
TDRI ชำแหละการใช้กัญชาจากร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พบทั้งข้อดี-ข้อเสีย หลังปี 2565 สถิติเยาวชนติดพุ่ง คนป่วยเพิ่ม ประชาชนมีความรู้น้อยมาก กฎหมายยังไม่พร้อม ข้อดีธุรกิจกัญชา กัญชง สร้างรายได้ 1 หมื่นล้าน แนะรัฐต้องตีกรอบใช้เชิงพาณิชย์ทางการแพทย์เท่านั้น โซนนิ่งพื้นที่ คุมปริมาณ สายพันธุ์ และการจำหน่าย
นายณัฐนนท์ วิจิตรอักษร หัวหน้าแผนงานวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยถึงผลการศึกษา การประเมินสถานการณ์และจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมจากกัญชา และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องว่า นับตั้งแต่ปี 2565 รัฐบาลได้ประกาศให้กัญชาถูกกฎหมาย แต่ไม่ได้เปิดเสรี
เนื่องจากยังมีผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบอยู่ และจากการสำรวจในประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,017 คน ยังพบว่ามีประมาณ 1 ใน 4 เคยได้รับผลกระทบจากผู้ใช้กัญชา และผู้ใช้กัญชาเองมีปัญหาทางด้านการเงิน ความสามารถในการควบคุมสติและการตัดสินใจลดลง ความสามารถในการขับขี่ลดลง และอาจนำไปสู่การทดลองใช้สารเสพติดชนิดอื่น
อย่างไรก็ตาม ในผลกระทบเชิงบวก ก็ยังพบว่ากัญชาสามารถใช้บรรเทาอาการของโรคได้บางชนิด เช่น ไมเกรน เนื้องอกร้าย ลมชัก นอนไม่หลับ และปวดตามร่างกาย เป็นต้น และยังสร้างมูลค่าได้สูงถึง 10,000 ล้านบาท จ้างงานในสาขาการผลิตต่าง ๆ ได้ 8,349 คน และสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคลหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ 303 ล้านบาท
“งานวิจัยก็ยังไม่สามารถระบุออกมาชัดเจนว่า กัญชาดีมากกว่าเสีย แต่สิ่งที่เราต้องการคือ ดึงข้อดีออกมาให้มากที่สุด และกดข้อเสียเอาไว้ ยอมรับไม่เคยบอกข้อมูลว่ากัญชาดีไม่ดียังไง ทำให้มีการใช้เพื่อนันทนาการมากกว่าการแพทย์ การปลดล็อกดังกล่าวจึงส่งผลให้ประชาชนทั่วไปสามารถปลูกกัญชา ซื้อ ขาย นำไปผสมในอาหาร และใช้เพื่อนันทนาการในพื้นที่ส่วนตัวได้ ขณะเดียวกันก็พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเช่นกัน กฎหมายไร้การกำกับดูแล ตรวจสอบจริงจัง ขาดเจ้าภาพคุมเข้ม”
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยแบ่งการใช้กัญชาออกหลัก ๆ เป็น 3 ประเภทคือ 1.เพื่อการแพทย์ (รวมแพทย์ทางเลือก) ซึ่งไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือ คนไทยยังคงเข้าใจผิดว่ากัญชาใช้รักษา แต่ความจริงแล้วมีสรรพคุณเพื่อบรรเทาเท่านั้น แม้ว่าจะเป็นแนวทางที่ดี แต่จะต้องมีการควบคุมการแพทย์ที่ใช้บริโภคเพื่อสุขภาพ ลักษณะเหมือนยาแก้ไอ และยาสตรีเพ็ญภาค เพราะเป็นการนำมาใช้แบบแฝง เนื่องจากสามารถทำให้ประชาชนเสพติดได้
2.ใช้เพื่อนันทนาการ จากการสำรวจพบว่ามีผลกระทบเชิงลบมากกว่าบวก มีจำนวนผู้ป่วยจากการใช้กัญชาเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า และพบกลุ่มอายุน้อยและเป็นกลุ่มใหม่ใช้กัญชามากขึ้น 10% และ 3.ใช้ในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ต้มดื่ม ปรุงอาหาร ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้
ในขณะที่ต่างประเทศเริ่มมีการลดจำนวนร้านอาหารและร้านกาแฟ ที่มีส่วนผสมของกัญชาลง 50% และยังมีการพิจารณาเตรียมนำกัญชากลับเข้าไปในบัญชียาเสพติดที่ผิดกฎหมายเช่นเดิม และด้วยธุรกิจกัญชาที่จดทะเบียนถูกต้อง ส่วนใหญ่ขาดทุนมากกว่ากำไร ด้วยกระแสความนิยมในผลิตภัณฑ์สินค้าจากกัญชาเริ่มลดลง และประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความรู้สึกว่ากัญชาเป็นยาเสพติด
“ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … เข้าสภาเรียบร้อยแล้ว รอการพิจารณาให้ผ่าน ดังนั้น จึงเสนอให้รัฐออกกฎหมายที่ชัดเจนสำหรับการปลูกกัญชาต้องเป็นไปเพื่อการพาณิชย์ ใช้ในการแพทย์เท่านั้น ยกเลิกการปลูกกัญชาในครัวเรือน ให้หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ออกใบอนุญาตการปลูกกัญชา ร้านจำหน่ายกัญชาต้องมีใบอนุญาตเพื่อการแพทย์
ควบคุม (Zoning) พื้นที่ใกล้กับแหล่งเยาวชน ยกเลิกการนำกัญชาไปผสมกับอาหารที่ปรุงสด ห้ามนำทุกส่วนของกัญชาไปผสมผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะคล้ายกับขนม เช่น คุกกี้ ที่สำคัญคือ การบังคับใช้กฎหมายจริงจัง และควรให้มีหน่วยงานกลางเข้ามาดูแล เช่น สํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จากเดิมมี อย.เป็นผู้ดูแลอยู่”
นางสาวชิดชนก ชิดชอบ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี อาร์ พาวเวอร์ จำกัด (BR POWER) กล่าวภายในงานสัมมนาเรื่อง “กัญชาไทย…จะไปทางไหน ?” ว่า แต่ละรัฐในอเมริกาใช้เวลา 10 ปี จากที่กัญชายังผิดกฎหมายสู่เพื่อการแพทย์ และสู่สันทนาการ การปลดเป็นเฟสเพื่อให้เวลาประชาชนปรับตัว ลองผิดลองถูกภายในกรอบที่ชัดเจน ให้รู้คุณรู้โทษของกัญชาด้วยตัวเองได้ รวมไปถึงการให้เวลาผู้บังคับใช้กฎหมายเข้าใจกฎหมายให้กระจ่างขึ้น จะได้ลดปัญหาที่เยาวชนเข้าถึงอย่างง่ายดาย
แต่รูปแบบการปลดล็อกของไทยในเชิงกฎหมายนั้น ไม่ได้ควบคุมในส่วนของสันทนาการ จึงส่งผลให้คล้ายกับปลดล็อกทั้งคู่พร้อมกันโดยปริยาย ทั้งนี้การพิจารณาตัวร่างกฎหมาย ภาครัฐได้ทำงานอย่างเต็มที่เพื่อเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ให้ประเทศไทย และใช้เวลาหลายปีเพื่อร่างกฎหมายอย่างรอบคอบ แต่ต้องยอมรับว่าในส่วนที่ไม่มีความชัดเจน เป็นช่องทางให้บางคนใช้กฎหมายในทางที่ผิด ซึ่งจำเป็นต้องเร่งแก้ไข
“ไทยควรปลดล็อกเพื่อการแพทย์เป็นสเตป โดยค่อยๆเพิ่มโรคที่กัญชาสามารถรักษาได้ ควบคู่กับผลวิจัยที่สอดคล้องเพราะถึงจุดหนึ่งที่เราปลดตรงนี้ไปเรื่อยๆ เส้นแบ่งแยกระหว่างการใช้เพื่อการแพทย์กับสันทนาการมันจะบางมากจนแยกไม่ออก และเมื่อนั้นถึงจะเหมาะสมเสนอฝ่ายนิติบัญญัติว่าประเทศไทยพร้อมสันทนาการหรือยัง”
ทั้งนี้มีการเสนอให้กฎหมายยกเลิกการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ แต่ในมุมมองเอกชนเห็นว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทาง เพราะต่อให้ไม่มีกัญชา ประชาชนก็สามารถใช้สารอย่างอื่นเพื่อนันทนาการได้เช่นกัน ดังนั้นมันอยู่ที่ความรู้ของคน นี่คือสิ่งสำคัญมากที่สุด
รศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ไทยมีทางเลือก 3 ทางคือ กลับไปใช้ทางการแพทย์เท่านั้น หรือจะอยู่แบบเทา ๆ นั่นคือ เอาเรื่องนันทนาการเข้าไปด้วย แต่ต้องมีการควบคุมเรื่องปริมาณ ใครใช้ได้ ใช้เท่าไร ขายเท่าไร
ขณะที่ รศ.ดร.ภก.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่าการใช้เพื่อนันทนาการจะหลุดออกจากกฎหมาย และการปลูกจะต้องขออนุญาตเท่านั้น และมีความเห็นตรงกันว่า กฎหมายไม่ชัดเจน ไม่มีการควบคุมการใช้ ส่งผลกระทบทางลบมากกว่าบวก