เศรษฐกิจฟื้น “ค้าปลีกน้ำมัน” พุ่ง EBITDA โออาร์-บางจาก Q1 อู้ฟู่

ค้าปลีกน้ำมัน

สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไตรมาส 1 ปี 2566 (เดือนมกราคม-มีนาคม) เฉลี่ย 160.85 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังมีแนวโน้มว่าการฟื้นตัวนี้จะดีต่อเนื่องไปในครึ่งปีหลัง ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันกลับมาคึกคักอีกครั้ง

EBITDA โออาร์ ทะลุ 100%

จากการรายงานข้อมูลผลประกอบการของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันใหญ่ในฝั่ง ปตท.และบางจากสะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวของการใช้น้ำมัน โดยบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จํากัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ซึ่งต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนเมื่อไตรมาสก่อนหน้า แต่ผลประกอบการไตรมาส 1/2566 สามารถพลิกฟื้นกลับมาเป็นบวกได้

โดยมีรายได้ขายและบริการ 197,414 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ดลง 4.3% จากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งเป็นช่วงไฮซีซัน หากแยกเฉพาะ 2 สาขา คือ ธุรกิจโมบิลิตี้ จะมีรายได้ 185,418 ล้านบาท ลดลง 4.1% จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

และมี EBITDA 4,239 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 100% และสาขาธุรกิจไลฟ์สไตล์ มีรายได้ 5,328 ล้านบาท ลดลง 7% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้น 11.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมี EBITDA เท่ากับ 1,289 เพิ่มขึ้น 5.1%

ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายน้ำมัน 7,002 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 0.3% จากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการขายให้กับธุรกิจพาณิชย์ 3,811 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 3.1% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะยอดจำหน่ายน้ำมันอากาศยานฟื้นตัว หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ทำให้มีการเดินทางมากขึ้น

ส่วนการขายในส่วนของปลีกน้ำมันมีปริมาณ 3,191 ล้านลิตร ลดลง 2.8% จากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ ปัจจุบันโออาร์ถือครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 43%

ทั้งนี้ โออาร์ได้ขยายสาขาธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน ในไตรมาส 1/2566 เพิ่มขึ้น 7 สถานี เป็น 2,168 สถานี และยังได้เปิดให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า “EV Station PluZ” เพิ่ม 66 สถานี รวมเป็น 197 สถานี จากจำนวนที่ติดตั้งแล้วเสร็จ 452 สถานี ส่วนอีก 255 สถานี อยู่ระหว่างการออกใบอนุญาต

ขณะที่ กลุ่มธุรกิจ lifestyle มีเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม 4,170 สาขา แบ่งเป็น ร้าน Cafe Amazon ในประเทศไทย 3,927 สาขา ในต่างประเทศ 20 สาขา ร้านเท็กซัส ชิคเก้น มีเครือข่าย 104 สาขา สําหรับร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่นมีเครือข่าย 119 สาขา ได้แก่ เพิร์ลลี่ที และ Pacamara Coffee Roasters ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven และจิฟฟี่ รวม 2,155 สาขา

ตาราง ตัวเลขค้าปลีกน้ำมัน

บางจากโตพรวดหลังผนึกเอสโซ่

ขณะที่ฝั่ง บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการควบรวมธุรกิจ ภายหลังจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติการเข้าซื้อหุ้น บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 2,283,750,000 หุ้น ไปเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 ได้รายงานว่า ในไตรมาส 1/2566 กลุ่มธุรกิจการตลาด มีรายได้ 49,220 ล้านบาท “เพิ่มขึ้น 25%” ทำให้มี EBITDA 737 ล้านบาท เพิ่มขึ้น มากกว่า 100% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตามหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นช่วงไฮซีซัน รายได้จะลดลง 9%

สำหรับปัจจัยบวกมาจากค่าการตลาดต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้น 16% เนื่องจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยปรับลดลงตามภาวะตลาดโลก ประกอบกับไตรมาสนี้มีการปรับค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ ที่เหมาะสมร่วมกับได้รับปัจจัยหนุนจากการปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ของกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการลดลง

และในไตรมาส 1/2566 บริษัทยังคงเดินหน้าขยายสถานีบริการน้ำมันเพิ่ม 11 สาขา ทำให้มีจำนวนสถานีบริการ 1,353 สถานี และเพิ่มสาขาสถานีชาร์จอีก 10 แห่ง รวมเป็น 179 แห่ง และมุ่งในการพัฒนาธุรกิจ nonoil ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ตามแนวคิด Greenovative Destination for Intergeneration โดยเพิ่มจำนวนสาขาร้านกาแฟอินทนิล อีก 27 แห่ง เป็น 1,021 แห่ง

และเพิ่มสาขาร้านชานม DAKASI 2 แห่ง รวม 53 แห่ง นอกจากนี้ ยังได้ดึงร้านอาหารที่การันตีความอร่อยระดับมิชลิน (Michelin) 7 ร้านดัง เข้ามาให้บริการ เช่น ร้านส้มตำเจ๊แดงสามย่าน คั่วกลิ้งผักสด เย็นตาโฟนายอ้วนบะเต็ง ผัดไทยไฟทะลุ กล้วยแขกพระราม 5 ชมคาเฟ่&เรสเตอรอง และสว่างบะหมี่เกี๊ยวปู เพื่อยกระดับบริการด้วย

หลังจากนี้หากบางจากดำเนินการควบรวม “เอสโซ่” เสร็จสิ้น จะทำให้ขนาดธุรกิจขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะจำนวนสาขาสถานีบริการน้ำมัน เพิ่มขึ้นเป็น 2,100 สาขา และยังมีโอกาสจะขยายเครือข่ายธุรกิจ nonoil แบรนด์ที่อยู่ในเครือข่ายเอสโซ่ เช่น กาแฟ Coffee Journey กาแฟสตาร์บัคส์ แฟมิลี่มาร์ท ร้านอาหา KFC Burger King เป็นต้น ซึ่งต้องมาลุ้นว่า “บางจาก+เอสโซ่” โฉมใหม่จะเป็นอย่างไร

จับตาทิศทางเศรษฐกิจ Q2

สำหรับทิศทางธุรกิจค้าปลีกน้ำมันไตรมาส 2 ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเผชิญภาวะขาลง จากภาวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อของหลายประเทศ ทำให้การจับจ่ายใช้สอยลดลง รวมถึงปัญหาการเมืองระหว่างประเทศที่อาจะจะยังยืดเยื้อ ส่งผลต่อราคาพลังงานในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ปตท.ยังประเมินแนวโน้มราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย ที่ 80-86 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังต้องรอประเมินสถานการณ์หลังการเลือกตั้ง การเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจ ตลอดจนการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สั่งสมมา อาจจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับกำลังซื้อรวมถึงการใช้น้ำมันด้วย