ก้าวสู่ปีที่ 20 กองทุน FTA สศก. ช่วยเกษตรกร แล้ว 1.3 แสนราย ใน 34 โครงการ

ก้าวสู่ปีที่ 20 กองทุน FTA  สศก. ช่วยเกษตรกรบรรเทาความเสียหายจากผลกรพทบการเปิดเสรีการค้า แล้ว 1.3 แสนราย ใน 34 โครงการ 

วันที่ 22 มิถุนายน 2566 นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ก้าวสู่ปีที่ 20 กองทุน FTA ภาคเกษตร : ร่วมคิดร่วมสร้างเกษตรไทยก้าวทันโลกการค้าเสรี” ว่า กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร

หรือกองทุน FTA ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สศก. ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือภาคเกษตรมาแล้วกว่า 34 โครงการ 13 ชนิดสินค้าสำคัญ คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กระเทียม ข้าว ชา กาแฟ ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว พริกไทย ผักเมืองหนาว โคเนื้อ โคนม สุกร และหญ้าเนเปียร์ โดยมีเกษตรกรได้รับประโยชน์มากกว่า 130,000 ราย

กองทุน FTA ยังคงเดินหน้าให้ความช่วยเหลือ และพร้อมให้คำปรึกษาอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อมจากการเปิดเสรีทางการค้า ด้วยการปรับโครงสร้างการผลิต ปฏิรูปผลผลิตทางการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพ และมูลค่าสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน

ภาคเกษตรไทย มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ เป็นแหล่งจ้างงานสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งในการทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ที่ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ถือเป็นเป้าหมายสำคัญในการดำเนินนโยบายการค้าการส่งออกของประเทศไทย แต่ FTA บางฉบับ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสินค้าและบริการบางประเภทของประเทศภาคี

ADVERTISMENT

ดังนั้น คณะรัฐมนตรี จึงเห็นชอบให้มีการจัดตั้งกองทุน FTA ขึ้น ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2547 เป็นต้นมา เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการจัดทำ FTA  เป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายในการดำเนินการพัฒนาโครงสร้างทางการเกษตร พัฒนาประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มผลผลิตให้มีคุณภาพมาตรฐาน

และในเดือนกันยายน ปี 2564 กองทุน FTA  ยังได้มีการลงนาม MOU ร่วมกับ 9 หน่วยงาน ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) สภาเกษตรกรแห่งชาติ  สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) สหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน จำกัด

และบริษัท พรีเมี่ยม บีฟ จำกัด เพื่อร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ให้มีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยความร่วมมือดังกล่าว ได้ขยายระยะเวลาไปจนถึงกันยายน ปี 2569

ดังนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดย กองทุน FTA จึงได้จัดสัมมนาในครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนของหน่วยงานที่ MOU ร่วมกันถึงข้อมูลกลุ่มสินค้า และกลุ่มเกษตรกรที่คาดว่าได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า รวมไปถึงนำเสนอความก้าวหน้าในการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งกิจกรรมในงานสัมมนา มีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “การเปิดเสรีทางการค้าโอกาสและความท้าทายภาคเกษตรไทย” โดยเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร การบรรยาย “บทบาทกองทุน FTA กับการพัฒนาภาคเกษตรไทยและก้าวต่อไปในอนาคต”

โดย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์และการบริหารจัดการ (นายวีรชาติ เขื่อนรัตน์) และการเสวนา “เกษตรสมัยใหม่ก้าวทัน FTA” โดยวิทยากรจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นายพลภัทร ดีสวัสดิ์มงคล) สภาเกษตรกรแห่งชาติ (นายรัตนะ สวามีชัย) กรมส่งเสริมการเกษตร (นางสาวเพ็ญระพี ทองอินทร์) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (นางณัฐกานต์ พันธ์ชัย)

และกรมปศุสัตว์ (นางสาวรักษิณา สัตย์ชาพงษ์) ทั้งนี้ ดำเนินรายการโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการผลิตและการตลาด สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (นายเอกราช ตรีลพ) ซึ่งได้มีการถ่ายทอดผ่าน Live สด Facebook fanpage เศรษฐกิจการเกษตรเพื่อประชาชนตลอดงาน นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการผลการดำเนินงานของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน FTA

และหน่วยงานภายใต้ความร่วมมือ (MOU) และการบริการคลีนิคกองทุน FTA เพื่อให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรที่ต้องการขอรับการสนับสนุนจากกองทุน FTA

ทั้งนี้ เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกรที่สนใจ สามารถขอคำปรึกษาโครงการต่าง ๆ ได้ที่ 0-2561-4727 หรืออีเมล์ [email protected]