การพัฒนาข้าวไทยอย่างยั่งยืน

คอลัมน์ แตกประเด็น
โดย ชุติมา บุณยประภัศร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

ข้าวไทยมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศเกือบ 200,000 ล้านบาทต่อปี แต่ต้องเผชิญการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ส่งออกข้าวรายใหม่ที่มีความสามารถในผลิตข้าวด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าประเทศไทย

ประกอบกับ “ข้าว” เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาไทย 17 ล้านคน ซึ่งเป็นรายย่อยกว่า 10 ล้านคน ยังคง “ติดกับดักความยากจน” จากต้นทุนการผลิตสูง ทั้งต้องเช่าที่ดินทำนาในอัตราค่าเช่าสูง พื้นที่เพาะปลูกขนาดเล็ก ขาดความรู้ในการทำนาอย่างถูกวิธีในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ใช้สารเคมีมากเกินขนาดจนดินเสื่อมสภาพ ขาดเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี ต่างคนต่างทำ ทำนาหลายรอบใน 1 ปีแต่ไม่มีการวางแผนการตลาด เมื่อผลผลิตออกต้องเร่งขาย ทำให้ขาดอำนาจต่อรอง และได้ผลตอบแทนน้อย เรียกว่า “ยิ่งทำนายิ่งยากจน”

ด้วยเหตุนี้ “รัฐบาล” ทุกยุคทุกสมัยมักมุ่งแก้ไขปัญหาเฉพาะราคาผ่านมาตรการรับจำนำ ประกันราคา แจกปัจจัยการผลิต ซึ่งไม่ช่วยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและยังไม่สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรแบบยั่งยืน

การแก้ไขปัญหาในวันนี้จะคิดและทำแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไปแล้ว รัฐบาลเล็งเห็นว่า การสร้างความยั่งยืนให้ข้าวไทยเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใช้เวลา ความรู้ ความร่วมมือจากหลายภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมทั้งองค์ประกอบด้านคุณภาพ คุณค่า และศักยภาพการแข่งขัน

รัฐบาลจึงวางแผน “พัฒนาข้าวอย่างยั่งยืน” ซึ่งต้องพัฒนาหลายมิติไปพร้อมกันทั้งระบบ โดยวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งตลาดข้าวคุณภาพสูง เช่น ข้าวสี ข้าวหอมมะลิ ข้าวสุขภาพ เป็นต้น และตลาดข้าวทั่ว ๆ ไป ซึ่งมีคู่แข่งมาก จึงต้องพัฒนานำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิต บนพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น ในภาคกลาง พร้อมทั้งวางระบบมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีทางการเกษตร (Good Agricultural Practices-GAP) ลดการใช้สารเคมีในนา เพื่อให้ได้ข้าวที่ปลอดภัย ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่รักสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

สิ่งที่กระทรวงเกษตรฯทำอยู่ขณะนี้ คือ การมุ่งสร้างความเข้มแข็ง

จากภายในให้ภาคเกษตรจากการส่งเสริมให้รวมกลุ่มผลิตและบริหารจัดการในรูปแบบ “นาแปลงใหญ่” เพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ห่วงโซ่การผลิตข้าวแบบเดิม โดยการผสานเชื่อมโยงกันตั้งแต่เริ่มการจัดการการเพาะปลูกข้าวไปจนถึงการตลาด มีเป้าหมายอีก 4 ปี หรือในปี 2564 จะเพิ่มพื้นที่นาแปลงใหญ่จาก 1.7 ล้านไร่ในปัจจุบัน เป็น 19.3 ล้านไร่จากพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 58.7 ล้านไร่

อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญนี้ต้องอาศัย “ความสมัครใจของชาวนา” เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาแบบครบวงจร เมื่อเกษตรกรสมัครใจรวมกลุ่มนาแปลงใหญ่แล้ว ขั้นต่อไปจะต้องช่วยกันวางแผนว่ากลุ่มจะปลูกข้าวพันธุ์อะไร ปริมาณเท่าใด เตรียมเมล็ดพันธุ์ ดินและปุ๋ยอย่างไร ต้องใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีอะไร และแบ่งหน้าที่ในการผลิตตามความถนัด

ในการตัดสินใจของกลุ่มจะต้องคำนึงถึงความต้องการของตลาด, การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า, การปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูกและต้องรู้จักสร้างกลไกบริหารจัดการ หรือปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูก หรือเปลี่ยนไปทำการเกษตรอื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว

ขณะที่ภาครัฐมีบทบาทในการส่งเสริม โดยการจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปเป็นพี่เลี้ยงหรือผู้จัดการให้ในระยะแรก พร้อมทั้งสนับสนุนความรู้ เมล็ดพันธุ์คุณภาพดี เครื่องมือปลูกข้าว แปลงสาธิตตลอดจนเทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่ ๆ โดยใช้ประโยชน์จากดาวเทียม หาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และประสานกับภาคเอกชนในรูปแบบประชารัฐเพื่อขับเคลื่อนให้กลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ เชื่อมโยงตลาดรองรับสินค้าที่ผลิตได้ เพื่อหาช่องทางจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศทั้งยังมีสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ช่วยขับเคลื่อนและเชื่อมต่อระหว่างนักวิจัย เกษตรกร และภาคธุรกิจ เพื่อผลักดันงานวิจัย “จากหิ้งมาสู่ห้าง” กระตุ้นให้นำข้าวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีมูลค่าสูง เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารเพื่อผู้ป่วย ผลิตภัณฑ์โภชนเภสัช และเวชสำอาง เป็นต้น แทนการขายข้าวเพื่อใช้บริโภคเพียงอย่างเดียว เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศและต่อยอดเป็นสินค้าคุณภาพระดับสากลในอนาคต

การดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯ มุ่งร้อยห่วงโซ่การค้าคุณธรรมแบบยั่งยืน ตามนโยบายที่จะยกระดับมาตรฐานการผลิตข้าว พร้อมทั้งวางระบบตรวจสอบ เพื่อให้
ผู้บริโภคมั่นใจว่าคุณภาพดีคุ้มกับราคาที่สูงขึ้น และที่สำคัญเพื่อช่วยให้ชาวนามีคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างยั่งยืนสมกับที่ได้ทุ่มเทเวลาและใส่ความตั้งใจในการดูแลผลผลิตให้ได้คุณภาพ

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะสำเร็จได้ ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันอย่างแท้จริง อย่างมีคุณธรรม และเกื้อกูลกันจากทุกฝ่าย สุดท้าย “ผู้บริโภค” ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้การผลิตข้าวที่มีคุณภาพบรรลุผลสำเร็จได้

และในต้นปีหน้านี้ ขอให้เตรียมพบกับ “ข้าวสุขภาพรุ่นแรก กข43” ที่รับประทานแล้วไม่อ้วน