ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล จับมือ 10 ธุรกิจ พันธมิตรปิดทองหลังพระ

แม้ว่าเศรษฐกิจเศรษฐกิจไทย จะแสดงตัวเลขผ่านอัตราการขยายตัวในนามของตัวเลขจีดีพี. ที่มีอัตราเพิ่มขึ้นทุกไตรมาส

แต่สภาพที่เป็นจริงในชนบท ยังประสบปัญหา-ภาระหนี้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ ด้วยราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ขาดแหล่งน้ำเพื่อการทำกิน ไม่มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน

“มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” ซึ่งดำเนินตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในการ “สืบสาน รักษา ต่อยอด”

ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดย ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระจับมือกับภาคประชาชน-ธุรกิจและภาครัฐ ทุ่มเทขยายผลแนวทางการพัฒนา ตามแนวทาง “ศาสตร์พระราชา” มากว่า 40 ปี

ในวาระที่ต้องรายงานผลการทำงานในพื้นที่ที่ท้าทายใหม่ ๆ ประจำปี 2560-2561 ทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “คุณชายดิศนัดดา” เล่าว่า

“แม้ว่าเศรษฐกิจของโลกจะเริ่มฟื้นตัวขึ้น และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจก็ตาม แต่ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกมาก ทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ การลงทุน และการใช้จ่าย ในทุกประเทศทั่วโลก และรวมถึงประเทศไทย”

“ขณะเดียวกัน แม้ว่าในทุก ๆ รัฐบาลที่ผ่านมามีการจัดสรรงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุน เพื่อสร้างการเติบโตให้กับประเทศ แต่การเติบโตดังกล่าวกลับสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวย กับคนจน จนทำให้ความเจริญ และการพัฒนา กระจายอย่างไม่ทั่วถึง”

“นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีประชาชนมาลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยมากถึง 14 ล้านคน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมาก”

“ม.ร.ว.ดิศนัดดา” กล่าวว่า การดำเนินงานตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมาของมูลนิธิ มีพื้นที่พัฒนาต้นแบบ 7 แห่ง ครอบคลุม 9 จังหวัดทั่วประเทศ ประกอบด้วย น่าน, อุดรธานี, เพชรบุรี, กาฬสินธุ์, อุทัยธานี, ขอนแก่น, ยะลา, ปัตตานี และนราธิวาส พบว่าประชาชนมีความพร้อม และต้องการจะพัฒนาตนเอง ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมสามารถเห็นผลได้ในระยะเวลาอันสั้น”

พัฒนาแหล่งน้ำ สร้างโอกาสทางอาชีพ

สิ่งที่มูลนิธิดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง คือ การพัฒนาและปรับปรุงแหล่งน้ำ เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพให้แก่ประชาชน โดยปีที่ผ่านมามูลนิธิได้พัฒนาระบบน้ำในพื้นที่ต้นแบบของเราเองเพิ่มขึ้นกว่า 41,668 ไร่ ซึ่งหากรวมพื้นที่รับประโยชน์ทั้งหมดในปัจจุบันจะอยู่ที่ 217,554 ไร่

“ดังนั้นเมื่อประชาชนมีน้ำใช้ มูลนิธิมีการส่งเสริมอาชีพ โดยมุ่งเน้นพืชทางเลือกใหม่ ๆ และการทำปศุสัตว์ รวมถึงการพัฒนาเกี่ยวกับการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับระบบตลาด เพื่อขยายโอกาสในการสร้างรายได้ โดยปีผ่านมา ประชาชนในพื้นที่ต้นแบบมีรายได้เพิ่มขึ้นจากอาชีพเดิมรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 102.36 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากปีก่อนกว่า 28.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นกว่า 28.8% และรายได้ที่เกิดขึ้นยังไม่นับรวมกับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากยังอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น”

สำหรับพื้นที่มีรายได้เพิ่มมากที่สุด คือ เพชรบุรี ที่เพิ่มขึ้น 3.2 เท่า เพราะมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะทุเรียน รองลงมา คือ ขอนแก่น ที่มีรายได้เพิ่ม 2.6 เท่า เนื่องจากการพัฒนาระบบน้ำเสร็จสมบูรณ์ จึงทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น

ขยายงาน ยกระดับชีวิตชายแดนใต้

ส่วนการขยายงาน “ม.ร.ว.ดิศนัดดา” บอกว่า ทางมูลนิธิปิดทองหลังพระฯเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

เนื่องจากพบว่าประชาชนอยู่อย่างลำบาก กอปรกับความขัดแย้งในพื้นที่ ส่งผลให้การพัฒนาในหลายด้านหยุดชะงักไป

“มูลนิธิจึงบูรณาการความร่วมมือกับภาคราชการในจังหวัดยะลา, ปัตตานี และนราธิวาส ในการคัดเลือกพื้นที่การดำเนินงาน 7 หมู่บ้านที่ประชาชนมีความพร้อม และมีความต้องการ และจากการลงพื้นที่สำรวจพบว่าใน 7 หมู่บ้าน มีหนี้สินรวมกันมากถึง 73.6 ล้านบาท หรือคิดเป็นครัวเรือนละ 60,652 บาท”

“การทำงานในสามจังหวัดชายแดนใต้ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายมูลนิธิจึงมุ่งเน้นให้ชาวบ้านเมีส่วนร่วมในการคิด และการลงมือทำให้มากที่สุด โดยมูลนิธิจะเป็นเพียงผู้สนับสนุน”

ภาคีคือหัวใจการพัฒนา

มูลนิธิยังมีการสร้างภาคีสืบสานแนวพระราชดำริ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญอีกด้านหนึ่งของการพัฒนา เพื่อให้การสืบสานแนวพระราชดําริดำเนินไปอย่างเป็นระบบเกิดความยั่งยืนได้

โดยการสร้างภาคีนั้น คือ ภาคีร่วมพัฒนา และภาคีประเมินผล และจัดการความรู้ โดยมีมหาวิทยาลัยขอนแก่น, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เป็นผู้ประเมิน

ที่สำคัญ ยังมีการสร้างวิทยากรในพื้นที่ต้นแบบ โดยจัดทำหลักสูตรอบรม 3 หลักสูตร สําหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความเข้าใจในการประยุกต์ใช้แนวพระราชดําริ เพื่อแก้ปัญหาในชุมชน และหลักสูตรสําหรับนักศึกษาเพื่อสนับสนุนการนําความรู้ของสถาบันการศึกษามาขับเคลื่อนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

จับมือ 10 ธุรกิจลดเหลื่อมล้ำ

ตลอดปีผ่านมามูลนิธิปิดทองหลังพระฯยังริเริ่มความร่วมมือกับภาคเอกชนในการเข้ามาร่วมเป็นภาคี เพื่อสืบสานแนวพระราชดำริ ภายใต้ชื่อ “ทีมดี” หรือ D-Development ที่ประกอบด้วย มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์มูลนิธิปิดทองหลังพระ, มูลนิธิรากแก้ว, มูลนิธิมั่นพัฒนา, ทรู, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารไทยพาณิชย์, เครือเจริญโภคภัณฑ์, เอสซีจี, บางจาก, น้ำตาลมิตรผล, ไทยเบฟ, เทสโก้ โลตัส และบริษัทประชารัฐรักสามัคคี

โดยหลักการของทีมดี คือ การร่วมกันทํางานอย่างบูรณาการ โดยนำความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ตลอดห่วงโซ่มูลค่า ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มาร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยให้หลุดพ้นจากความยากจน และให้สามารถพึ่งพาตนเอง จนที่สุดสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ปัจจุบันทีมดีมีการทดลองทํางานในพื้นที่อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เป็นแห่งแรก โดยมีบริษัทน้ำตาลมิตรผล และเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นแกนนำในการส่งเสริมการทำแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งการทำงานครั้งนี้ถือว่าเป็นการศึกษาเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับการศึกษาดูใจกันก่อนที่จะขยายงานไปที่อื่น ๆ ต่อไป

“แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่เล็ก หากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมไปถึงประชาชนพลเมืองเอาจริงเอาจังกับแนวพระราชดำริ เชื่อว่าประเทศไทยจะอุดมสมบูรณ์ ผู้คนมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุข อย่างยั่งยืนต่อไป”

เป็นคำกล่าวอย่างจริงจัง จริงใจ และแสดงถึงความปรารถนาดีอย่างยิ่งต่อสังคมส่วนรวม ของ “ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล”