ราคาน้ำมันดิบ (31 ก.ค. 66) ปรับเพิ่ม หลังตลาดกังวลอุปทานตึงตัว

ราคาน้ำมันดิบ
Photo by Paul Ratje / AFP

ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม หลังตลาดกังวลอุปทานตึงตัวจากการปรับลดกำลังผลิตของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (OPEC+) 

วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ดังนี้ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น หลังตลาดกังวลอุปทานตึงตัวจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (OPEC+) นอกจากนี้ นักลงทุนเริ่มหันกลับมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้นและน้ำมัน หลังคาดธนาคารกลางสหรัฐและยุโรปใกล้จะสิ้นสุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว

โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสเมื่อ 28 ก.ค. 2566 อยู่ที่ 80.58 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น +0.49 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 84.99 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น +0.75 เหรียญสหรัฐ

               

เศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 2/66 เติบโตขึ้นกว่า 2.4% ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 1.8% หลังการบริโภคในประเทศยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้ตลาดลดความกังวลต่อการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในประเทศยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส เผชิญกับการชะลอตัวลงทั้งในภาคอุตสาหกรรมและในภาคบริการ

ปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของสหรัฐปรับลดลงกว่า 8 เดือนติดต่อกัน โดย Baker Hughes รายงานปริมาณการขุดเจาะสำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 28 ก.ค. ปรับลดลง 5 แท่นมาอยู่ที่ระดับ 664 แท่น ซึ่งนับเป็นระดับที่ต่ำสุดนับตั้งแต่ มี.ค. 65

ตลาดจับตาการประชุมของ OPEC+ ในวันที่ 4 ส.ค. ว่าจะมีการออกนโยบายเพิ่มเติมหรือไม่ โดยนักวิเคราะห์คาดซาอุฯ จะขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตอีก 1 เดือน

ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในภูมิภาค โดยเฉพาะออสเตรเลีย

ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังตลาดกังวลอุปทานตึงตัว หลังมีการปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉินของโรงกลั่นหลายแห่งในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน