“ซีพีเอฟ” ครึ่งปีหลังฟื้น ราคาหมูขยับขึ้น เงินดิจิทัลดันกำลังซื้อ

ซีพีเอฟเนื้อหมู

ในไตรมาส 2 ปีนี้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ยังมีผลการดำเนินงานที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จากการที่ต้นทุนการผลิตเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้น จากราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ในหลายประเทศ เช่น ราคากากถั่วเหลืองและข้าวโพดที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน รวมถึงค่าใช้จ่ายพลังงานที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ราคาเนื้อสัตว์ในหลายประเทศลดลงจากสภาวะอุปทานอุปสงค์ที่ไม่สมดุล โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกรที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสินค้าล้นตลาดจากการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรผิดกฎหมาย และความต้องการบริโภคที่ไม่ได้เป็นไปตามคาดหมาย

ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าซีพีเอฟจะสามารถทำรายได้จากการขายสูงมากถึง 150,246 ล้านบาท แต่หนีไม่พ้นที่ต้องขาดทุนสุทธิ 793 ล้านบาท

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้พูดคุยกับ นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร และ นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ ถึงทิศทางธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง

มรสุมถล่มปศุสัตว์

นายอดิเรกกล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตในด้านใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง หรือด้านเศรษฐกิจ ชาวบ้านจะปรับลดการใช้สินค้าต่าง ๆ ลง ยกเว้นจะไม่ลดการบริโภคอาหาร ซึ่งจะทำให้สินค้าของบริษัทไม่ได้รับผลกระทบ

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มากระทบจะเป็นเรื่องของวิกฤตการเกิดโรคระบาด อย่างเช่น ไข้หวัดนก อหิวาต์แอฟริกาในสุกร ที่ทำให้ปริมาณผลผลิตได้รับความเสียหาย และจากเรื่องหมูเถื่อนที่ทะลักเข้ามา ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า ทำให้เกิดความเสียหาย

ADVERTISMENT

“การผลิตและแข่งขันกันในอุตสาหกรรมหมูนั้นถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่หมูเถื่อนเข้ามามันไม่แฟร์กับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมที่ลงทุนลงแรงตั้งแต่ต้นน้ำเพาะปลูกอาหารสัตว์ ไปจนถึงฟาร์ม และการผลิตอาหาร เราจึงหวังว่ามาตรการของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาจะเพิ่มการดูแลเรื่องนี้อย่างเข้มข้น”

หมูจีนเสียหาย

นายอดิเรกกล่าวว่า ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกไม่ค่อยดี ซึ่งส่วนหนึ่ง เป็นผลจากฐานการลงทุนในต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะในจีน ซึ่งบริษัทได้มีการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมหมูไปเยอะมากก่อนหน้านี้ และเมื่อเกิดวิกฤตในหมู และเศรษฐกิจจีนยังไม่เติบโตตามเป้าหมาย

ADVERTISMENT

จึงทำให้ราคาหมูในจีนลดลงไปมาก จากเดิม 30 หยวน/กก. เหลือ 12 หยวน/กก. เพราะเมื่อเกิดความเสียหายจาก ASF ทำให้หมูมีปริมาณไม่เพียงพอ จึงได้มีการนำเข้า เมื่อมีการนำเข้าทำให้ราคาหมูลดลง สิ่งสำคัญคือผลกระทบรายได้เกษตรกร เพราะคนพังคือเกษตรกร

ซึ่งจากข้อมูลจะเห็นว่า รายได้ในส่วนของกิจการต่างประเทศร้อยละ 62 โดยซีพีเอฟ มีการขยายการลงทุนไปยัง 17 ประเทศ ขณะที่สัดส่วนกิจการประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 38

“ซีพีเอฟลงทุนในจีนและเวียดนามเยอะมาก ถ้าเทียบกับในฐานผลิต 17 ประเทศ ตอนนี้เวียดนามยังพอไปได้ จีนเสียหายเยอะ”

อดิเรก ศรีประทักษ์
อดิเรก ศรีประทักษ์

ครึ่งปีหลัง ปัจจัยบวกหนุน

นายอดิเรกมองว่า แนวโน้มธุรกิจซีพีเอฟในครึ่งปีหลังจะดีขึ้น เพราะขณะนี้สถานการณ์ราคาหมูในจีนปรับสูงขึ้นแล้ว จากที่เคยลงไปต่ำสุด 12 หยวน/กก. ปัจจุบันขยับขึ้นมาเป็น 17 หยวน/กก. หลังจากจีนยกเลิกมาตรการคุมเข้มซีโร่โควิด

แต่ต้องดูว่าภาวะต้นทุนอาหารสัตว์จะเป็นอย่างไร จากเรื่องรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งขณะนี้ผ่านมา 500 กว่าวันแล้ว

ในส่วนของรัสเซีย ทาง CPF ก็ได้ขยายการลงทุนเข้าไปในธุรกิจสุกรและธุรกิจไก่ ซึ่งหลังจากที่เกิดปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนบริษัทไม่ได้รับผลกระทบ เพราะตลาดภายในรัสเซียมีขนาดใหญ่ และรัฐบาลยูเครนได้มีมาตรการที่จะดึงดูดให้นักลงทุนที่ลงทุนอยู่ในรัสเซียไม่ย้ายฐานหนี

โดยการช่วยลดอัตราดอกเบี้ยในการทำธุรกิจ จากเดิมที่เก็บอยู่ 10-12% ลดเหลือเพียง 2-3 % เท่านั้น นับว่าเป็นอินเซนทีฟที่ช่วยให้นักลงทุนที่อยู่ในรัสเซียสามารถที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างราบรื่น

นอกจากนี้ ภายในพื้นที่ของประเทศรัสเซียมีขนาดพื้นที่กว้างขวาง ซึ่งทางบริษัทก็ได้มีการลงทุนพัฒนาแปลงสำหรับปลูกพืชอาหารสัตว์ขนาด 600,000 ไร่ ซึ่งปริมาณ

อาหารสัตว์ที่ได้เพียงพอสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม ทำให้ต้นทุนการผลิตในรัสเซียถือว่าไม่สูง หากเทียบกับฐานการผลิตอื่นที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบ

สอดคล้องกับมุมมองของนายประสิทธิ์ ที่มองว่าช่วงต้นปี 2566 ปัจจัยที่เป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้มีหลายเรื่อง แต่แนวโน้มในครึ่งปีหลังปัจจัยเหล่านั้นได้คลี่คลายลงไปแล้ว อย่างเรื่องหมูเถื่อน หลังจากที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้รับเรื่องเอาไว้ดูแล และได้มีการตรวจสอบขยายผลเพิ่มเติมอีก 2 ราย จากเดิมที่มี 11 ราย ทั้งยังจะมีการทำลายซากหมู 161 ตู้นับว่าเป็นเรื่องที่ดี

ส่วนปัจจัยเรื่องภัยธรรมชาติที่จะมีการเกิดเอลนีโญ แม้อาจจะมองว่ากระทบบ้าง แต่บริษัทก็ได้มีการเตรียมแผนในเรื่องของแหล่งน้ำสำรอง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายในภาคอุตสาหกรรมไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม ในอนาคตภาคเอกชนก็ยังมองว่ารัฐบาลควรมีนโยบายในเรื่องของแผนบริหารจัดการน้ำ อย่างเช่นการเพิ่มแหล่งน้ำระบบชลประทานเพื่อให้ภาคเกษตรของไทยสามารถใช้ประโยชน์ได้เติบโตอย่างยั่งยืน

แตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปชนิดใหม่ที่มีระดับพรีเมี่ยม คือผลิตภัณฑ์เกี๊ยวกุ้งน้ำรสต้มยำ เพิ่งได้รับความนิยมสูงมากในตลาดสหรัฐ โดยมีบริษัทคอสโกซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกในสหรัฐให้ความสนใจที่จะรับซื้อไปกระจายจำหน่ายในสาขาของห้างทั่วโลก

และยังมีผลิตภัณฑ์อาหารไก่อวกาศ ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบเรื่องมาตรฐาน สำหรับอาหารที่จะนำขึ้นไปให้นักบินในอวกาศ จะต้องไม่แห้งเลยเพราะอาจจะกลายเป็นผงและกระจายไปในอวกาศได้ และหรือ/ไม่เป็นน้ำมากจนเกินไป โดยคาดว่าภายในไตรมาส 3 น่าจะสามารถทดลองส่งได้ โดยเมนูแรกที่คาดว่าจะมีการนำขึ้นไปก็คือกะเพราไก่

แก้ปัญหานมขาดตลาด

“รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามานั้น รัฐบาลมีการวางทีมเศรษฐกิจอย่างไร และจะมีการกำหนดนโยบายอย่างไร นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับภาคเอกชน ซึ่งเท่าที่ทราบรัฐบาลได้มีการทยอยหารือกับทางภาคเอกชนทุกภาคส่วนก่อนจะดำเนินการนับว่าเป็นเรื่องที่ดี”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของปัญหาราคาสินค้าเกษตรเอง มองว่าสินค้าเกษตรสำคัญ รัฐบาลควรจะมีการพิจารณามาตรการในการดูแลอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น สินค้าน้ำนมดิบ ซึ่งรัฐบาลใช้มาตรการตรึงราคาน้ำนมดิบและขอความร่วมมือให้คงราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม

ทั้งยังได้ให้ภาคเอกชนเข้าไปช่วยรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 20 บาท แต่ด้วยเหตุที่ต้นทุนของเกษตรกรปรับขึ้นไปสูง ส่งผลให้ราคารับซื้อไม่สอดรับกับต้นทุน เกษตรกรบางส่วนจึงได้เลิกเลี้ยง ซึ่งจะมีผลต่อปริมาณผลผลิตน้ำนมดิบในอนาคต

“ในส่วนของผู้ผลิตนมสำเร็จรูป มองว่าหากรัฐบาลพิจารณาให้มีการปรับราคาตามกลไกตลาด จะเป็นแรงเสริมทำให้ผู้ผลิตสามารถบริหารจัดการวัตถุดิบได้ เอกชนพร้อมที่จะรับซื้อน้ำนมดิบได้ถึงกิโลกรัมละ 24 บาท หากสามารถปรับเปลี่ยนราคาจำหน่ายปลายทางตามกลไกตลาด เอกชนก็จะไม่ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ และเกษตรกรก็จะมีแรงจูงใจในการเลี้ยง”

ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ
ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ

เงินดิจิทัล 10,000 บาท

นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท แม้ว่าจะยังไม่เริ่มใช้แต่ก็สร้างความเชื่อมั่น ในมุมของภาคเอกชนมองว่าเงินดิจิทัล 10,000 บาทจะสามารถช่วยกระตุ้นการจับจ่ายซึ่งจะมีผลให้เศรษฐกิจของประเทศให้ขับเคลื่อนหมุนเป็นวงรอบได้ 5-6 รอบ ซึ่งคิดเป็นวงเงินถึง 2.5-3 ล้านล้านบาท

ซึ่งแน่นอนว่าผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ นอกจากเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแล้ว จะกลับคืนมาสู่รายได้ของภาครัฐในรูปของภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับสินค้าที่ประชาชนซื้อ และยังมีภาษีเงินได้นิติบุคคลจากบริษัทห้างร้านที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายสินค้า ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50% ของเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการวางเงื่อนไขในการใช้เงินดิจิทัลของรัฐบาล ว่าจะกำหนดเงื่อนไขให้ร้านค้าประเภทใดสามารถเข้าไปรับสิทธิได้บ้าง หากเป็นร้านค้าที่มีการกระจายตัวจำนวนมากก็จะส่งผลดีกับผู้บริโภค ทำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั่วถึง

และเงื่อนไขในเรื่องของการแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลกลับมาเป็นเงินปกติจะใช้วิธีการอย่างไร สามารถแลกกลับมาเป็นเงินได้เลย หรือจะต้องนำไปใช้ในการซื้อสินค้าจาก supplier