็ตาม อุปสงค์น้ำมันเบนซินในอินเดียลดลง เนื่องจากกิจกรรมการขับขี่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ จากผลกระทบของสภาพอากาศหนาวในช่วงที่ผ่านมา

ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังการผลิตน้ำมันดีเซลในจีนปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าอุปสงค์ภายในประเทศ ทำให้การส่งออกน้ำมันดีเซลในจีนมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยคาดการณ์การส่งออกน้ำมันดีเซลในเดือน ก.พ. 66 อยู่ที่ประมาณ 2.4 ล้านตัน